เข้าใจข้อเรียกร้องของ “เยาวชนปลดแอก”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.คที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้เสนอข่าวว่า มีผู้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ(รธน.)
หากเป็นจริงตามที่สื่อเสนอ ผู้เขียนเห็นว่า การยุบสภาควรจะเกิดขึ้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของระบบรัฐสภา อันได้แก่
- เกิดสภาวะที่เรียกว่า hung parliament นั่นคือ พรรคที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าหัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่อ่อนแอ จึงตัดสินใจให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ และผลการเลือกตั้งทำให้มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงข้างมากในที่สุด
- รัฐบาลสูญเสียความไว้วางใจในสภา
- สภาใกล้หมดวาระ
- เพื่อขอให้ประชาชนตัดสินบางประเด็นของนโยบายสาธารณะ
- พรรคฝ่ายรัฐบาลสูญเสียคะแนนเสียงข้างมากในสภาจากการลงมติต่อร่างกฎหมายที่สำคัญ
- ในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่าง 2 สภา-เช่น ระหว่างสภาผู้แทนกับวุฒิสภา---ในระบบ 2 พรรค
- ในกรณีที่รัฐบาลหวังจะทำให้สถานะของตนเข้มแข็งขึ้นโดยจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่า พอใจกับผลงานที่ผ่านมาหรือนโยบายที่จะนำเสนอขึ้นใหม่
- ในบางประเทศ หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับไม่มีผู้ครองราชย์บัลลังก์ (ในกรณีระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ) ต้องมีการยุบสภา เพื่อให้ประชาชนเลือกตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาใหม่ โดยเป็นที่รู้กันว่าตัวแทนที่ประชาชนเลือกไปครั้งนี้ จะทำหน้าที่ลงมติรับรองผู้สืบราชสันตติวงศ์
- มีการแก้ไข รธน. ซึ่ง 2 ประการหลังนี้ การยุบสภาจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (เฉพาะในประเทศเบลเยี่ยม เกิดขึ้นถึง 5 ครั้งจากสาเหตุแก้ไข รธน.ใน ปี ค.ศ. 1892, 1919, 1954,1958, 1965) (ผู้สนใจรายละเอียด โปรดดู ไชยันต์ ไชยพร, ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, จัดพิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้า)
จากประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมา พบว่า หากมีการยุบสภาที่ไม่ต้องตรงกับเงื่อนไขที่กล่าวไป มัก จะเกิดวิกฤติการเมืองตามมา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นทันที หรือในอนาคตที่จะมีผู้ชุมนุมและเรียกร้องให้มีการยุบสภาแบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะถือว่ามีการยุบสภาด้วยวิธีการแบบนี้มาก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม วิกฤติเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้นก็คือ ถ้ายุบสภาตามข้อเรียกร้อง ก็จะต้องปฏิบัติตาม รธน. ฉบับปัจจุบัน คือ ก็ต้องมีการเลือกตั้ง ดังนั้น หากจะให้มีการแก้ รธน.ก่อนเลือกตั้ง ก็ต้องงดใช้ รธน. บางมาตราเพื่อชะลอการเลือกตั้งออกไป คำถามคือ จะเอาอำนาจอะไรมางดใช้ รธน.บางมาตรา ?
ขณะเดียวกัน หากยุบสภา ไม่ว่าจะชะลอการเลือกตั้งไว้ เพื่อให้มีการแก้ รธน.ก่อนหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ดี ก็จะต้องมีรัฐบาลรักษาการ ซึ่งตาม รธน.ฉบับปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องทำหน้าที่รักษาการนายกฯ คำถามคือ ผู้เรียกร้องยอมรับได้หรือไม่? หากยอมรับไม่ได้ และต้องการให้บุคคลอื่นมาทำหน้าที่รักษาการแทน ก็จะต้องงดใช้ รธน.บางมาตรา คำถามคือ จะเอาอำนาจอะไรมางดใช้ รธน. บางมาตรา ? และเอาอำนาจอะไรมาแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ? และการแก้ไข รธน.ภายใต้นายกฯ รักษาการจะนานแค่ไหน ? ถ้ารีบ คำถามคือ จะได้ รธน. ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้มากน้อยแค่ไหน ? แต่ถ้านาน คำถามคือ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ทำหน้าที่รักษาการจะต้องบริหารประเทศไปนานพอสมควร และภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ความชอบธรรมของครม.มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการพาประเทศชาติผ่านมรสุมโรคระบาดและเศรษฐกิจ คนที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวนี้มาจากไหน ใช้อำนาจอะไรแต่งตั้ง ?
แต่ถ้าสลับการยุบสภากับการแก้ รธน. นั่นคือ ให้มีการแก้ รธน. เสียก่อนแล้วค่อยยุบสภา ปัญหาข้างต้นก็จะไม่มี และตามหลักการของระบบรัฐสภา หากมีการแก้ไข รธน.ในสาระสำคัญที่ส่งผลให้ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการปัจจุบันไม่เป็นไปตาม รธน.ที่มีการแก้ไข ยังไงก็ต้องยุบสภาอยู่ดี แต่ถ้าสลับ ก็จะพบว่า ขณะนี้ คณะกรรมธิการในสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากพรรคต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ก็ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องการแก้ไข รธน.ฉบับนี้อยู่แล้ว คำถามคือ ทำไมผู้เรียกร้องไม่ส่งข้อเสนอที่ต้องการให้แก้ รธน.ไปยังคณะกรรมาธิการดังกล่าว และพยายามกดดันให้เร่งดำเนินการแก้ไข รธน.?
ขณะเดียวกัน ถ้าข้อเสนอของผู้เรียกร้องให้แก้รธน. เกี่ยวข้องกับการแก้หมวดที่ รธน. ฉบับนี้กำหนดว่า จะต้องผ่านการทำประชามติ ดังนั้น ก่อนจะแก้ตามข้อเรียกร้อง ก็จะต้องมีการทำประชามติเสียก่อน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ถ้าจะไม่ทำประชามติ และจะแก้เลย คำถามคือ เอาอำนาจอะไรมางดใช้ รธน.ในมาตราที่กำหนดให้ต้องทำประชามติ ?
ดังนั้น การยุบสภาเพื่อแก้ รธน.ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการงดใช้ รธน.บางมาตราไม่ต่างจากเหตุการณ์ในวันเสาร์ที่ 1 เม.ย. พ.ศ. 2476 ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกฯ ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้ รธน.บางมาตรา ซึ่งมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหารเงียบ อันเป็นเหตุให้คณะนายทหารฝ่ายคณะราษฎรก่อการรัฐประหารโดยใช้กำลังเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 มิ.ย. พ.ศ. 2476 โค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเป็นผลให้เกิดคณะนายทหารออกมาประกาศ “กู้บ้านกู้เมือง” ในวันที่ 14 ต.ค. ปีเดียวกัน ที่เป็นที่รู้จักกันในนามของ “กบฏบวรเดช”
แต่เท่าที่ผู้เขียนได้สอบถามคุณทัดเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการ “เยาวชนปลดแอก” ทราบว่า ข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ของกลุ่มที่ปรากฏในเฟสบุ๊คหรือบนเวทีปราศรัย ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ แต่เป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง โดยสาระสำคัญคือ ต้องการให้มีการแก้ รธน. เปิดทางให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่าง รธน. และร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีการแทรกแซงจากคนที่ประชาชนไม่ได้เลือก จากนั้นยุบสภา เลือกตั้งตามระบบใน รธน.ฉบับใหม่
ดังนั้น การนำเสนอของสื่อมวลชนอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เยาวชนปลดแอกต้องการให้มีการยุบสภาแล้วค่อยมีการแก้ไข รธน. ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมาอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้น