ปรากฏการณ์ ‘3สูง’ - ‘3ต่ำ’ ภาพสะท้อนเศรษฐกิจไทยหลัง ‘โควิด’
ผลกระทบจากโควิดทำให้เศรษฐกิจไทยถูกกระทบอย่างหนัก การพยากรณ์ของสำนักเศรษฐกิจต่างๆมองว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้าๆ และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
หลายคนคงเคยได้ยิน "ทฤษฎี 2 สูง" ของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ที่เคยนำเสนอแนวคิดนี้ต่อรัฐบาลในช่วงปี 2550 - 2551 โดยสูงแรกคือราคาสินค้าเกษตรต้องสูง และสูงที่สองคือค่าแรงของประชาชนต้องสูง แนวคิดดังกล่าวแม้จะเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมแต่ก็เป็นพื้นฐานนโยบายสินค้าเกษตรและค่าจ้างแรงงานของรัฐบาลในเวลาต่อมา
ถึงเวลานี้ไม่ว่าทฤษฎี 2 สูงของเจ้าสัวธนินท์จะยังส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบันหรือไม่ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” ก็คือปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจแบบที่เรียกว่า “3 สูง” และ“3 ต่ำ” ซึ่งล้วนแต่อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการระบาดของโควิด-19 ได้ทั้งสิ้น
ในงานสัมนาประจำปีของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวในหัวข้อ “วิถีชีวิตใหม่ประเทศไทยหลังโควิด” ว่าสภาพแวดล้อมใหม่ทางเศรษฐกิจมหภาคที่ไทยจะเผชิญหลังโควิด-19 จะมีทั้ง 3 สูง และ 3 ต่ำที่จะเป็นผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดต่อเนื่องไปกับเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องอีกนานหลายปี
“3 สูง”ในเศรษฐกิจไทยหลังโควิด ประกอบไปด้วย 1.การว่างงานสูง จะเห็นว่าเมื่อเกิดโควิดตัวเลขการว่างงานขยับเพิ่มขึ้นจากระดับปกติกว่า 1 เท่า เพิ่มเป็น 2%จากปกติไม่ถึง 1% ของแรงงานทั้งหมด และยังมีผู้ที่สุ่มเสี่ยงอาจตกงานได้อีก 1.7 ล้านคนหากเกิดการระบาดรุนแรงอีกระลอก 2.หนี้สาธารณะสูงหนี้ หนี้สาธารณะจะขยับสูงขึ้นกว่าระดับที่เคยเป็นมา เนื่องจากรัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีขยับขึ้นจากเดิมอยู่ที่ระดับ 41% เป็น 47% และในปี 2564 หนี้สาธารณะจะขยับเพิ่มเป็น 57% ใกล้เคียงกับกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ 60%
ในประเด็นนี้ฝ่ายบริหารในรัฐบาลชี้แจงว่าหากมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพิ่มเติมจนอาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับทะลุกรอบ 60%หากมีความจำเป็นก็สามารถที่จะกู้เงินเพิ่มและขยับขยายเพดานดังกล่าวได้แต่จะพยายามรักษากรอบไว้ไม่ให้ก่อหนี้เกินจำเป็น
และ 3.หนี้ภาคเอกชนสูง สะท้อนให้เห็นจากตัวเลข NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงการตั้งสำรองหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ที่สูงขึ้นเรื่องๆโดยล่าสุดมีการตั้งสำรองไปถึง 144% สะท้อนความกังวลและการ์ดที่สูงของสถาบันการเงินเพื่อรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น
ขณะที่ภาวะ “3 ต่ำ”ในเศรษฐกิจไทยหลังโควิด ได้แก่ 1.การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับต่ำ หลังจากเศรษฐกิจที่จะติดลบในปีนี้ประมาณ 7 - 8 % ในปีหน้าจากฐานที่ต่ำเศรษฐกิจไทยย่อมฟื้นตัวได้แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนการประเมินเศรษฐกิจปีหน้าไม่ง่ายล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจปี 64 อยู่ที่ประมาณ 3.6% ปรับลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5%
2.อัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเปราะบาง เงินเฟ้อก็จะขยับเพิ่มขึ้นได้ช้าๆอย่างจำกัด และ 3.อัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่ผ่านมาธนาคารกลางทั่วโลกรวมถึงธนาคารของไทยได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้วจนหลายประเทศดอกเบี้ยติดลบ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีข้อจำกัดในการใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อไป
...ทั้งนี้โอกาสที่ไทยจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เท่าระดับเดียวกับที่เกิดโควิด-19ต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่มีการระบาดระลอก 2 ที่รุนแรง และเศรษฐกิจโลกไม่ถดถอยไปกว่าที่เป็นอยู่มากนัก