แก้วิกฤติโควิดด้วยอดัมสมิธ 1.0
จากความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก มีการพูดกันว่าวิกฤติคราวนี้จะทำให้ระบบทุนนิยมเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
ทำให้นึกถึง อดัม สมิธ ศาสตราจารย์ภาควิชาจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์(Glasglow) สก็อตแลนด์ ผู้บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์ และถือเป็นบิดาของระบบทุนนิยมเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน จากงานเขียนของเขาในหนังสือสองเล่ม คือ ทฤษฎีจริยศาสตร์(The Theory of Moral Sentiments) ตีพิมพ์ ปี 1759 และ An Inquiry Into the Nature and the Causes of the Wealth of Nations หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ความมั่งคั่งของชาติ ตีพิมพ์ ปี 1776 ที่วางรากฐานให้กับระบบทุนนิยม เป็นแนวคิดที่ทรงพลังและมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน ซึ่ง 3 ประเด็นหลักของระบบทุนนิยมในหนังสือทั้งสองเล่มนี้ คือ
1.กลไกตลาดและประโยชน์ส่วนตน (self – Interest) จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ผ่านการแสวงหากำไร นวัตกรรม และการลงทุน นำไปสู่การสร้างรายได้และความมั่งคั่ง นี่คือ หัวใจของระบบทุนนิยม
2.รัฐไม่ควรแทรกแซงกลไกตลาด ควรปล่อยให้ตลาดทำงานตามการตัดสินใจของผู้ร่วมตลาด นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกจ บทบาทรัฐควรจำกัดอยู่ที่สิ่งที่ประชาชนทำไม่ได้ เช่น การป้องกันประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และภาษีควรเก็บในอัตราที่ต่ำเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน
3.ในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม แม้ทุกคนจะคิดแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักในการตัดสินใจ แต่ลึกๆ แล้วจะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา นำมาสู่การยับยั้งชั่งใจ ในการตัดสินใจและในพฤติกรรม คือ รู้ผิดรู้ถูก ทำให้สังคมอยู่ได้ มีความสุขได้
ดังนั้น ในความเห็นของ อดัม สมิธ ระบบทุนนิยมจะอยู่ได้ด้วย 2 คุณลักษณะ คือ 1.การมุ่งประโยชน์ส่วนตนที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ และ 2.ความเห็นอกเห็นใจ หรือ Compassion ที่จะทำให้ระบบทุนนิยมอยู่ได้
ช่วง 200 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบทุนนิยมได้เติบโตมากในโลกภายใต้แนวคิดนี้ แต่น้ำหนักเกือบทั้งหมดไปอยู่ที่การสร้างความมั่งคั่งหรือ Growth โดยลืมเรื่องความเห็นอกเห็นใจ หรือ compassion เน้นแต่การสร้างการเติบโต สร้างกำไร ทำให้ระบบทุนนิยมที่ผ่านมาจึงมีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีเหตุมาจากผลผลิตของระบบทุนนิยม หรือ แม้แต่สงครามที่สะท้อนการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างประเทศ พูดได้ว่า ระบบทุนนิยมที่เน้นการเติบโตได้สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจโลกมาตลอด แม้จะทำให้ความกินดีอยู่ดีของประชาชนดีขึ้นอย่างที่อดัม สมิธหวัง
วิกฤติโควิด-19 คราวนี้ก็เช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอในหลายด้านที่ระบบทุนนิยมมี แต่คราวนี้ความอ่อนแอมีมากจนถึงจุดที่วิเคราะห์กันว่าระบบทุนนิยมอาจไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังกล่าวคือ
1.กลไกตลาดที่เน้นการเติบโตได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่โลกมีจนธรรมชาติเสียความสมดุล สร้างความเสี่ยงให้กับความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ เห็นได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรง โดยเฉพาะจากปัญหาโลกร้อน การอุบัติขึ้นของโควิด-19 ก็โยงได้กับการขาดความสมดุลของธรรมชาติ
2.ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจโลกขณะนี้รุนแรง ทั้งในระดับระหว่างประเทศ และระดับประเทศ วิกฤติโควิด-19 กระทบคนรายได้น้อยจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เมื่อตกงานและไม่มีรายได้ กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก
3.รัฐได้มุ่งส่งเสริมระบบทุนนิยมให้เติบโต โดยให้แรงจูงใจต่างๆ ให้เกิดนวัตกรรมและการลงทุน แต่ละเลยความสำคัญของการสร้างหลักประกันพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทำให้ในวิกฤติคราวนี้คนจำนวนมากเมื่อไม่มีรายได้จึงลำบากมาก เพราะไม่มีระบบประกันสังคมที่จะเป็นหลังพิงให้
นี่คือ ความอ่อนแอของระบบทุนนิยมที่ปรากฎให้เห็นชัดจากวิกฤติคราวนี้ ดังนั้น ทางออกในการแก้ไขปัญหาอาจต้องกลับไปหาแนวคิดเดิมของอดัม สมิธ คือต้องให้ความสำคัญในเรื่อง Compassion พร้อมไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และในภาวะปัจจุบันที่คนจำนวนมากกำลังเดือดร้อน การแก้ปัญหาจึงต้องมุ่งไปที่ Compassion หรือ ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนก่อน เพราะถ้ามาตรการแก้ปัญหายังเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงสร้างที่คนส่วนใหญ่ขณะนี้ไม่มีรายได้ ไม่มีงานทำ ความเป็นไปได้ที่ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่จะดีขึ้นก็อาจต่ำมาก เพราะโอกาสที่การกระตุ้นเศรษฐกิจจะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้ของทุกคนดีขึ้นนั้น อาจมีน้อยมาก
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ต้องทำ คือ กลับไปหาแนวคิดเดิมของอดัม สมิธ ที่การเติบโตจะต้องมาคู่กับความเห็นอกเห็นใจเริ่มโดยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มุ่งช่วยเหลือคนในสังคมที่เดือดร้อนขณะนี้ก่อน เพื่อให้ฐานกำลังของเศรษฐกิจซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ได้ ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการทั่วไปและหวังให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับมาช่วยเหลือคนเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่ทำได้และควรทำ คือ
1.ทำสำมะโนประชากรทั่วประเทศฉบับย่ออย่างเร่งด่วน เพื่อให้รัฐมีข้อมูลที่ถูกต้องว่า คนที่กำลังเดือดร้อนจริงๆ ขณะนี้มีใครบ้าง จำนวนเท่าไร อยู่ที่ไหน คนตกงานมีเท่าไร กลุ่มผู้ที่เปราะบางมีเท่าไร และถึงขณะนี้คนเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง รวมถึงผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการแต่อยากทำมาหากินต่อว่ามีเท่าไร และต้องการความช่วยเหลือประเภทไหน ข้อมูลเหล่านี้สามารถจัดเก็บได้เร็วด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน เป็นข้อมูลสำคัญที่จะนำไปสู่การวางนโยบายช่วยเหลือที่ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพ
2.ภาคธุรกิจที่ไปได้ในวิกฤติคราวนี้ต้องยื่นมือมากขึ้น ต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ทั้งในแง่การจ้างงาน การช่วยเหลือเรื่องการปรับทักษะแรงงาน รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผ่านการบริจาค การตั้งโรงทาน ที่จะช่วยผู้ยากไร้และเด็กที่อดยากให้มีอาหารทาน ประคับประคองคนในสังคมที่อ่อนแอให้ผ่านจุดรุนแรงของวิกฤติคราวนี้ไปให้ได้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งฐานกำลังของเศรษฐกิจ
3.เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐก็ต้องปรับน้ำหนักนโยบายให้มีความสมดุลย์ในทั้ง 2 เรื่องที่อดัม สมิธพูดถึง คือ การเติบโตและความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งก็หมายถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ภายใต้หลักการที่ตลาดมีการแข่งขันอย่างเสรี ลดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ มีมาตรการที่ลดความเหลื่อมล้ำ และให้โอกาสคนในสังคมมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และลดปัญหาที่ระบบทุนนิยมมี
สิ่งเหล่านี้เป็นความสัมพันธ์ใหม่ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องมีในโลกหลังโควิด-19 ทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ และเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ในอนาคต