‘หนุ่มสาว’จะสร้างอนาคตที่ดีได้อย่างไร

‘หนุ่มสาว’จะสร้างอนาคตที่ดีได้อย่างไร

การจะสร้างอนาคตที่ดีได้จะต้องเข้าใจสภาพ/สาเหตุปัญหาสังคม ทั้งจากอดีตถึงปัจจุบัน รู้จักประเมินระดับการรับรู้ปัญหาของมวลชน รู้จักกำหนดเป้าหมาย

และวิธีการการเคลื่อนไหวอย่างมียุทธศาสตร์ยุทธวิธี ที่สอดคล้องกับสภาพจริงของสังคม

สังคมที่ดี มีความหมายกว้างกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการจัดเลือกตั้งใหม่ สังคมที่ดีคือสังคมเสรีประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า ที่ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทางโอกาส ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีงานที่ดี มีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพและสันติสุข ประชาธิปไตยแบบผู้แทนเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสังคมที่ดีขึ้น ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องรวมถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางสังคมด้วย

สังคมไทยยังด้อยพัฒนาเนื่องจากปัญหาใหญ่คือ 1.ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมผูกขาด อำนาจอยู่ในมือชนชั้นนำส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ยากจน เสียเปรียบ ระบบนิเวศและสังคมเสียหาย 2.ระบบการเมืองและวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม จารีตนิยม ประชาชนได้รับการศึกษาและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพต่ำ ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมยกย่องพวกอภิสิทธิ์ชน ระบบอุปถัมภ์ ลัทธิพรรคพวกนิยม 

รัฐบาลไม่ว่าจะจากการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง ล้วนเป็นตัวแทนของนายทุนที่ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพรรคพวก และครอบงำความคิดความเชื่อของประชาชนให้มีความหวังและเลือกเข้าข้างพวกเขากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสองข้อข้างต้น และเพื่อสร้างสังคมในอนาคตที่ดีขึ้น เราจะต้องหาแนวทางเปลี่ยนแปลงปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ ทั้งระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ให้เป็นธรรม โปร่งใส มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม และพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืน เรื่องที่สำคัญพื้นฐานที่สุดคือการช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้และจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม รู้จักจัดตั้งกลุ่มองค์กรของภาคประชาชน สามารถต่อรองในเรื่องอำนาจ/ผลประโยชน์ของประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น เหมือนตัวอย่างในประเทศแถบยุโรปเหนือ

ประชาชนควรได้ตระหนักและตื่นตัวที่จะเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมที่สำคัญมาก 2 ข้อ คือ

1.สิทธิที่ประชาชนควรจะได้เป็นเจ้าของและผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ทุน และอื่นๆ มีงานที่เหมาะสม ได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม (เพราะทรัพย์สินคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรายได้)

2.สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแบบคิดวิเคราะห์ เป็นตัวของตัวเอง มีความรู้ทักษะที่ใช้งานได้จริงอย่างทั่วถึงเป็นธรรม (เพราะความรู้เป็นพลังทั้งในการทำงานและการต่อรองทางการเมืองและสังคม)

การที่ประชาชนจะได้มาซึ่งสิทธิ 2 ข้อข้างต้น จะต้องปฏิรูปทางเศรษฐกิจการเมือง ดังนี้

1.เปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างการเมือง และสังคมวัฒนธรรมแบบผูกขาดอำนาจโดยชนชั้นนำกลุ่มน้อย ให้เป็นประชาธิปไตยทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่ประชาชนมีส่วนกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง การบริหารราชการ การคลังและการบริหารแบบรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง (แนวตั้ง) ไปเป็นการบริหารแนวนอน คือกระจายการบริหารทรัพยากรและความรับผิดชอบไปที่ส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชนเพิ่มขึ้น

2.เปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด ไปเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กับระบบสหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค สหกรณ์ประเภทต่างๆ วิสาหกิจชุมชน ระบบรัฐสวัสดิการและชุมชนสวัสดิการ การเน้นการพัฒนาแรงงานและทรัพยากรในประเทศ มากกว่าการพึ่งการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ จำกัดหรือเก็บภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ในอัตราสูง ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจสังคมประเภทต่างๆ ให้เข้มแข็ง เจริญเติบโตได้อย่างเป็นธรรมและอย่างยั่งยืน

การจะปฏิรูปทั้ง 2 เรื่องใหญ่ได้ต้องรณรงค์เพื่อให้เกิดการปฏิรูปหลายเรื่องควบคู่กันไป ทั้งการปฏิรูปทางด้านการศึกษา สื่อมวลชน ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการรวมกลุ่มของประชาชน สิทธิในการบริหารจัดการทรัพยากรและแรงงานในจังหวัด อำเภอ ตำบล ด้วยคนในท้องถิ่นเอง สิทธิในการทำประชาพิจารณ์ ประชามติ การถอดถอนนักการเมือง การออกกฎหมาย คว่ำกฎหมายได้ ฯลฯ

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนควรเรียกร้องผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบให้มีเนื้อหาที่ก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนเพิ่มขึ้น ผู้เขียนมีแนวคิดที่อยากเสนอคือ ให้มีการเลือกนายกฯ และทีมคณะรัฐมนตรีโดยตรง เลือกผู้แทนแบบแบ่งเขตแบบ 2 รอบเพื่อให้ได้ผู้ชนะที่ได้คะแนนเสียงร้อยละ 50 ขึ้นไป (ในกรณีที่รอบแรกผู้ได้คะแนนสูงสุดได้ไม่ถึง 50% ของผู้มาใช้สิทธิ ให้คัดคนที่ได้สูงสุด 2 คนแรกมาให้เลือกใหม่ในสัปดาห์ถัดไป) 

เลือกผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อ ควรใช้บัตรอีก 1 ใบ แต่เวลานับสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พรรคไหนควรได้ ต้องหักสัดส่วนจาก ส.ส.เขตที่พรรคนั้นได้ไปแล้ว (แบบเยอรมนี ที่รัฐธรรมนูญไทยปี 60 นำมาใช้ แต่เยอรมนีใช้บัตร 2 ใบซึ่งเป็นธรรมกับพรรคเล็ก) ส.ว.ควรยกเลิก เปลี่ยนไปใช้วิธีเลือกผู้แทนตามกลุ่มอาชีพ (อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 5 กลุ่ม เช่น แรงงาน เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ข้าราชการพนักงาน นักวิชาการ/นักวิชาชีพ) เป็น ส.ส.อีกกลุ่มหนึ่งในสภาเดียวกัน 

ให้ ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติ เช่น ออกกฎหมาย ตรวจสอบควบคุมฝ่ายบริหาร ฯลฯ แต่ไม่เป็นฝ่ายบริหารอย่างรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ฯลฯ ถ้า ส.ส.คนไหนจะเป็นต้องลาออกจาก ส.ส.จะได้แยกฝ่ายบริหารจากฝ่ายนิติบัญญัติ ปฏิรูประบบ/องค์กรตำรวจ อัยการ ศาล ทหาร ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจให้เป็นมืออาชีพ มีเท่าที่จำเป็นและทำประโยชน์ให้สังคมได้จริง ที่ภาคประชาชนตรวจสอบได้เพิ่มขึ้นด้วย

แต่ต้องไม่ลืมเรื่องสำคัญ คือปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคม เช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการคลัง-ภาษีและงบประมาณ การธนาคารสถาบันการเงิน ปฏิรูปที่ดิน การเกษตร ปฏิรูปการศึกษาอบรม การสร้างและการจ้างงาน การประกันสังคม และสวัสดิการสังคม เพื่อกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา การมีงานทำที่เหมาะสม ฯลฯ ให้เป็นธรรม 

ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างทุนนิยมที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กับระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารสหกรณ์ ระบบวิสาหกิจชุมชน รัฐสวัสดิการ ชุมชนสวัสดิการ ฯลฯ พัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง พึ่งตลาดภายในเป็นสัดส่วนสูงขึ้น เน้นส่งเสริมหน่วยเศรษฐกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ชุมชนพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เพิ่มการจ้างงาน ลดการใช้พลังงาน เน้นการผลิต การบริโภคแบบทางเลือก ที่อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศเพิ่มขึ้น

นักเรียนนักศึกษาประชาชนควรทำอะไร

1.อ่าน จัดตั้งกลุ่มศึกษา วิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมการเมือง วัฒนธรรมและปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก เพื่อเข้าใจสาเหตุ สภาพปัญหา และทางออกเชิงปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้างอย่างเหมาะสมกับสังคมไทย

2.เผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสารที่ก้าวหน้า เป็นธรรมและยั่งยืน ให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ตระหนักว่าทุกคนคือเจ้าของทรัพย์สมบัติสาธารณะ และงบประมาณของประเทศ ที่มาจากภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม รู้เรื่องระบบและปัญหาเศรษฐกิจการเมืองปัจจุบัน ทางออกของการพัฒนาแบบทางเลือกที่ต่างไปจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบผูกขาดโดยทุนใหญ่ รู้จักสิทธิและหน้าที่พลเมืองที่รับผิดชอบ

3.นักเรียนนักศึกษาจัดตั้งองค์กรทั้งกลุ่มและองค์กรนักเรียน นักศึกษา ประชาชนจัดตั้งองค์กร เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมชาวนาชาวไร่ สมาคมวิชาชีพ สหกรณ์ สมาคมปกป้องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทางโอกาส การอนุรักษ์ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฯลฯ

4.เผยแพร่ความคิดผลักดันเรื่องปฏิรูประบบการศึกษาและข้อมูลข่าวสาร และการจัดตั้งเครือข่ายองค์กรเพื่อผลักดันการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทุกด้าน ในทุกระดับ อย่างกว้างขวาง