'ประเพณีลอยกระทง' ถ้าเปลี่ยนชื่อแล้วขยะจะลดลงหรือไม่
ลอยกระทงปีนี้เป็นวันเสาร์ที่มีฝนกระหน่ำตอนบ่ายๆในกรุงเทพฯและเป็นช่วงโควิด ไม่แน่ใจว่าประเด็นเหล่านี้ทำให้คนไปลอยกระทงน้อยลงหรือไม่
หลังจากลอยกระทงข่าวเช้าผู้สื่อข่าวรายงานดังนี้ “ลอยกระทงปีนี้กรุงเทพมหานครได้ระดมเจ้าหน้าที่เก็บกระทงออกจากแหล่งน้ำทั่วกรุงเทพฯ เสร็จสิ้นในเวลา 6 โมงเช้า และนับกระทงได้รวม 492,537 ใบ ลดลงจากปี 2562 ซึ่งจัดเก็บได้ 502,024 ใบ คิดเป็นร้อยละ 1.89 โดยเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ 474,806 ใบ หรือร้อยละ 96.4 และกระทงโฟม 17,731 ใบ ร้อยละ 3.6 (ขณะปี 61 ยอดกระทงเก็บได้กว่า 8 แสนใบ) (สนับสนุนข้อมูลโดย ONEP.go.th)” ฟังข่าวแล้วว้าว กระทงเยอะจัง นี่ขนาดลดลงแล้ว
ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวคิดหัวข้อ กระทงแบบไหนดีสุดสำหรับลอยกระทง ทั้งในแง่วัฒนธรรมและด้านการไม่เกิดขยะ-น้ำเสีย
- กระทงโฟม แย่เพราะเป็นขยะที่เอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ กำจัดโดยการฝังกลบก็เปลืองพื้นที่ เอาไปกำจัดโดยเผาก็ต้องควบคุมอุณหภูมิและมีการเผาควัน หากเผาที่อุณภูมิต่ำๆก็มีก๊าซพิษพวกไดออกซิน-ฟิวราน
- กระทงที่ทำจากวัสดุอินทรีย์ย่อยสลายได้ เช่นใบตองกาบกล้วย ก็เพิ่มความสกปรกให้แหล่งน้ำถ้าเก็บไม่หมด กทมเก็บหมดก็ต้องเอาไปหมักปุ๋ย เหนื่อยเจ้าหน้าที่ หมุดเข็มอะไรก็ต้องเก็บออก
- กระทงอาหารปลา ถ้าไปลอยท่าน้ำวัดตรงเขตอภัยทาน ปลาก็ได้กินแต่ก็ไม่สวยเพราะกระทงไม่ทันลอยไปไหน ปลาก็จะโผมากินอย่างมูมมาม เด็กๆที่ลอยคอคอยเก็บเงินจากกระทงก็ต้องแย่งกันกับปลา ถ้าเอากระทงอาหารปลา ไปลอยที่อื่นที่ไม่ใช่เขตปลาเยอะก็เน่าแม่น้ำอยู่ดี
- มีผู้คิดลอยกระทงน้ำแข็ง ซึ่งก็ดูจะเป็นภาระต่อพระแม่คงคาค่อนข้างน้อย แต่ก้ไม่สะดวกเพราะละลายง่ายและก็มีคำถามว่าเราจำเป็นต้องลอยกระทงที่เป็นวัสดุจริงๆหรือไม่ นำไปสู่ทางเลือกในปัจจุบันได้แก่...
- การลอยกระทงแบบออนไลน์ ถูกใจวัยรุ่น ผู้เขียนเคยทำสำรวจกับนิสิตในมหาวิทยาลัยพบว่าพอพูดถึงประเด็นการลอยกระทงส่งผลกระทบสร้างขยะและน้ำเสีย พวกเค้าเลือกลอยกระทงออนไลน์อันดับ 1 และระบุว่าการออกมาลอยกระทงมีสาเหตุอันดับแรกเพราะต้องการมาเที่ยวงานลอยกระทงออกร้าน แต่การลอยกระทงออนไลน์ก็มีผู้กล่าวกหาว่าไม่สืบสานวัฒนธรรมการที่จะต้องมีการลอยกระทงลงไปในน้ำจริงๆ อย่างไรก็ดี หลักฐานประวัติศาสตร์ในปัจจุบันก็ได้อธิบายว่าการนำกระทงมาลอยตามที่ปัจจุบันเข้าใจนั้นเริ่มนำกลับมาเป็นแบบแผนเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยโบราณก็ไม่ใช่แบบนี้และนางนพมาศก็อาจจะไม่มี ดังนั้น ขนบและประเพณีน่าจะปรับปรุงได้ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของปัจจุบันมากกว่าการปล่อยไว้เช่นเดิมซึ่งส่งผลรายมากกว่าผลดีต่อพระแม่คงคา
ประเด็นของการลอยกระทงคือการขออภัยพระแม่คงคาต่างหาก และมีการระบุว่าเป็นการลอยทุกข์ลอยโศกไปกับกระทงและสายน้ำ ผู้เขียนจึงขอตั้งคำถามว่า ถ้าเปลี่ยนชื่อประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีขอขมาพระแม่คงคา ไม่ต้องไปยึดติดกับกระทง จะทำให้ขยะลดลงหรือไม่ น้ำเสียจากขยะกระทงจะลดลงหรือไม่ แต่ถ้ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีการบ้านส่วนตัว ให้เวลาอีก 1 ปี ที่จะคิดว่าปีหน้าจะลอยกระทงอะไรในเทศการลอยกระทง 2564
*บทความโดย จีมา ศรลัมพ์ วิศวกรสิ่งแวดล้อม อีเมล [email protected]