บทเรียนจาก 9 เดือนที่ผ่านมา!

บทเรียนจาก 9 เดือนที่ผ่านมา!

Part 1.ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงและล้มหายตายจาก....ปี 2563 นี้ ทุกธุรกิจรวมถึงคนทุกคนได้เจอ ได้เรียนรู้ ถึงสิ่งที่ทำให้ธุรกิจและชีวิตเปลี่ยน!

เหตุผลที่นับจำนวนระยะเวลาเป็น 9 เดือนคือ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม จนถึงปัจจุบันเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงเวลาที่ “ไวรัสโควิด19” มาเปลี่ยน “วิถีชีวิตส่วนตัว” และ “วิธีทำธุรกิจ” ให้แตกต่างไปจากเดิม

อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น... เช่นการล่มสลายแบบระเนระนาดของธุรกิจบริษัทใหญ่ๆทั่วโลกที่ต้องปิดตัวหรือขอยื่นศาลล้มละลาย หรือความไม่แน่นอนของชีวิตที่เจ็บป่วยล้มหลายตายจากเป็นจำนวนนับล้านๆคนในทั่วโลก สิ่งที่ได้เรียนรู้นับจากไวรัสโควิด19 ระบาดมาเกือบ 1 ปี...

 Part. 2. Cash & Credit

“เงินสด” ที่มีอยู่ในมือ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก! ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง โดยเฉพาะขนาดเล็ก ไปจนถึงคนที่ทำมาค้าขายทั่วไป อาชีพอิสระ

ธุรกิจใดที่ประมาท หรือในแง่บุคคลที่ใช้ชีวิตโดยประมาท ไม่เคยสำรองเงินสดในกรณีฉุกเฉิน เมื่อต้องเผชิญสภาวะ “ไม่มีรายได้เข้าอย่างต่อเนื่องนานนับเดือนไปจนถึงหลายเดือน” หรือ เบาลงมาหน่อยคือ รายได้เข้าเพียงสิบเปอร์เซ็นต์จากที่เคยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่รายจ่ายของธุรกิจ (ค่าใช้จ่ายประจำของแต่ละธุรกิจ มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาด และจำนวนคนต่างๆ) และรายจ่ายส่วนตัวของแค่ละคนแต่ละครอบครัว ยังต้อง“กัดฟันจ่าย” มากเท่าเดิมแต่แทบไม่มีรายได้... เป็นบทเรียนทำให้หลายธุรกิจถึงกับไปไม่รอด

“เครดิต” และสินเชื่อ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพยุงให้ธุรกิจในทุกขนาดพอจะประคับประคอง กระเสือกกระสนให้ผ่านไปในแต่ละเดือนได้ ถ้า... ยังมีสินเชื่อจากธนาคารให้ใช้ หรือยังมีเครดิตจากเจ้าหนี้การค้าที่ใจดีช่วยยืดระยะการชำระค่าสินค้าให้บ้าง

 Part 3. ความล่มสลาย เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด!

ก่อนไวรัสโควิด19 จะมา ความล่มสลายของแต่ละธุรกิจก็ทยอยมีมาให้เห็นเป็นระยะจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่Disruption หลายๆธุรกิจจนซวนเซ แต่นั่นก็เป็นพายุธุรกิจที่มาเป็นพักๆ แต่พอโควิด 19 มา กลายเป็นพายุลูกใหญ่ที่ทยอยโหมกระหน่ำใส่ทุกธุรกิจในเวลาไล่เรี่ยกันทั่วโลก ทำให้หลายธุรกิจที่เคยคิดว่าแน่ ก็กลายเป็นไม่แน่ว่าจะรอดหรือเปล่าไปตามๆกัน

อย่างล่าสุด Marks & Spencer ห้างใหญ่ในต่างประเทศ ปีที่แล้วยังทำกำไรถึง 6.4 พันล้านบาท พอเจอวิกฤติโควิด ต้องปลดพนักงานกว่า7,000 คน แต่ในท้ายที่สุดปีนี้ก็ยังขาดทุน 3.5 พันล้านบาท เป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 94 ปี!

Part 4. อย่าพึ่งพา ลูกค้ากลุ่มเดียว

ต่อให้ไม่มีวิกฤติไวรัสโควิด 19 บริษัทใดที่พึ่งพาแต่ลูกค้าหลักกลุ่มเดียว หรือมีรายได้ 80-90% มาจากลูกค้าหลักกลุ่มเดียวหรือไม่กี่ราย วันดีคืนดีเกิดความพลิกผัน ลูกค้ากลุ่มนั้นที่สร้างรายได้หลัก เลิกซื้อเพราะปัญหาเรื่องสินค้าหรือบริการ ไปจนถึงคู่แข่งมาดึงไป บริษัทนั้นก็ทรุดลงทันที

ยิ่งในช่วงวิกฤติไวรัส 19 ระบาด ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่พึ่งพาลูกค้าจากต่างชาติเป็นหลักต่างก็ล้มระเนระนาดไปตามๆกัน หรือร้านค้าที่อยู่ตามห้าง เมื่อลูกค้าไม่เข้าห้าง หรือเข้าน้อยลง เพราะเปลี่ยนพฤติกรรม ห้างร้านก็ร้าง ถึงแม้ปัจจุบันในไทยยังไปห้างได้ แต่ร้านหลายๆร้านในห้างกลับทยอยปิดเป็นว่าเล่น

การกระจายลูกค้าให้หลากหลาย กับธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ เป็นสิ่งที่ต้องรีบทำ หรือการสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ จากตลาดใหม่ๆที่สร้างขึ้นมาเองได้ (Emerging Market) จากการปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ สร้างธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆให้มีที่มารายได้หลากหลายมากขึ้น เป็นวิธีที่ “ต้องทำ” ไม่ใช่แค่ “ควรทำ!”

Part 5. สามเรื่องที่ต้องเลิกคิดเลิกทำ!

เรื่องแรกที่ควรเลิกคือ...การฝืนทำสิ่งที่ทำแล้วไม่ได้ผล ที่เรียกว่าดันทุรัง! เช่น วิธีนี้เคยทำแล้วได้ผลตอนก่อนไวรัสโควิด 19 จะมา แต่หลังจากวิกฤติไวรัสมา ยังทำเหมือนเดิม (เช่นวิธีการติดต่อลูกค้า วิธีการหารายได้) แต่ไม่ได้ผล ก็ยังคงไม่หาวิธีใหม่ๆ ยังหวังลมๆแล้งๆ สุดท้ายมักจะสิ้นหวัง

เรื่องที่สองที่ควรเลิก....คือเน้นการขยายตัว หรือ เพิ่มคนในปริมาณมาก เพราะคิดว่าเล็งเห็นโอกาสใหม่ๆในสภาวะปัจจุบัน และยังคิดว่า คนมากผลงานจะมากตามจำนวนคน!

แนวคิดนี้อันตรายมาก ให้ย้อนกลับไปอ่าน ( Part1. Cash & Credit และ Part 2. ความล่มสลาย เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิด) เพราะอันที่จริง เราสามารถเพิ่มรายได้ ต่อยอดธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มรายจ่ายประจำมากได้ เช่นใช้ Outsource หรือ Co-Partner จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก รายได้และกำไรอาจลดลงบ้าง อย่าคิดจะทำจะรวยคนเดียวเลยในยุคนี้ ถ้าไม่ใหญ่จริงทำยาก!

เรื่องที่สามที่ต้องเลิกให้ได้... คือเลิกใช้วิธีบริหารที่ล่าช้า อืดอาด ขั้นตอน พิธีรีตรองเยอะ ทั้งที่ในยุคปัจจุบัน ต้องใช้การบริหารแบบ“โครงสร้างบางๆ” ที่แทบจะไม่มีโครงสร้างซับซ้อน แต่สามารถเข้าถึงกันได้อย่างรวดเร็ว จากบนลงล่าง/ล่างจึ้นบน จากซ้ายไปขวา /ขวาไปซ้าย ที่รวดเร็วปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนเร็วถึงจะรอด

Part 6. ถ้าฝืนไม่ไหวอย่าดันทุรัง!

ส่งท้ายสั้นๆ ถ้าพยายามแล้ว ปรับเปลี่ยนก็แล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะรอด ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ที่จะหยุดหรือพักไปสักระยะ รอจังหวะเวลาดีๆ ฟ้าเปิด มีผู้หยิบยื่นโอกาสใหม่ๆให้ หรือ เมื่อเห็นโอกาสเหมาะสมด้วยตนเอง ค่อยกลับมาทำธุรกิจอีกครั้ง อาจจะดีกว่าฝืนจนเลือดหมดตัว..

ส่วนธุรกิจใดไม่ว่าขนาดใหญ่ กลาง เล็ก หรือคนทั่วไป ที่ผ่านสถานการณ์นี้ได้ ก็ถือว่ามี “วัคซีน”ในจิตใจระดับนึงแล้ว และเชื่อว่าจะนำบทเรียนที่ได้ไปปรับใช้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีในอนาคต

ขอให้โชคดีทุกท่านครับ.