LESA 2020
เพิ่งจบไปหมาดๆครับกับงาน 8th Leadership Energy Summit Asia ประจำปี 2020
แม้จะเข้าปีที่แปดแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในหลายๆ ด้าน 1) Full Digital Conference เราเปลี่ยนการจัดงานมาเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด 2) เป็นครั้งแรกที่ Iclif จัดในฐานะของ Asia School of Business ซึ่งเป็นแคมปัสร่วมกับ MIT Sloan School of Management จึงมีการอัพเกรดหลายด้าน โดยเฉพาะมิติด้านธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Finance, Entrepreneurship, Economics, และแน่นอน Leadership
ผมขอยกไฮไลท์หลักๆ ในงานมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
หัวใจหลักของวันแรก ธีม Entrepreneurship and Development คือ Dr. Esther Duflo เจ้าของรางวัลโนเบล ปี 2019 สาขาเศรษฐศาสตร์ เธอเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงานของนักพัฒนา จากที่เคยนั่งอ่านตำราและใช้ทฤษฏีกำหนดการวางแผน มาใช้การทดลอง In-Action แบบวิทยาศาสตร์ มีการดีไซน์ การกำหนดกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มควบคุม Control กำหนดตัวแปรและระยะเวลา เปรียบเทียบผลและวิเคราะห์ความหมาย ก่อนจะใช้ความรู้เหล่านั้นมากำหนดแผนอีกที
เป็นการวางแผนพัฒนาแบบ Bottom-up ด้วยข้อมูลจริง ที่น่าทึ่งคือ Dr. Duflo เล่าว่า การทดลองดังกล่าวสามารถขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ถึง 90 ล้านคน เช่นในประเทศอินเดีย เพื่อออกแผนช่วยควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19
วันที่สอง ธีม Sustainability ไฮไลท์คือ Dr. John Sterman ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะโลกร้อน หรือ Climate Change จาก MIT สิ่งที่ผมชอบมากในการแชร์ของ Dr. Sterman คือ “Research alone doesn’t change behaviors” การแชร์ข้อมูลวิจัยเพื่อให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้ผล ทีมงานจึงทำโมเดลจำลองอุณหภูมิโลก พร้อมตัวแปรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Fossil Fuels, Alternative Energy, Deforestation, Methane etc.
โดยเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าไป ‘เล่น’ กับข้อมูลได้ เช่น หากปล่อยโลกไว้อย่างที่ทำอยู่ อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 4.1 C ภายในปี 2100 นั่นคือหายนะของทุกคน แต่ถ้าเราสามารถลดการใช้ Coal, Oil, ลดการตัดต้นไม้ และเพิ่ม Clean Energy, Electrification รวมถึงลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงานทดแทน เราสามารถลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิดังกล่าวเหลือเพียง 1.8 C
เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย Social และ Environment ตาม BASE Model ที่มิใช่เพียง Belief อย่างเดียว ใครสนใจอยากลองเล่นด้วยตัวเอง เชิญที่ https://en-roads.climateinteractive.org/scenario.html ได้ครับ
วันที่สาม Transformation ผมต้องยกนิ้วให้กับ Dr. Roberto Rigobon ซึ่งเล่าเรื่องราวและเหตุผลว่าทำไมประเทศที่ยากจนจึงตกอยู่ในสภาพดังกล่าว ตั้งแต่ความไม่เท่าเทียมทางธรรมชาติ โรคระบาด ไปจนถึงยุคอาณานิคม Colonization เช่นประเทศที่เคยถูกครอบครองโดยอังกฤษ ปัจจุบันจะเจริญกว่าประเทศที่ถูกครอบครองโดยฝรั่งเศส เบลเยี่ยม หรือ รัสเซีย เป็นต้น
ในการจะก้าวจากประเทศยากจนไปเป็นประเทศร่ำรวย หรือที่เราเรียกกันว่าพัฒนาแล้วนั้น ขึ้นอยู่กับตัวแปร 3 ตัว นั่นคือ 1) การมีผู้นำที่ Pragmatic เน้นการปฏิบัติ มีเป้าหมายอันต้องการพาประเทศไปถึงอย่างเป็นรูปธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าตนเองไม่ได้รู้ทุกเรื่อง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นประกอบการตัดสินใจ 2) มีการเปิดเสรีทางการทดลอง Experimentation ให้โอกาสคนในการลองคิดลองทำสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ได้เร็ว หากพลาดก็รีบเปลี่ยน หากได้ผลก็เร่งขยาย และ 3) การมีสังคมและประชาชนผู้อดทน Patience เพราะความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์
อาจารย์เล่าต่อว่า ยามเดินทางไปไหนมักถามคนในประเทศต่างๆ 3 คำถาม 1) Why do you exist? Why is your nation here? คุณอยู่เพื่ออะไร? ทำไมโลกจึงต้องมีประเทศคุณ? นี่คือการวัดว่าประเทศดังกล่าว คนมีวิสัยทัศน์ร่วมกันเพียงใด 2) Are you willing to make a sacrifice for people that you don’t know? คุณยินดีเสียสละเพื่อส่วนรวมเพื่อคนอื่นหรือเปล่า คำตอบนี้จะบอกว่าประชาชนของประเทศนั้นๆ เลือกลงเรือลำเดียวกันมากแค่ไหน เช่น คนยินดีเสียภาษี ยินดีปฏิบัติตามกฏกติกา ยินดีเคารพการติดสินใจของผู้นำ และคำถามสุดท้าย 3) Who are your heroes? ฮีโร่ของคุณคือใคร ข้อนี้จะทำให้เราเข้าใจ Values หรือคุณค่าหลักของการเดินทางสู่เป้าหมาย ว่าประเทศดังกล่าวจะเลือกเส้นทางเดินอย่างไร
วันที่สี่ ธีม Leadership ก็คงต้องขอเล่าว่า ผมมีโอกาสได้นำเสนอแนวคิดของ Leadership Energy Journey ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือเส้นทางแห่งผู้นำ ให้ผู้เข้าร่วมสัมนาจากทั่วโลกได้เห็นได้ฟังโมเดลการพัฒนาภาวะผู้นำซึ่งเขียนขึ้นโดยคนไทย และก็ได้รับผลตอบรับดียิ่ง มีคนเขียนหาผมหลังไมค์มากมายว่าเป็นความคิดแนวใหม่ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน และจะช่วยคนของเขาให้เติบโตได้อย่างเห็นผลและเป็นรูปธรรม สนใจอยากจะเรียนรู้เพื่อเข้าใจแนวคิดนี้ให้มากยิ่งขึ้น
แค่นี้ก็ชื่นใจแล้วครับ ว่าคนไทยก็แน่ไม่แพ้ชาติใด!