ซด”น้ำเมา”รวดเดียว ถึงตาย กดประสาท-กดการหายใจ เตือนฉลองปีใหม่
กรมควบคุมโรค เตือนดื่มน้ำเมารวดเดียวปริมาณมาก ทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว กดการทำงานของระบบประสาท ทำให้ไม่รู้สึกตัว -กดการหายใจทำให้หยุดหายใจ ถึงเสียชีวิต
จากกรณี “แบงค์ เลสเตอร์” อินฟลูเอนเซอร์สู้ชีวิต เสียชีวิตกะทันหัน คาดว่าสาเหตุเกิดจากการดื่มเหล้าเพียว(น้ำเมา) 1 แบนรวดเดียว แลกกับเงิน 3 หมื่นบาท จนร่างกายช็อกและเสียชีวิตนั้น
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2567 นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า การดื่มแอลกอฮอล์อย่างรวดเร็ว จะทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งท้องว่างจะยิ่งดูดซึมเร็ว ซึ่งการมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่มีความเข้มข้นสูงจนไปกดการทำงานของระบบประสาท ทำให้ไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งถ้ามากเกินไป ก็จะไปกดการหายใจทำให้หยุดหายใจและเสียชีวิตได้
“พยายามออกมาเตือนอยู่เสมอว่าไม่ให้ดื่มในลักษณะนี้ ยิ่งช่วงนี้ เป็นช่วงปีใหม่ เดี๋ยวชนแก้วๆ ก็มีโอกาสที่จะเกิดการดื่มจนกระทั่งเกิดหมดสติได้เช่นกัน จึงต้องระวัง อีกกรณีที่พบได้คือบางคนมีการรับประทานอะไรอยู่ก่อนทำให้เกิดการสำลักรุนแรง เศษอาหารไปอุดหลอดลมและเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน”นพ.นิพนธ์กล่าว
นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า บางคนแพ้ดื่มได้ไม่นานก็อาจจะหมดสติได้ แต่บางคนอาจจะไม่เป็น เพราะแต่ละคนมีการย่อย หรือเผาผลาญแอลกอฮอล์ได้ไม่เท่ากัน แต่โดยพื้นฐานแล้ว ร่างกายคนเราจะมีการขับแอลกอฮอล์ออกประมาณ 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ผ่านทางเหงื่อ และปัสสาวะ แต่การดื่มเร็วจะทำให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดขึ้นเร็ว จนกระทั่งอยู่ในระยะที่ทำให้หมดสติได้ง่าย
“ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ร่างกายจะเริ่มรับไม่ไหว ตั้งแต่ประมาณ 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เริ่มขาดสติกันแล้ว แต่กรณีหมดสติก็ราวๆ 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป”นพ.นิพนธ์กล่าว
นพ.พ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า การจัดโปรโมชั่นแข่งขันกันดื่มเบียร์ถือเป็นโปรโมชั่นส่งเสริมการดื่ม ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด จะเข้าข่ายการส่งเสริมการดื่มหรือไม่ ก็ต้องมาพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ส่วนการนั่งดื่มกันเองแล้วเร่งดื่มมากแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็อันตราย
อย่างไรก็ตาม หากมีการเอาเงินมาจ้างดื่ม อาจจะไม่ใช่ลักษณะของการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย แต่จะเข้าลักษณะของการเชิญชวนดื่ม คล้ายกับการโฆษณา การมีอิทธิพลในการเชิญชวนให้ดื่ม
“ต้องแยกแยะระหว่างกฎหมาย กับสิ่งที่เป็นจริง เพราะบางคนบอกว่า เป็นการแข่งขันดื่มในกลุ่มเพื่อนๆ ถึงไม่มีปัญหา แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องดูเรื่องสุขภาพ ปีใหม่คงห้ามคนดื่มแอลกอฮอล์คงไม่ได้ จึงขอว่าหากมีการดื่ม ก็ขอความร่วมมือไม่ขับรถออกไปข้างนอก อย่ากินจนเกินสุขภาพของตัวเอง แต่ถ้าไม่กินเลยก็จะดีที่สุด ขอย้ำที่สุด ถ้าดื่มต้องไม่ขับรถ ถ้าขับรถต้องไม่ดื่ม เพื่อลดปัญหาที่จะตามมา และเมื่อเมาแล้วขับเกิดขึ้นก็มีโอกาสที่จะติดคุกได้ เพราะกฎหมายฉบับใหม่มีโทษแรงขึ้น.”นพ.นิพนธ์กล่าว
นพ.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ สำนักฯได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่มีศูนย์ความปลอดภัยทางถนน โดยหลักของการสื่อสารคือ ทุกคนอยู่ที่บ้านแล้วรู้มีคนกินเหล้า ก็อย่าปล่อยให้คนกินเหล้าขับรถออกจากบ้าน โดยด่านครอบครัวถือเป็นด่านแรก ส่วนด่านที่สองคือด่านชุมชน ตั้งแต่สังคมย่อยๆ จนถึงระดับองค์การบริการส่วนตำบล(อบต.)ตั้งด่านเพื่อช่วยเบรกคนกินเหล้า ไม่ให้ขับรถเสี่ยงเกิดอันตราย และด่านสุดท้ายคือด่านตำรวจ ถ้าเจอคนเมาก็พยายามให้นั่งพักดื่มน้ำ เพื่อระบายฤทธิ์แอลกอฮอล์ก่อน