'7 แห่งใหม่' เข้าเป็น 'รพ.ประกันสังคม' ปี 2568 ย้ำไม่มีรพ.ถอนตัว

'7 แห่งใหม่' เข้าเป็น 'รพ.ประกันสังคม' ปี 2568 ย้ำไม่มีรพ.ถอนตัว

ประกันสังคม ผู้ประกันตนเข้าระบบ 24.8 ล้านคน เงินกองทุนสะสมกว่า 2.6 ล้านล้านบาท กางผลงานปี 2567 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ยกระดับเข้าถึงบริการทางการแพทย์ -ขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เผยปี 68 มีรพ.ใหม่เข้าบริการ 7 แห่ง 

จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมล่าสุดกว่า 24.80 ล้านคน ประกอบด้วย มาตรา 33 จำนวน 12.07 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.72 ล้านคน มาตรา 40 จำนวน 11.01 ล้านคน

สำนักงานประกันสังคม จ่ายสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม 7 กรณี แก่ผู้ประกันตนไปแล้ว จำนวน 38.58 ล้านครั้ง จำนวน 112,829.93 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน จำนวน 1,821.25 ล้านบาท รวมสิทธิประโยชน์จากทั้ง 2 กองทุน จำนวน 114,651.18 ล้านบาท

ในส่วนของเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมมีเงินสมทบสะสม กว่า 2.6 ล้านล้านบาท ผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 989,740 ล้านบาท ในปี 2567 ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วในช่วงม.ค.-ต.ค.2567 จำนวน 54,235 ล้านบาท ขณะที่กองทุนเงินทดแทน เงินลงทุนสะสมกว่า 81,538 ล้านบาท ผลตอบแทนสะสม 30,264 ล้านบาท ปี 2567 ผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วในช่วงม.ค.-ต.ค.2567 จำนวน 2,016 ล้านบาท

เพิ่มสิทธิประโยชน์

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ที่สำนักงานประกันสังคม นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แถลงข่าวผลการดำเนินงานสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ประจำปี 2567ว่า ผลการดำเนินงานที่สำคัญ 5 เรื่อง ดังนี้

1.เพิ่มสิทธิประโยชน์และการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยในส่วนการยกระดับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์  ได้แก่  

  • จัดทำโครงการ SSO 515 : 5 โรค 15 วัน เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยการผ่าตัด ลดภาวะแทรกซ้อนไม่ให้อาการของโรค มีความรุนแรงมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการพักฟื้น สามารถใช้สิทธิได้ที่โรงพยาบาลกว่า 76 แห่ง ผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาและหัตถการ 5 โรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง นิ่วในไตและถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่มดลูกหรือรังไข่ ผลการดำเนินงาน (มกราคม – พฤศจิกายน 2567) ผู้ประกันตนเข้ารับการทำหัตถการแล้ว จำนวน 16,166 ราย
    \'7 แห่งใหม่\' เข้าเป็น \'รพ.ประกันสังคม\' ปี 2568 ย้ำไม่มีรพ.ถอนตัว
  • เพิ่มสิทธิประโยชน์และด้านบริการทางการแพทย์ อาทิ เพิ่มสิทธิผู้ป่วยโรคไต สามารถฟอกไตด้วยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis : APD) , ปรับหลักเกณฑ์ การเตรียมหลอดเลือดหรือสายสวนหลอดเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ,เพิ่มสิทธิการตรวจ Sleep TEST และการรักษาด้วยเครื่อง CPAP,  เพิ่มการรักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ 3 รายการ (กะโหลกศีรษะเทียม การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยพลาสมาคุณภาพสูง การผ่าตัดใส่ลูกตาเทียม (ลูกตาปลอมเฉพาะบุคคล)
  • เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพจากรายการตรวจพื้นฐาน 14 รายการ “รู้ทันโรค ด้วยการตรวจสุขภาพ”  โดยตรวจสุขภาพเชิงรุกในสถานประกอบการและเขตชุมชน ดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. - 30 พ.ย. 67 มีผู้รับบริการ จำนวน 365,491 ราย ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร
  • เพิ่มการเข้าถึงกรณีทันตกรรม ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทันตกรรมด้วยรถทันตกรรมเคลื่อนที่แบบเชิงรุกในสถานประกอบการ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 พฤศจิกายน 2567 มีผู้รับบริการ จำนวน 25,262 คน                   
  • ปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาล “กรณีเจ็บในงาน” ขั้นต้นให้กับลูกจ้าง โดยนายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น เดิม วงเงินขั้นต้น 50,000 บาท ปรับเพิ่มเป็น 65,000 บาท
  • ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จากเดิม 800 บาท ปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาท สำหรับบุตรอายุไม่เกิน 6 ปี ครั้งละไม่เกิน 3 คน ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการของร่างกฎกระทรวงแล้ว และเมื่อกฎกระทรวงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผู้ประกันตนจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรอัตรา 1,000 บาท ในเดือนมกราคม 2568 อย่างแน่นอน
  • โครงการสินเชื่อที่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ.2567 วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท วงเงินต่อราย ไม่เกิน 2 ล้านบาท มีผู้ประกันตนได้รับอนุมัติแล้ว762 ราย เป็นเงิน  1,238.06 ล้านบาท

2.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการของสำนักงานประกันสังคม ขยายบริการด้านการรับ - จ่ายเงิน ดังนี้ 1. เพิ่มช่องทางการรับชำระเงินมาตรา 40 ผ่าน Mobile Application 2. พัฒนาระบบการชำระเงินสมทบมาตรา 40 ผ่าน OR Code (Cross Bank Bill Payment บริการชำระบิลข้ามธนาคาร) 3. เพิ่มช่องทางการชำระเงินสมทบมาตรา 39 ผ่าน Mobile Application 4. เพิ่มบริการผู้ประกันตน ผ่าน Application SSO Plus ให้บริการประกันสังคมครบจบใน App ปัจจุบันมียอดการดาวน์โหลดสะสม จำนวน 3.8 ล้านครั้ง

ขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

3. ขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ

  • จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการ SSO MARKET 2024 เพื่อสร้างการรับรู้งานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตนทุกมาตรา เปิดโอกาสให้แรงงานอิสระได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และบริการตรวจสุขภาพทั่วไปฟรี ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2567 มีผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานและนิทรรศการกว่า 65,000 คน
  • จัดโครงการครอบครัวประกันสังคมในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการฯ “ครอบครัวคุณ ครอบครัวเรา ครอบครัวประกันสังคม ครอบครัวเดียวกัน” ให้สิทธิพนักงานนำสมาชิกในครอบครัว จำนวน 1 คน มาสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยสถานประกอบการสนับสนุนจ่ายเงินสมทบให้ครอบครัวของพนักงานตลอดระยะเวลาที่ยังทำงานกับบริษัท ดำเนินการแล้วกว่า 80 จังหวัด/สาขา มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 167 แห่ง ครอบครัวพนักงานได้รับหลักประกันแล้วกว่า 2,636 คน
  • สร้างหลักประกันสังคมให้กับแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ สร้างกลไกเครือข่ายประกันสังคมผ่านผู้นำแรงงานไทยในต่างประเทศ รณรงค์ประชาสัมพันธ์และรับสมัครขึ้นทะเบียนประกันสังคมมาตรา 40
  • ประกันสังคมทั่วไทยสู่แรงงานภาคอิสระ สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 ในระดับภูมิภาค
  • บูรณาการความร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลง กับกรมการขนส่งทางบก และการยางแห่งประเทศไทยสร้างการรับรู้และเข้าถึงความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 ให้กับผู้ขอใบอนุญาตขับรถประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกรชาวสวนยาง มีหลักประกันความมั่นคงทางสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดี
    \'7 แห่งใหม่\' เข้าเป็น \'รพ.ประกันสังคม\' ปี 2568 ย้ำไม่มีรพ.ถอนตัว

ช่วยเหลือนายจ้าง-ผู้ประกันตนอุทกภัย58 จังหวัด

4. สร้างการรับรู้งานประกันสังคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดการประชุมวิชาการประกันสังคม ในหัวข้อ “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการบริหารและเสถียรภาพของกองทุน แนวทางการพัฒนาทางการแพทย์ การลงทุน ระบบบำนาญประกันสังคม แนวทางสร้างความยั่งยืน และรับฟังข้อเสนอแนะ

และ5.มาตรการในการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ลดอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบประกันสังคมให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อน เดิม 55 จังหวัด และเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม มีมติเห็นชอบให เพิ่มเติม จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่   จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และพัทลุง             

7 แห่งใหม่เข้ารพ.ประกันสังคม ปี 68

นางมารศรี กล่าวด้วยว่า ในปี 2568 ยังไม่มีรพ.ออกจากประกันสังคม โดยมีสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งหมด 271 แห่ง เป็นรพ.รัฐบาล  174 แห่ง และรพ.เอกชน 97 แห่ง  ซึ่งมีรพ.ที่สมัครใหม่ จำนวน 7 แห่ง เป็นรพ.รัฐ 4 แห่ง และรพ.เอกชน 3 แห่ง คือ

  • รพ.จุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร
  • รพ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี
  • รพ.ราชวิถี 2(รังสิต) จ.ปทุมธานี 
  • รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
  • รพ.วัฒนแพทย์สมุย จ.สุราษฎร์ธานี
  • รพ.พญาไทศรีราชา 2จ.ชลบุรี
  • และรพ.ราชธานี หนองแค จ.สระบุรี