'3 สิทธิรักษาต่างด้าว' ในไทย ฟรี-ไม่ฟรี และหนี้เสียที่ไทยแบกรับ

'3 สิทธิรักษาต่างด้าว' ในไทย ฟรี-ไม่ฟรี และหนี้เสียที่ไทยแบกรับ

'3 สิทธิรักษาต่างด้าว' สิทธิรักษาพยาบาลต่างด้าวในไทย ฟรีกรณีมีสิทธิตามกองทุนท.99 ส่วนแรงงานเข้ามาทำงาน ต้องซื้อประกันสุขภาพ-ข้ามแดนมารักษาไม่ฟรี ต้องจ่ายเงิน แต่ก็มีหนี้เสียที่ไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลได้ 

KEY

POINTS

  • สิทธิรักษาต่างด้าว หากข้ามแดนมาคลอดในประเทศไทย แม้เด็กเกิดใหม่จะแจ้งเกิดได้แลข 13 หลัก แต่ไม่ใช่จะได้สิทธิรักษาฟรี คนที่รับสิทธิเฉพาะกรณีเข้าหลักเกณฑ์ ท.99 เท่านั้น
  • กรณี แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ไม่ได้สิทธิรักษาฟรี กรณีที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ต้องซื้อประกันสุขภาพอัตรา 3,400-3,500 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี 6 เดือน
  • สิทธิรักษาต่างด้าว ที่ข้ามมารับบริการรักษาพยาบาลในประเทศไทย จะต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้ยากไร้ ไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายได้ ทำให้รพ.ต้องมีหนี้เสีย ที่เรียกเก็บไม่ได้

'3 สิทธิรักษาต่างด้าว' ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเกิดกระแสเรื่องของ สิทธิรักษาต่างด้าว การเข้ารับบริการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยต่างด้าวในรพ.รัฐอยู่หลายกรณี อย่างเช่น แรงงานต่างด้าว เข้ามาใช้บริการแย่งทรัพยากรของคนไทย ทั้งที่ไม่ได้เสียภาษี หรือกรณีล่าสุด ที่มีการระบุว่าคนในประเทศเพื่อนบ้านมีการบอกต่อๆกันว่าหากข้ามแดนมาคลอดในประเทศไทยแล้ว เด็กที่เกิดใหม่จะได้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีเหมือนคนไทย ตามสิทธิที่เรียกว่า “ท.99” ส่งผลให้รพ.ชายแดนมีคนแห่ข้ามแดนมาคลอดจำนวนมาก เรื่องข้ามมาคลอดโดยหวัง “สวมสิทธิ ท.99” ซึ่งข้อมูลนี้กำลังกระจายในประชากรประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน จึงกลายเป็นปัญหาใหม่ที่สร้างความกังวลมากขึ้น แต่เรื่องนี้ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในกลุ่มต่างชาติ

3 สิทธิรักษาต่างด้าวในไทย

ทว่า สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อน คือ “การเจ็บป่วยฉุกเฉิน รพ.ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ จะต้องช่วยเหลือเยียวยาให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตราย” เป็นข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ไม่ว่าผู้ป่วยจะยากดีมีจนหรือเป็นคนเชื้อชาติ สัญชาติใด  
และ “การรักษาพยาบาล”เป็นประเด็นอ่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับ “ชีวิตคน” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงเรื่อง “มนุษยธรรม” และการเข้าถึงการรักษาก็ยังเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน “เมื่อเห็นคนเจ็บป่วยแล้วไม่ให้การรักษาก็ดูจะไร้จรรยาบรรณและมนุษธรรม”

ที่สำคัญ "หากไม่ดูแลเขาแล้วเกิดเจ็บป่วย โรคระบาด เราย่อมกระทบด้วย"
แต่จริงว่า รัฐใดมิควร “ต้องแบก” ภาระค่ารักษาประชากรต่างชาติ

"สิทธิรักษาต่างด้าว" ในไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว โดยแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ต้องซื้อประกันสุขภาพ

2.กองทุน ท.99

3.กลุ่มที่เข้ามารักษาในประเทศไทยโดยการจ่ายเงินเอง (ส่วนใหญ่รพ.ชายแดน) 

ซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว 

กรณีกลุ่มที่ 1 แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและผู้ติดตามนั้น ตามกฎหมายกำหนดให้ “ซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว” โดยประกันสุขภาพภาครัฐเงินจะเข้าสู่กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว บริหารโดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)

ผู้ที่ใช้สิทธิกองทุนนี้ได้ คือ แรงงานต่างด้าวและบุตรอายุ 7 ปีขึ้นไปที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ โดยตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี 6 เดือน กำหนดอัตราการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ในราคา 3,400 บาท ครอบคลุมค่าตรวจสุขภาพ 2 ครั้ง คนละ 1,000 บาท ค่าประกันสุขภาพ 2,400 บาท

และ 3,500 บาทสำหรับแรงงานที่เป็นลูกเรือประมง ครอบคลุมค่าตรวจสุขภาพ 2 ครั้ง คนละ 1,100 บาท ค่าประกันสุขภาพ 2,400 บาท

ในส่วนค่าประกันสุขภาพ 2,400 บาท แบ่งสัดส่วนการให้บริการให้แก่หน่วยงานเป็น  

  • สถานพยาบาล เป็นค่าบริการทางการแพทย์ 1,371 บาท  บาท และค่าบริหารจัดการ  180 บาท
  • สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)และกรมการแพทย์ 489 บาทเป็นค่าส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค 309 บาท ค่าบริหารจัดการ 180 บาท
  • กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ 540 บาท เป็นค่าบริการทางการแพทย์กรณีค่าใช้จ่ายสูง 525 บาท และค่าบริหารจัดการ 15 บาท

ข้อมูลคนขึ้นทะเบียนบัตรประกันสุขภาพของกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ม.ค.-ต.ค. พ.ศ. 2567 สถานะการขึ้นทะเบียนทั้งหมด  309,416 คน  เป็น แรงงาน/ผู้ติดตามอายุเกิน 7 ปี 262,843 คน, ผู้ติดตามอายุไม่เกิน 7 ปี 39,602 คน และคนต่างด้าวทั่วไป 6,971 คน

  • เมียนมา 66.4 %
  • กัมพูชา 27.7 %
  • ลาว  16.71 %
  • ที่เหลือเป็นเวียดนามและอื่นๆ

สิทธิท.99 ครอบคลุมเฉพาะกลุ่ม

กรณี“สิทธิกองทุนบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือท.99” เป็นสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียนราว 700,000 คน กลุ่มผู้มีสิทธิ ได้แก่ 1.กลุ่มที่คณะรัฐมนตรีรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร
และ2.กลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ชั่วคราวเพื่อรอกระบวนการแก้ปัญหา คือ  กลุ่มที่มีปัญหาการส่งกลับ ซึ่งได้รับการสำรวจทำทะเบียนประวัติและบัตรสี/บัตรประจำตัวผู้ไม่ใช่สัญชาติไทยเพื่อการควบคุมและอยู่ระหว่างการแก้ปัญหา และกลุ่มที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล

กองทุน ท.99 จะมีการอนุมัติงบประมาณไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อดูแลรักษาพยาบาลกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทยระหว่างรอพิสูจน์สิทธิ และสัญชาติ หลังจากประเทศไทยใช้ระบบหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทองที่ระบุว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น

มีการใช้งบประมาณช่วง 4 ปี  ดังนี้

  • ปี  2564 จำนวน 554,137 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,397  ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,575 ล้านบาท  
  • ปี 2565 จำนวน 604,394 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,148  ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,544 ล้านบาท  
  • ปี 2566  จำนวน 696,522 คนงบประมาณที่ได้รับราว 1,212  ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริง ราว 1,598 ล้านบาท  
  • ปี  2567 ( ณ 19 เม.ย.)จำนวน 731,180 คน งบประมาณที่ได้รับราว 1,513 ล้านบาท งบประมาณที่จ่ายจริงไปแล้ว ราว 656 ล้านบาท  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีต่างด้าวข้ามมาคลอดลูกในไทยนั้น มีสิทธิแจ้งเกิดได้ตามกฎหมาย และประเทศไทยจะให้เลขประจำตัว 13 หลัก โดยระบุชัดเจนว่าเป็นต่างด้าว

ฉะนั้น การมีเลข 13 หลักไม่ใช่การรับรองว่าจะได้สิทธิรักษาแบบคนไทย โดยระบบฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย(มท.) กับ สปสช.มีการเชื่อมโยงกัน แม้เด็กจะเกิดในประเทศไทย เมื่อมาเข้ารับการรักษาในรพ.รัฐฝั่งไทย ข้อมูลจะตรวจสอบได้ว่าไม่มีสัญชาติไทย จึงไม่มีสิทธิบัตรทอง

“สิทธิ ท.99 เป็นสิทธิเฉพาะกลุ่ม บุตรหลานของคนในกลุ่มนั้นจะได้รับสิทธิด้วยจนกว่าจะพิสูจน์สัญชาติแล้วเสร็จ แต่คนใหม่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ แม้จะมีนายหน้าพามาคลอดลูก และจดแจ้งเกิดในไทย แต่ก็ไม่ได้สิทธิรักษาพยาบาลแบบคนไทย”นพ.จเด็จกล่าว 
 

หนี้เสีย ไทยแบกรับ

และกรณีที่ 3 ข้ามแดนมารักษาในประเทศไทย โดยการจ่ายเงินเอง  ซึ่งเรื่องการให้บริการรักษาพยาบาลต่างด้าวตามแนวชายแดน จึงเป็นปัญหามานานและเป็นสิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” เพราะมิอาจปฏิเสธผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เข้ามารักษานั้นเป็นผู้ยากไร้ ไม่ได้มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ 

เนื่องจากประเทศไทยมี 31 จังหวัดที่เป็นแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อบ้าน 4 ประเทศ คือ เมียนมา 10 จังหวัด ลาว 12 จังหวัด  กัมพูชา 7 จังหวัด และมาเลเซีย 4 จังหวัด แต่ละแนวชายแดนมีปัญหาแตกต่างกันไปขึ้นกับบริบทของพื้นที่
\'3 สิทธิรักษาต่างด้าว\' ในไทย ฟรี-ไม่ฟรี และหนี้เสียที่ไทยแบกรับ

ที่ผ่านมารพ.ชายแดนจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากNGOด้วยส่วนหนึ่ง ในการดูแลรักษาพยาบาลต่างด้าว ซึ่งบางรพ.ได้ราว 50-60 ล้านบาทต่อปี 

แต่ประเทศไทยก็มีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ จากประชากรต่างด้าวและผู้ติดตาม ปีงบประมาณ 2562-2566 เฉลี่ย 2,564 ล้านบาทต่อปี แยกเป็น

  • ปี 2562 จำนวน ราว1,894 ล้านบาท
  • ปี 2563 จำนวนราว 1,763 ล้านบาท
  • ปี 2564 จำนวนราว 3,514 ล้านบาท
  • ปี 2565 จำนวนราว 3,597 ล้านบาท
  • ปี  2566 จำนวนราว 2,054 ล้านบาท

แก้ปัญหา สาธารณสุขชายแดน

ในส่วนการแก้ปัญหาสาธารณสุขชายแดน ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการหาแนวทางแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในแนวทางสำคัญ คือ การ ตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ กระทรวงสาธารณสุข โดยจะดำเนินการทั่วประเทศ 5 แห่ง ดำเนินการเปิดแล้วที่ รพ.แม่สอด จ.ตากและจ.ระนอง  โดยอีก 3 แห่งจะเปิดที่จ.น่าน  จ.สระแก้ว และ จ.อุบลราชธานี
นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพของประชากรข้ามชาติในประเทศไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) กล่าวว่า มีการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2029 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy : CCS) โดย สวรส.

เป็นแกนกลางในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการบริหารแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติทั้งในและต่างประเทศ

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า  ถือเป็นกลไกสำคัญในการช่วยผลักดันให้เรื่องสุขภาพประชากรข้ามชาติเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีการระดมงบประมาณจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิความเป็นธรรมด้านสุขภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติและผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย

ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ โดยจะผลักดันให้เกิดหลักประกันและการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ