'แม่ลูก'ฉ้อโกงรักษา 'บัตรทอง 30 บาท' สปสช.เตรียมดำเนินทางกฎหมาย
สปสช.เตรียมดำเนินทางกฎหมาย 'แม่ลูก'ฉ้อโกงรักษา 'บัตรทอง 30 บาท' พร้อมวางระบบป้องกันเพิ่มการรายงานข้อมูล “ตระเวนรักษาเพื่อรับยาไปขายต่อ” ในระบบยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ เพื่อตรวจสอบและป้องกันพฤติกรรมฉ้อโกง
ภายหลังจากกรณีที่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลกรณีที่มีผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เข้ารับบริการตามโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ เพื่อรับบริการตรวจรักษาและนำยาที่ได้รับการจ่ายนั้นมาขายทางออนไลน์
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณีรายล่าสุดที่เป็นคุณแม่นำลูกเข้ารับการรักษาโรคภูมิแพ้ที่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรับยาโรคภูมิแพ้และได้นำไปขายนั้น ขณะนี้ทาง สปสช. ได้มีการรวบรวมข้อมูลการเข้ารับบริการย้อนหลัง และหลักฐานต่างๆ รวมไปถึงมูลค่าความเสียหาย และเตรียมที่จะดำเนินทางกฎหมายต่อไปแล้ว
"ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ สปสช. ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด และได้ทำการหารือร่วมกันเพื่อวางระบบการตรวจสอบและป้องกันการเบิกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ที่มีความผิดปกติ"นพ.จเด็จกล่าว
ล่าสุด สปสช. ได้เพิ่มเติมการรายงานผลในระบบยืนยันตัวตนผู้เข้ารับบริการ (ระบบ New Authen Code) แล้ว และเริ่มใช้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลของผู้รับบริการที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ซึ่งทันทีที่ได้มีการยืนยันตัวตนใช้สิทธิ ระบบก็จะแสดงผลข้อมูลของผู้เข้ารับบริการทันที ทั้งข้อมูลบุคคล สิทธิการรักษาพยาบาล รวมถึงรายละเอียดการรับยาที่มีความผิดปกติด้วย ทำให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการรับทราบทันที
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สปสช. ไม่อยากให้มีการกระทำฉ้อโกงแบบนี้ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แม้จะเป็นบริการไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ข้อเท็จจริงแล้วในการดำเนินการระบบฯ สปสช. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลที่มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นการรับยาแล้วนำไปขายต่อ หรือทำการใดๆ ที่ไม่ใช่เพื่อการรักษาผู้มีสิทธิ ถือว่าเข้าข่ายฉ้อโกง และมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่ง สปสช. จะดำเนินตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินคดีในลักษณะนี้มาแล้ว โดยศาลได้มีคำสั่งจำคุกเป็นเวลากว่า 10 ปี