กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับใช้อย่างไร?

กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับใช้อย่างไร?

ผู้เขียนมักได้รับคำถามบ่อยครั้งที่ว่า กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (กฎหมายธุรกรรมฯ) ใช้อย่างไร และใช้กับธุรกรรมทุกประเภทหรือไม่

          บทความฉบับนี้ จึงถือโอกาสเล่าถึงทางปฏิบัติในเบื้องต้นในเรื่องดังกล่าว

 ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์คือ อะไร

        ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ กิจกรรมใดๆ ที่กระทำขึ้นระหว่างภาครัฐ หรือภาคเอกชน ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า หรือเพื่อติดต่องานราชการ โดยปรับใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน เช่น การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) การโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และการสื่อสารรับส่งข้อมูลหรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกัน ซึ่งวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนี้ ในทางปฏิบัติ สามารถทำได้หลายรูปแบบตามแต่ประเภทของเทคโนโลยีที่เลือกใช้ เช่น การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การส่งข้อมูลผ่านสายไฟเบอร์ ผ่านดาวเทียม หรือสาย LAN เป็นต้น

 ที่มาของของกฎหมาย

ที่มาของกฎหมายเกิดจากความจำเป็น เพราะหากย้อยเวลากลับไปเมื่อมีการเริ่มต้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเวลานั้น ธุรกรรมต่าง ๆ มีรูปแบบในการจัดทำโดยไม่พึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเช่นในปัจจุบัน
หรืออาจกล่าวได้ว่า รูปแบบการทำ “ธุรกรรม” อันเป็นจุดก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในอดีตมักมีความยึดโยงในทางกายภาพเป็นหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่า สัญญามันอยู่ในรูปกระดาษ และการลงลายมือชื่อ อาจกระทำโดยใช้ตราประทับ แกงได หรือปากกา

อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายไทย แม้ว่าสัญญาทุกประเภทไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อกำกับก็สามารถมีผลทางกฎหมายได้ แต่ก็มีสัญญาอีกจำนวนไม่น้อย ที่กฎหมายกำหนดให้ “ทำเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง” พร้อมทั้งมีการ “ลงลายมือชื่อกำกับไว้เท่านั้น ถึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ยกตัวอย่างเช่น สัญญากู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท และการทำสัญญาประกันภัย ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือและ ไม่มีการลงลายมือคู่สัญญาจะไม่สามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ (ม.653 และ ม.867 ปพพ.)

โลกเปลี่ยนรูปแบบของสัญญาเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน การทำ “ธุรกรรม” อันเป็นจุดก่อให้เกิดความสัมพันธ์ในทางกฎหมายมีความซับซ้อนและแตกต่างไปจากเดิม เช่น จากกระดาษเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) จากลายเซ็นด้วยปากกาเป็นลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) จากการซื้อขายผ่านหน้าร้านเป็นร้านค้าออนไลน์ และจากการชำระด้วยเงินสดเป็นการชำระเงินผ่าน Mobile Banking เป็นต้น ประกอบกับหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ (เช่น ธปท, กลต, และ คปภ) ก็ต่างยอมรับการทำสัญญาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการทำธุรกรรมแบบ Non-Face-to-face ที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องเดินทางมาพบกัน

 กฎหมายธุรกรรมฯ เป็นกฎหมายที่ใช้ เสริม

        ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาในข้างต้น กฎหมายธุรกรรมทางฯ จึงได้ถูกบัญญัติมาเพื่อใช้เสริมกฎหมายเดิมที่มีอยู่ กล่าวคือ กฎหมายเดิม หากมีการกำหนดให้ต้องจัดทำข้อมูลหรือบันทึกข้อความเป็น “หนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง” แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คู่สัญญาได้บันทึกข้อความหรือข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน กฎหมายจะยอมรับความสมบูรณ์ของข้อความอิเล็กทรอนิกส์และรับรองให้มีสถานะเป็นหนังสือที่มีผลทางกฎหมายหากเข้าองค์ประกอบในการจัดทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ได้กำหนดไว้ใน ม.8 ของ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

        นอกจากนี้ การลงลายมือชื่อในกรณีของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในข้างต้นนั้น ก็จะต้องทำให้ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการในพ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน (ม.9, 26 และ 28 ตามแต่กรณี) โดยในปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Signature เพื่อใช้กับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่าง ๆ

ซึ่งหากพิจารณาประกอบกับหลักการที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แล้ว อาจสรุปได้ว่า e-Signature คือ การใช้เทคโนโลยีในการสร้างเครื่องยืนยันตัวตนของบุคคลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อใช้เชื่อมโยงและแสดงความสัมพันธ์กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของชุดข้อมูลดังกล่าว (เจ้าของลายมือชื่อ) ซึ่งให้ผลไม่ต่างจากการยืนยันตัวบุคคลโดยการจับปากกาลงมาเซ็นในกระดาษ

       ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า กฎหมายธุรกรรมฯ ได้บัญญัติเพื่อรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เท่าเทียมกับธุรกรรมที่ทำบนกระดาษและการลงลายมือชื่อไว้แล้ว

 ครอบครัว และ มรดกไม่ปรับใช้กฎหมายธุรกรรมฯ

 ในทางปฏิบัติ อาจกล่าวได้ว่า ธุรกรรมเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมภาครัฐ หรือ เอกชน ต่างปรับใช้กฎหมายธุรกรรมฯ ได้ทั้งสิ้นหากคู่สัญญาประสงค์จะจัดทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี มีธุรกรรมสองประเภทที่ไม่อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายธุรกรรม อันได้แก่ ธุรกรรมที่เกี่ยวกับ “ครอบครัวและ มรดกซึ่งสาเหตุที่กฎหมายบัญญัติยกเว้น ก็ด้วยเหตุที่ว่า ธุรกรรมทั้งสองประเภท เป็นเรื่องส่วนบุคคลโดยแท้ การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องจึงพึ่งกระทำตามรูปแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดไว้

ยกตัวอย่างเช่น การทำพินัยกรรมตามกฎหมาย จะต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้กระทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบเขียนเองทั้งฉบับ หรือแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ซึ่งทุกแบบที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น จะต้องทำโดยใช้ “เอกสารหรือหนังสือในแบบเดิมเท่านั้น ไม่สามารถใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำพินัยกรรมให้มีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมายได้ ซึ่งหากเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจส่งผลให้พินัยกรรมฉบับนั้นไม่มีผลทางกฎหมาย และทำให้การแบ่งมรดกต้องกลับไปสู่หลักทายาทโดยธรรมแทน

เมื่อทำถูกต้อง ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ย่อมมีผลตามกฎหมาย

        ท้ายที่สุด อาจสรุปได้ว่า หลักการที่สำคัญของกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คือ การห้ามปฏิเสธความสมบูรณ์ของข้อมูลเพียงเพราะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกฎหมายมีเจตนารมณ์ในการเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงเจตนาของบุคคลที่กระทำลงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจกล่าวได้ว่า การบัญญัติกฎหมายธุรกรรมฯ ก็เพื่อให้มีหน้าที่รองรับสถานะของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นเอง ซึ่งกฎหมายจะต้องยึดหลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology Neutrality) โดยไม่เลือกเทคโนโลยีใดเป็นการเฉพาะหากเทคโนโลยีที่ใช้นั้นสามารถสร้างมาตรฐานทางเทคโนโลยีได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลจะจัดทำข้อมูลโดยบันทึกลงบนกระดาษ หรือบันทึกผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากคู่สัญญาได้ทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดแล้ว ย่อมมีผลในทางกฎหมายไม่ต่างกัน

*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน