อนาคตไทยหลังโควิด-19

อนาคตไทยหลังโควิด-19

ประเทศ องค์กร หรือบุคคล จะพัฒนาก้าวหน้าได้จำเป็นต้องมี “แผน” หรือยุทธศาสตร์ที่ดี เหมาะสมกับกาลเทศะ

กาลเทศะในที่นี้หมายรวมถึงสถานการณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การคิดโดยมีมุมมองของมิติเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตว่าทำไมเราจึงมาอยู่ที่จุดนี้  และอนาคตกำลังมุ่งไปตรงไหน

ยุทธศาสตร์ที่ดีควรต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์  COVID-19 เป็นโอกาสในวิกฤตที่เราจะรู้จักตัวเราเองดีขึ้นและวางแผนสำหรับอนาคตที่เราต้องการ

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) จึงได้ร่วมกันศึกษาจัดทำ “มองภาพอนาคตประเทศไทย: แนวทางการรับมือหลังวิกฤต COVID-19” เพื่อวิเคราะห์ฉากทัศน์ (Scenario) ที่มีโอกาสเกิดอย่างรอบด้าน  

การศึกษานี้ทำให้เราเห็นฉากทัศน์ภาพอนาคต (Scenarios) ของประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นไปได้มี 4 รูปแบบ อันเนื่องมาจากปัจจัยที่มีความไม่แน่นอน 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านการควบคุมโรคระบาด ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งหากเปรียบภาพอนาคตประเทศเป็นการเดินทางแล้วนั้น เส้นทางต่างๆ ที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญมี 4 เส้นทางดังนี้ “ซิ่งทางด่วน” (Rosy Scenario) “หลงป่า ติดหล่ม” (Doomsday Scenario) “วิ่งเลียบผา” (Risky Business)  และ “ลากเกียร์ต่ำ” (Slow but Sure) 

ในการจัดทำภาพอนาคตทำให้เรามองไปข้างหน้าอย่างรอบด้าน  ทำให้เราจะได้เห็นทั้งภาพอนาคตที่ดีที่เราฝันอยากให้เกิดขึ้น รวมถึงภาพอนาคตที่ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ค่อนข้างเลวร้าย ความสำเร็จจากการคาดการณ์อนาคตจึงไม่ใช่การคาดการณ์ได้แม่นเพียงเท่านั้น  แต่ที่สำคัญคือ เมื่อเราคาดการณ์ได้ว่ามีโอกาสเกิดภาพอนาคตที่เลวร้าย เราควรดำเนินการเปลี่ยนอนาคต และคิดจะเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้

การมองภาพอนาคตเช่นนี้ จะช่วยให้เราวางยุทธศาสตร์และได้เตรียมความพร้อมรับกับทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากทัศน์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเกิดผลกระทบอย่างสูง การตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของอนาคต

เราจำเป็นต้องเปลี่ยน “วิกฤต” เป็น “โอกาส” ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราจำเป็นต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วน ทั้งในการแก้ปัญหาระยะสั้น และเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ตัวอย่างเช่น

  • เรื่องการบรรเทาผลกระทบและช่วยในการปรับตัว การช่วยเหลือเยียวยา เพิ่มสภาพคล่องด้วยการลด-ละ-เลื่อนค่าใช้จ่าย และให้เงินช่วยเหลืออย่างตรงจุด สนับสนุนการจ้างงาน สร้างงานใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ ช่วยปรับตัวและสร้างโอกาสใหม่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย
  • การยกระดับทักษะแรงงานและพัฒนาทุนมนุษย์ ทั้งในเรื่องยกระดับทักษะแรงงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Reskill & Upskill) ส่งเสริมการพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์อนาคต (Future Skill) พัฒนาทุนมนุษย์และความเป็นผู้ประกอบการในสาขาต่างๆ อาทิ พัฒนา Smart Farmer ส่งเสริม Startup และผู้ประกอบการรุ่นใหม่
  • การเปลี่ยนผ่านธุรกิจและกิจกรรมสู่โลกดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและกิจกรรมออนไลน์สำหรับภาคธุรกิจต่างๆ ลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ด้วยการสนับสนุนอย่างทั่วถึง
  • การบูรณาการข้อมูลเพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างระบบข้อมูลสำหรับการลดปัญหาความยากจนอย่างตรงจุด (Targeting Poverty Eradication) พัฒนาระบบลงทะเบียนสำหรับการช่วยเหลือเยียวยาในช่วงวิกฤตที่ทันท่วงที

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปิดโอกาสในการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ประเทศจึงต้องนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบระบบเพื่อนำ Big Data  บริหารจัดการการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องเน้นการวิจัย การพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค (ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/report/6300/)

ในช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 เช่นนี้ทำให้ประเทศไทยต้องทบทวนว่า เราพึ่งพาตลาดการท่องเที่ยวแบบเดียวมากเกินไปใช่หรือไม่  เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้คนปริมาณมากเหล่านั้นเดินทางมาไม่ได้ ก็ทำให้เศรษฐกิจเราหยุดชะงักไปเลย  นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประเทศไทยต้องทบทวน  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องขบคิด รวมไปถึงโจทย์อีกหลายๆโจทย์ อนาคตยุคหลังโควิด ไม่มี “แพลตฟอร์มนโยบาย (Policy Platform)” ไม่ได้แล้ว  แพลตฟอร์มนโยบายเป็นหัวใจสำคัญในการร่วมสร้างนโยบายสาธารณะที่ดีและจะเป็นคำตอบสำหรับประเทศไทย 

วิกฤตเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็อย่าได้ปล่อยให้ผ่านเลยไปแบบไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เราอยากพลิกวิกฤตเป็นโอกาส  มิเช่นนั้นแล้วเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปจะหลงเหลือไว้เพียงแต่ความสูญเสียและสูญเปล่า

*บทความโดย ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์และประกาย ธีระวัฒนากุล สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation