ส่องปัจจัยเศรษฐกิจไทยปี 64 “ฟื้นตัว”หรือ“ฟุบยาว”
เหลืออีกเพียง 4 วันเท่านั้นก็จะเข้าสู่ศักราชใหม่ 2564 เป็นปีที่ทุกคนต่างตั้งความหวังว่าเรื่องราวต่างๆจะต้องดีขึ้นกว่าปี 2563 ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะในเรื่องโควิด -19 ที่คาดหวังว่าการระบาดจะลดลงเนื่องจากการแพร่กระจายวัคซีนไปยังประชากรโลกทำได้มากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่คาดว่าจะได้รับวัคซีนโควิดในช่วงกลางปี
อีกความหวังหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ก็คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศหลังจากที่ในปีนี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 4.9% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวประมาณ 6% ตามการคาดการณ์ของสภาพัฒน์
ส่วนในปี 2564มีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะสดใสขึ้นโดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ถึง 5.2% ส่วนเศรษฐกิจไทยสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4%โดยมีบางคนในรัฐบาลอย่างรองนายกฯและรมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์มีมุมมองที่บวกต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามากกว่าค่าเฉลี่ยโดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 4% โดยมีเงื่อนไขของวัคซีนโควิด-19 เป็นกุญแจสำคัญ
แม้มุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับประเทศจะค่อนไปทางบวกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว หากแต่ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัวซึ่งยังมีหลายภาคส่วนที่เปราะบางและไม่พร้อมจะรับแรงกระแทกหากเกิดวิกฤตขึ้นอีกจะต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวนานกว่าปกติ
วันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า เนื้อหาของการสนทนานอกจากเรื่องการระบาดของโควิด-19 ที่การระบาดรอบใหม่กระทบกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเห็นจากเคสการแพร่ระบาดจากตลาดอาหารทะเลในสมุทรสาครซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วส่งผลต่อเนื่องถึงการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นด้วย
ส่วนประเด็นอื่นๆที่มีการหารือกันได้แก่การแก้ปัญหาภัยแล้งการรักษาระดับการจ้างงานการฟื้นตัวของแต่ละอุตสาหกรรมที่ระดับการฟื้นตัวไม่เท่ากัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลการทบทวนหลักการของพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น
ขณะที่สภาพัฒน์ได้รายงานข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในปี 64 ไว้ 4 ประเด็นได้แก่ 1.ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-192
2.เงื่อนไของการจ้างงานและฐานะการเงินของภาคครัวเรือนโดยเฉพาะประเด็นหนี้ครัวเรือนที่เกิน 83%ของจีดีพีแล้วในปัจจุบัน
3.ความเสี่ยงด้านสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ต้องระมัดระวังจะกระทบรายได้ของเกษตรกรได้
4.ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างมากต้องจับตาทั้งจากนโยบายของโจ ไบเดนประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ และสงครามการค้าที่ยังคงดำเนินต่อไป
และ5.บรรยากาศทางการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาว่าจะกระทบกับบรรยากาศทางเศรษฐกิจได้อีกหรือไม่
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจกระทบกับเศรษฐกิจไทยในปีหน้าและทำให้เศรษฐกิจไทยที่กำลังจะ“ฟื้น”กลายเป็น“ฟุบ”ได้
...จำเป็นที่ต้องเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ