ตกลงกันก่อนแก้ปัญหา
ปัญหาซำ้ซากเกิดขึ้นเสมอ เพียงแต่ปัญหาเก่าแก่ของคนหนึ่ง อาจดูเป็นปัญหาใหม่ของอีกคนหนึ่ง
ใครที่เคยฝึกวิจัยกันมาคงยังจำประโยคว่า Standing on the shoulders of giants กันได้ ซึ่งเป็นคำเตือนใจว่า อย่ามัวแต่ไปเริ่มต้นจากศูนย์ในการทำวิจัยใดๆ แต่ควรไปสำรวจดูที่คนอื่นเขาทำไว้ให้ทั่วถึงเสียก่อน จะได้ไม่เสียเวลาไปกับการค้นหาล้อที่คนอื่นเขาประดิษฐ์กันไว้แล้ว เอาสติปัญญามาดัดแปลงคำตอบของปัญหาคล้ายกันของคนอื่น มาเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในบริบทของเราจะดีกว่า
แต่แม้ว่าจะรู้กันดีว่าปัญหาใหม่ของเรา คือปัญหาเก่าของคนอื่น คนจำนวนไม่น้อยก็ยอมลองผิดลองถูกในการจัดการปัญหานั้น เพียงแค่ตระหนักผิดไปว่าตัวฉันไม่เหมือนใครในโลก ฉันมีดีของฉันเกินกว่าที่คนอื่นจะมี ปัญหาเดิมที่คนอื่นเขามีวิธีแก้ไขกันไปแล้ว จึงสามารถกลายเป็นปัญหาซำ้ซากในบางบ้านเมืองได้อย่างยาวนาน เพียงเพราะผู้นำของบ้านเมืองนั้นสะกดจิตตนเองอย่างสม่ำเสมอว่า บ้านฉันไม่เหมือนใคร และไม่ยอมรับหนทางแก้ปัญหาจากบ้านอื่นมาใช้ในบ้านตนเอง หรือแม้ว่าจะหยิบวิธีการของคนอื่นมาใช้ก็ต้องดัดแปลงจนแทบจำหน้าตาดั่งเดิมไม่ได้ ประสิทธิผลในการใช้แก้ปัญหาจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่อย
ดังนั้น ข้อตกลงข้อแรกในการแก้ปัญหาให้ดีที่สุดคือ เราไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่นไปหมดทุกเรื่อง ยังมีอีกหลายอย่างที่เราไม่แตกต่างไปจากเขา ยอมรับให้ได้ว่าตรงไหนที่เราไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น แล้วเริ่มต้นแก้ปัญหาจากตรงนั้น โดยดัดแปลงวิธีการที่ได้ผลของคนอื่นเขามาใช้ วิธีแก้ปัญหาทุกเรื่องมีทั้งผลบวกและผลลบ มีแค่โลกในอุดมคติเท่านั้น ที่การแก้ปัญหามีแต่ได้ ไม่มีเสียอะไรสักอย่าง
ข้อตกลงข้อสองสำหรับการได้วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ทุกหนทางในการแก้ปัญหา คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์แน่ ๆ แต่ต้องมีบางคนเสียประโยชน์ไปบ้าง ดังนั้น อย่าพยายามให้ทุกคนได้ดั่งใจ แต่พยายามให้คนที่เสียนั้น เสียน้อยที่สุด เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้ ถ้าไม่มีข้อตกลงนี้ ทุกวิธีแก้ปัญหาจะเป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น เพียงเพราะวิธีเหล่านั้นทำให้เกิดผลด้านลบกับใครบางคน
ข้อตกลงนี้จะเกิดขึ้นได้ ผู้คนกลุ่มนั้นต้องมีความเป็นผู้ใหญ่พอสมควร รู้จักยอมเสีย รู้จักการชดเชย จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นผู้คนแบบอัตตาภิวัฒน์ ก็จะตกลงกันไม่ได้ ส่งผลให้ที่นั่นเต็มไปด้วยปัญหาเก่าๆอย่างซำ้ซาก เพราะไม่วิธีแก้ปัญหาที่ได้ดั่งใจของทุกคน ยอมให้ทุกคนทุกข์ ตราบเท่าที่ฉันไม่สุข
วิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้ผลกับปัญหาใหญ่ๆ มักมีขั้นตอนบางขั้นตอนที่ใช้หลักการที่ไม่สอดคล้องกัน ขั้นตอนหนึ่งเน้นการประหยัดทรัพยากร อีกขั้นตอนหนึ่งกลับใช้ทรัพยากรมากมาย เพราะขั้นตอนนั้นต้องการให้เสร็จสิ้นในเวลารวดเร็ว หมดเท่าไรก็ต้องจ่าย หากเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ข้อตกลงข้อสามคือ ยอมรับว่าแต่ละขั้นตอนการแก้ปัญหา สามารถใช้หลักการที่แตกต่างกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิผลของการแก้ปัญหาในช่วงขั้นตอนนั้น อย่ามัวแต่ยึดหลักการของตนเพียงหลักการเดียวไปจับทุกขั้นตอนของการแก้ปัญหา ไม่เช่นนั้นจะหมดเวลาไปกับการถกเถียงกันว่าหลักการเป็นอย่างไร จนได้วิธีการแก้ปัญหามาใช้ไม่ทันการเติบโตของปัญหา
สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ย่อมมีพลั้งได้บ้าง ข้อตกลงข้อที่สี่ คือ การแก้ปัญหาย่อมมีการสูญเสียทรัพยากรไปกับงานที่ไม่ได้ผลบ้าง คือแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ๆ ก็มีลองผิดลองถูกบ้าง เพียงแต่ลองผิดอย่าให้มากเกินไปนักก็พอแล้ว ไม่เกิดประโยชน์ใดเลยกับการหยุดแก้ปัญหาเร่งด่วนที่เจออยู่ตรงหน้า เพื่อมานั่งตรึกตรองว่าทำแล้วได้ผลทุกอย่างแน่ๆ เพื่อให้ทุกอย่างทุกชิ้นไม่มีเสียเปล่าเลย ไปไล่ตรวจโรคระบาดกันอยู่ กลับมาต้องกังวลว่าออกนอกเขตพื้นที่ของหน่วยงานหรือเปล่า เดี่ยวจะเป็นการใช้ทรัพยากรนอกพื้นที่ที่หน่วยงานได้รับมอบหมาย
ถ้านึกถึงปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นซำ้ซาก ทั้งๆ ที่มีหนทางแก้ปัญหานั้นใช้มาได้ผลแล้วในโลกนี้ ให้ลองทบทวนดูว่ามีข้อตกลงใดบ้างที่ตกลงกันไม่ได้ จะพบว่าความล้มเหลวไม่ได้อยู่ที่ “คนทำ” แต่อยู่ที่ “คนนำ” เป็นส่วนใหญ่