อนาคตชีวิตการอยู่อาศัยเมืองในประเทศไทย (2)
ผู้เขียนเคยฉายภาพอนาคตการอยู่อาศัยในเมืองเป็น 4 ฉากทัศน์ ได้แก่ รังไหมในชั้นคอนกรีต โพรงนกฮูกในป่าดิบ เหล่ากระตายในถ้ำใต้ทะเล เมืองนกกระจาบ
พร้อมทั้งได้นำเสนออนาคตที่พึงประสงค์ไว้คือ ฉากทัศน์ที่ 4 เมืองนกกระจาบ เป็นภาพอนาคตอันพึงประสงค์ (preferable future) ที่สุดของมหานครกรุงเทพ เมื่อประเมินจากความยั่งยืน ความเป็นธรรมและประสิทธิภาพ โดยฉากทัศน์นี้มีภาพสำคัญคือ ผู้คนอาศัยอยู่ใกล้แหล่งงานในที่อยู่อาศัยแนวตั้งร่วมกับสมาชิกครอบครัว ซึ่งอาจเป็นครอบครัวแบบดั้งเดิมหรือสมัยใหม่ มีการแบ่งหน้าที่ พื้นที่และทรัพยากรกันเช่นเดียวกับนกกระจาบสังคมที่อยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่และแบ่งพื้นที่ในรังเพื่อใช้ร่วมกันอย่างเป็นสัดส่วน
ในฉากนี้ที่ดินในเมืองที่ไม่ถูกใช้งานอย่างเต็มศักยภาพจะถูกปรับเป็นอาคารสูงที่มีการใช้งานแบบผสมผสานด้านล่างเป็นสำนักงาน สถานที่ราชการ ร้านค้า และด้านบนเป็นคอนโดอยู่อาศัย คอนโดประกอบด้วยห้องขนาดเล็กสำหรับครอบครัวพร้อมพื้นที่ส่วนกลางที่หลากหลายและมีจำนวนมาก มีราคาที่สามารถเข้าถึงได้ คนในคอนโดมีสังคมละแวกบ้านที่เหนียวแน่น มีของส่วนตัวน้อยลงและพึ่งพาทรัพยากรและบริการสาธารณะใกล้บ้านมากขึ้น
ข้อเสนอเพื่อรับมือกับภาพอนาคตฐานของการอยู่อาศัยแนวตั้งมี 7 แนวทาง ได้แก่ 1) คอนโดเก่าแต่ไม่แก่ 2) การเช่ารูปแบบใหม่ที่สร้างความมั่นใจสำหรับทุกฝ่าย สร้างกติกาตัวเอง 3) ห้องเล็กอย่างพอดีและมีคุณภาพ 4) สร้างพื้นที่สำหรับทุกรุ่นทุกวัยในตึกสูง 5) อยู่คนเดียวได้อย่างปลอดภัย สบายใจและไม่โดดเดี่ยว 6) คอนโดที่ไม่มองข้ามพื้นที่กินเพื่ออยู่และพื้นที่อยู่เพื่อกิน และ 7) ทุกคนมีพื้นที่อยู่อาศัยในยุคที่พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยกลายเป็นบริการ เช่น บูรณาการพื้นที่สาธารณะเมืองให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ส่วนกลางเพื่อการใช้ชีวิตและเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ พัฒนาบริการพื้นที่ใช้ชีวิตที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้
จากการวิเคราะห์จุดแข็งและความท้าทายในฉากทัศน์อนาคตพึงประสงค์ ทำให้ได้ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์หลักที่จะนำพามหานครกรุงเทพไปสู่อนาคตการอยู่อาศัยที่พึงประสงค์คือ ยุทธศาสตร์ปลูกเมืองให้เป็นบ้าน : เติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์ประกอบเชิงพื้นที่และเชิงสังคมของเมืองให้น่าอยู่ระยะยาว (Cultivate the city a sense of home: replenishing and strengthening urban spatial and social fabric to support long-term living in the city) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ประการ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารสู่การสร้างเมืองทันใจ (instant city) เป็นยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนให้เกิดการอยู่อาศัยที่หนาแน่นอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่กลางเมือง ลดการเดินทางและทำให้ผู้คนเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย คือ 1) บ้านใกล้งาน และ 2) สาธารณูปการใกล้ตัว ทั้งสองยุทธศาสตร์นี้นอกจากจะทำให้คนเมืองสามารถใช้เวลาในแต่ละวันได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรเมืองเป็นไปอย่างคุ้มค่าขึ้นอีกด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างระบบนิเวศการอยู่อาศัยแบบรวมหมู่ (ecosystem of collectiveness) เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการแก้ปัญหาความเปราะบางของโครงข่ายทางสังคมของคนเมือง โดยการผลักดันให้การอยู่อาศัยแนวตั้งมีการก่อตัวของโครงข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการพึ่งพาตัวเองและเกิดการผลักดันโครงการต่างๆ จากล่างขึ้นบน (buttom-up) มากขึ้น
โดยมียุทธศาสตร์ย่อยคือ 1) อยู่คอนโดกับครอบครัวได้ และ 2) กระชับความสัมพันธ์ชุมชนแนวตั้งในระดับย่าน ซึ่งจะทำให้เกิดชุมชนแนวตั้งรูปแบบใหม่ที่สามารถพึ่งพากันเองได้ มีโครงข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งและช่วยลดภาระของภาครัฐ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อการอยู่อาศัยที่ทุกคนเข้าถึงได้ (urbanites public database) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเป็นเครื่องมือช่วยทำให้ยุทธศาสตร์อื่นดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การบริหารที่แม่นยำยิ่งขึ้น
โดยประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย คือ 1) สร้างฐานข้อมูลการอยู่อาศัยที่ครบครันและเชื่อมโยงกัน 2) พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เชื่อถือได้และใช้งานสะดวก ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถบริหารทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดได้อย่างเป็นธรรม สามารถตัดสินใจการบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และทำให้คนเมืองใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัยได้อย่างทั่วถึง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกระดับสำหรับคนทุกกลุ่ม (Never go green alone) จะทำให้เมืองที่หนาแน่นสูงเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้คน โดยมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างใหญ่ที่เกินความสามารถของปัจเจกบุคคล
ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย คือ 1) ผลักดันการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน 2) บูรณาการพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวของที่อยู่อาศัยและเมืองให้เป็นระบบเดียวกัน และ 3) ลดการใช้พลังงานในที่อยู่อาศัย
ผลลัพธ์สำคัญของงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า อนาคตของการอยู่อาศัยในเมืองมีความเป็นไปได้ที่หลากหลาย และล้วนเชื่อมโยงกับปัจจัยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของเมืองในทุกด้านอย่างเป็นระบบ
การคาดการณ์ผ่านฉากทัศน์อนาคตแต่ละรูปแบบที่ได้นำเสนอผ่านงานวิจัยนี้ จะช่วยให้ภาครัฐสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างที่อยู่อาศัย การอยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้อย่างคลอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนนโยบายรองรับการอยู่อาศัยในอนาคตของมหานครกรุงเทพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรมสำหรับคนทุกกลุ่ม
ถ้าเราอยากมีชีวิตในเมืองน่าอยู่ในอนาคต ก็ต้องเริ่มผลักดันยุทธศาสตร์เหล่านี้ตั้งแต่วันนี้!
โปรดติดตามรายงานฉบับเต็มใน www.khonthai4-0.net
*บทความโดย ภัณฑิรา จูละยานนท์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย