ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น
ผมจำได้ว่า วันที่ผมสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ (พ.ศ.2516) คุณพ่อผมยังใช้ “ลูกคิด” ในการทำมาค้าขายอยู่เลย
ทุกวันนี้ผมยังจำเสียงลูกคิดที่ดีดโดนกันได้อย่างแม่นยำ ยิ่งดีดลูกคิดดังรัวและนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งหมายถึง “รายได้” จากการขายดีมากเท่านั้น
ผมใช้ Slide Rule เมื่อเรียนวิศวะปีหนึ่ง ตอนนั้นเครื่องคิดเลขยังไม่มี ผมใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องประมวลผลขนาดใหญ่กว่าตึกแถวสองห้องตอนปีสาม และใช้อุปกรณ์ต่างๆ อีกมากมายที่จัดว่าทันสมัยในสมัยนั้น ซึ่งไม่มีให้เห็นอีกแล้วในสมัยนี้
ใครจะไปเชื่อว่าจนถึงวันนี้ (เกือบ 50 ปีแล้ว) เทคโนโลยีของโลกจะเปลี่ยนไปมากถึงขนาดนี้ เพราะมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้มากมาย จนโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตแล้ว
วันนี้ แม้บทบาทของ “ผู้นำ” จะเปลี่ยนไป แต่คุณสมบัติของผู้นำ และเนื้อหาสาระก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก (อาทิ ต้องเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ต้องมีอำนาจ ต้องกล้าตัดสินใจ มีความเด็ดขาด มีความเมตตา มีความเฉลียวฉลาด และอื่นๆ อีกมากมาย)
เรื่องที่สำคัญของ “ผู้นำ” ก็คือต้องมี “ผู้ตาม” และต้องเป็นผู้ตามที่มีความเชื่อถือศรัทธาในตัวผู้นำอย่างแท้จริงด้วย (โดยเต็มใจที่จะปฏิบัติตามที่ผู้นำสั่งการหรือมอบหมาย) เพื่อร่วมกันทำการใดๆ ให้สำเร็จผลตามที่คาดการณ์ไว้
ดังนั้น เรามักจะวัดความสามารถของผู้นำหรือผู้บริหารได้จาก “ความสำเร็จ” ในผลงานหรือโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากร เครื่องจักรอุปกรณ์และสภาพแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงความสามารถในการนำ “ทีมงาน” หรือ “ผู้ร่วมงาน” (ผู้ตาม) ด้วย
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิธีคิดวิธีการบริหารก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ทำให้ “การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง” (Change Management) มีความสำคัญมากขึ้นทุกที เพื่อการปรับเปลี่ยนองค์กรและโครงสร้างให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้บรรลุผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ (อาทิ รายได้ กำไร ความสามัคคี ความมั่นคง การอยู่ดีกินดี เป็นต้น)
ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ผมเชื่อว่า “ผู้นำ” ยุคไหนๆ (ตั้งแต่ผู้นำยุคแรกจนถึงผู้นำทุกวันนี้) ก็มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน คือ ต่างต้องหาวิธีบริหารจัดการ (ทำการต่างๆ) เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
แต่ “ผู้นำยุคสุดท้าย” ต่อจากนี้ไป นอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” แล้ว ยังจะต้องให้ความสำคัญกับ “ส่วนรวม” และ “สังคม” มากขึ้นด้วย
ผู้นำในวันนี้ จึงไม่เพียงแต่จะต้องนำพาองค์กรไปสู่ผลสัมฤทธิ์หรือความสำเร็จขององค์กรเท่านั้น แต่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียและสังคมด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน (ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง)
ภาระที่เพิ่มมากขึ้นและหนักมากขึ้นเช่นนี้จะสำเร็จลุล่วงได้ จึงอยู่ที่ “ผู้นำสูงสุด” ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลขององค์กรเท่านั้น
วันเวลาที่ผ่านไป ยิ่งทำให้ผมเชื่อว่า ผู้ที่สามารถทำอะไรได้ตามที่อยากทำ หรือทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ในองค์กร หรืออยากให้องค์กรเป็นอย่างไร เขาผู้นั้นจะต้องเป็น “ผู้บริหารสูงสุด” ขององค์กรเท่านั้น (ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่) คือ เขาต้องอยู่ในตำแหน่งสูงสุดหรือเป็นหมายเลข 1 ขององค์กรเท่านั้น ส่วนผู้ที่อยู่ตำแหน่งรองลงมา (หมายเลข 2 หรือ 3) จะไม่มีความหมายใดๆ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำอะไรให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย
สรุปได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ ผู้ที่จะทำอะไรๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ ต้องอยู่ในตำแหน่งสูงสุดที่สามารถ “ทุบโต๊ะได้” เท่านั้น
แต่ทุกวันนี้ ถึงเป็นผู้บริหารสูงสุด ก็ใช่จะทุบโต๊ะเอาได้ง่ายๆ เพราะ “การมีส่วนร่วมของทีมงาน” จะมีความสำคัญมากขึ้นทุกที ครับผม !