ยุทธศาสตร์การพัฒนา ‘สุขสภาพ (Wellness)’ เพื่อการสร้างชาติ
อุตสาหกรรม Wellness มีความสำคัญและน่าสนใจยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์ เมื่อผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ เน้นการป้องกันแทนการรักษาโรค
โลกกำลังเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสุขภาพ โดยผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ เน้นการป้องกันแทนการรักษาโรค สนใจการชะลอวัยและการมีอายุยืนมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านบริการสุขภาพและความงาม ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรม Wellness จึงมีความสำคัญและน่าสนใจยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์
Wellness หรือที่ผมบัญญัติศัพท์ว่า “สุขสภาพ” หมายถึง สภาพ (state) ที่มนุษย์ มีชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข เป็นสภาพที่เกิดจากการบูรณาการขององค์ประกอบต่าง ๆ ของมนุษย์ ทั้งร่างกาย จิตใจ ความคิด ความจดจ่อ จิตวิญญาณ รวมถึง พฤติกรรมและปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก
การส่งเสริมสุขสภาพจึงไม่ใช่เพียงการส่งเสริมบริการเฉพาะด้านเท่านั้น การพัฒนาสุขสภาพต้องพิจารณาอย่างบูรณาการ ซึ่งผมได้จัดทำข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขสภาพเพื่อการสร้างชาติ ดังต่อไปนี้
ประการที่ 1 พัฒนาดัชนีวัดกิจกรรมสุขสภาพ
ปัจจุบัน นิยามของคำว่าสุขสภาพยังกระจุกตัวอยู่ที่บางกิจกรรมเท่านั้น แม้แต่ในกรอบแนวคิดขององค์กรระดับโลกด้านสุขสภาพ (GWI) ก็ตาม ยังมีขอบเขตที่จำกัด โดยเน้นสุขสภาพด้านกายภาพ (physical wellness) เป็นหลัก จึงทำให้การส่งเสริมเศรษฐกิจสุขสภาพ (wellness economy) ยังไม่ครอบคลุม หลายกิจกรรมที่อาจเข้าข่ายสุขสภาพไม่ถูกรวมเข้ามาในเศรษฐกิจสุขสภาพ ทำให้ธุรกิจสุขสภาพที่ไม่ได้ถูกรวมเข้ามา ไม่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและอาจทำให้ไม่สามารถวัดมูลค่าที่แท้จริงในตลาดสุขสภาพได้
ผมจึงเสนอว่า เราควรพัฒนาดัชนีสุขสภาพ (Wellness Index) และบัญชีกิจกรรมสุขสภาพแบบมวลรวม (คล้ายกับ GDP) เพื่อรวบรวมข้อมูลกิจกรรมด้านสุขสภาพทั้งหมด และพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อการวิเคราะห์ วิจัยกิจกรรมสุขสภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายส่งเสริมสุขสภาพอย่างครบวงจร
ประการที่ 2 พัฒนาระบบนิเวศสุขสภาพครอบคลุม ครบวงจร
ประเทศไทยควรตั้งเป้าพัฒนาระบบนิเวศของสุขสภาพอย่างครอบคลุม
- ทุกขั้นตอน (Stage) ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน ตรวจ รักษา ฟื้นฟู ดูแลสุขสภาพ
- ทุกรูปแบบ (Pattern) ทั้งแพทย์แผนไทย แผนปัจจุบัน และแพทย์ทางเลือกทุกแผน
- ทุกมิติ (Dimension) ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกบุคคล (จุลภาค)หรือระดับสังคม (มหภาค)
- ทุกกิจกรรม (Activity) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โดยส่งเสริมผู้ประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ ให้ร่วมพัฒนากิจกรรมสุขสภาพ ทั้งการลงทุน การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ และพัฒนาแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจสุขสภาพ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับบริการสุขสภาพรูปแบบใหม่
ยกตัวอย่าง ธุรกิจจัดระเบียบความฝัน Dream Reality Cinema ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้นำผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้านความฝันของมนุษย์มาสร้างธุรกิจ ผ่านการจำลองสถานการณ์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความฝันที่สร้างความสุข ช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่หลับ ลดความเครียด กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ
ประการที่ 3 จัดตั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสุขสภาพระดับโลก
การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านสุขสภาพของโลก จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยระดับโลก โดยทำหน้าที่รวบรวมและจัดระบบองค์ความรู้ด้านสุขสภาพจากทั่วโลก ส่งบุคลากรไปศึกษาด้านสุขสภาพทั่วโลกอย่างลงลึก รวมทั้งดึงผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาทำการสอนและพัฒนาหลักสูตรบูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาด้านสุขสภาพ
ในการนี้สถาบันการสร้างชาติมีดำริมาหลายปีแล้วจะให้เกิดสถาบันนี้และหลักสูตรในระบบนอกระบบและตามอัธยาสัยที่เกี่ยวกับสุขสภาพและการสร้างชาติ ในมหาวิทยาลัยการสร้างชาติในที่สุด
ประการที่ 4 พัฒนามาตรฐานกิจกรรมสุขสภาพ
ปัญหาด้านสุขสภาพที่พบในประเทศไทย คือ ยังไปไม่ถึงมาตรฐานระดับสากล โดยเฉพาะองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยจำนวนมากยังขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับมากพอ การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรขาดการต่อยอดเชิงพาณิชย์ บุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและแพทย์แผนไทยยังมีจำกัด เกษตรกรที่มีความรู้ในการปลูกสมุนไพรยังมีจำกัด และอุตสาหกรรมยาสมุนไพรที่ได้ GMP ยังอยู่ในระดับต่ำ
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเป็นวิทยาศาสตร์ของกิจกรรมสุขสภาพ (Wellness Scientification) โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อทำการวิจัย การทดสอบมาตรฐาน และออกตรารับรอง (Wellness Standardization) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสินค้าและบริการด้านสุขสภาพ และประสานพลังความรู้ด้านสุขสภาพที่ได้มาตรฐานแล้ว (Wellness Synergization) ให้บุคลากรทางการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาแก่คนไข้ รวมถึงเปิดพื้นที่ในโรงพยาบาลเพื่อให้บริการด้านสุขสภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเทศไทยควรผลักดันให้องค์การอนามัยโลกรับรองแพทย์แผนไทย ให้เป็นศาสตร์การแพทย์ทางเลือกที่รักษาได้จริง และเป็นวิทยาศาสตร์ อันเป็นการส่งสัญญาณถึงมาตรฐานด้านสุขสภาพ (Wellness Signaling) ที่ประเทศไทยมีอยู่
ประการที่ 5 บูรณาการสุขสภาพกับจุดแกร่งด้านอื่น (Wellness Integration)
ประเทศไทยควรส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมด้านสุขสภาพ โดยการบูรณาการหรือผสมผสานกิจกรรมสุขสภาพในมิติต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งสุขสภาพทางกาย ใจ จิต และสุขสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดความหลากหลาย ความน่าสนใจ ความแตกต่าง และสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจกรรมสุขสภาพได้มากขึ้น
นอกจากนี้ กิจกรรมสุขสภาพอาจนำไปบูรณาการร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นจุดแกร่งของประเทศ ได้แก่ อาหาร การท่องเที่ยว และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้เกิดกิจกรรมได้อย่างน้อย 7 แบบหลัก คือ
(1) Food Wellness: อาหารเพื่อสุขสภาพ
(2) Wellness Tourism: การท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพ
(3) Elderly Wellness: กิจกรรมสุขสภาพเพื่อผู้สูงอายุ
(4) Food Wellness Tourism: การท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพ
(5) Food Wellness for Senior: อาหารเพื่อสุขสภาพสำหรับผู้สูงอายุ
(6) Wellness Tourism for Senior: การท่องเที่ยวเชิงสุขสภาพสำหรับผู้สูงอายุ
(7) Food Wellness Tourism for Senior: การท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อสุขสภาพสำหรับผู้สูงอายุ
ประการที่ 6 สร้างอุปสงค์ทางสุขสภาพ
อุปสงค์ด้านสุขสภาพในปัจจุบันมักมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องสร้าง อุปสงค์ในประเทศด้วย เพื่อให้อุตสาหกรรมมีความต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาความรู้ด้านสุขสภาพ (Wellness Literacy) แก่ประชาชน การพัฒนาวิธีการตรวจสุขสภาพของบุคคล การนำเข้านักท่องเที่ยวระยะยาว การอุดหนุนกิจกรรมสุขสภาพที่เป็นประโยชน์ แต่ยังไม่สามารถทำเป็นเชิงพาณิชย์ได้ เป็นต้น
ประการที่ 7 พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขสภาพ
การสร้างสุขสภาพจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้อให้บุคคลเกิดสุขสภาพตามแนวคิด ‘สุขสภาพในทุกสิ่ง’ (Wellness of Things) ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการผลิตที่ปลอดภัย กฎระเบียบที่มีประสิทธิผลในการบังคับใช้ ค่านิยมสังคมที่ให้คุณค่าการมีสุขสภาพที่ดี วัฒนธรรมประเพณีที่เอื้อและส่งเสริมสุขสภาพ รวมถึงการพัฒนาสถาบันที่สานต่อระบบสุขสภาพ
การพัฒนาสุขสภาพไม่ใช่เพียงการพัฒนาบริการบางด้านเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาสุขสภาพของประชาชนทั้งหมด โดยพิจารณาอย่างครอบคลุมทุกมิติของสุขสภาพของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เราได้รับไม่ใช่เพียงรายได้เท่านั้น แต่ได้ประชาชนที่มีความสุขด้วย////