การระบาดรอบใหม่ในมิติภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่: นัยเชิงนโยบาย

การระบาดรอบใหม่ในมิติภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่: นัยเชิงนโยบาย

เปิดปีใหม่มาแบบไม่สดใส เพราะเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และยังคงส่งผลสืบเนื่องในเชิงลบต่อคนไทยและเศรษฐกิจมาถึงปีนี้

ล่าสุดทาง ศบค. ก็ต้องประกาศแบ่งพื้นที่ตามมาตรการคุมโควิด-19 ที่ระบาดรอบใหม่นี้ออกเป็น

(1) พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และ ตราด ที่ให้มีการกวดขันเรื่องการเดินทางเข้าออกระหว่างจังหวัดอย่างเข้มงวดมากขึ้น

และ (2) พื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 28 จังหวัดที่ให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมทั้งห้ามนั่งบริโภคในร้านอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่เวลา 21.00-06.00 น. โดยให้งดเดินทางข้ามพื้นที่เว้นแต่เหตุจำเป็น หรือขนส่งสินค้า เป็นต้น

ตัวเลขของ ศบค. ที่ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสมรวมของไทยที่พุ่งทะลุไปมากกว่าหนึ่งหมื่นรายแล้วในวันที่ 10 มกราคม 2564 นั้น (ดูรูปประกอบ)  แม้สามารถสนับสนุนความจำเป็นในการประกาศพื้นที่ควบคุมโควิด-19 เพื่อควบคุมการระบาดของโรคในรอบนี้ได้ก็ตาม

161046532149

แต่มาตรการเหล่านี้ย่อมจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ คำถามยอดฮิตที่หลายฝ่ายเริ่มตั้งถามกับภาครัฐที่ผ่านมา จึงหนีไม่พ้นเรื่อง มาตรการชดเชยแบบเจาะตรงไปที่กลุ่มเป้าหมายแบบไม่เหวี่ยงแห ว่ามีอะไรบ้าง (นอกเหนือไปจากการขยายมาตรการแบ่งกันคนละครึ่งที่ใช้อยู่ในเวลานี้แล้ว)

          พวกเราทุกคนต่างก็รู้ดี (โดยไม่ต้องมีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์) ว่า เศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ย่อมมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันแน่นอนไม่มากก็น้อย แต่โจทย์ที่ยากกว่านั้นก็คือว่า ภาครัฐควรจะให้การชดเชยที่แตกต่างกันแก่ประชาชนในพื้นที่ควบคุมที่แตกต่างกันด้วยหรือไม่ อย่างไร และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เชิงพื้นที่อย่าง “ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่” จะช่วยให้คำอธิบายกับเราในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

          ทฤษฎีภูมิศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ ถูกพัฒนาขึ้นโดย นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (ค.ศ. 2008) พอล ครุกแมน ซึ่งอธิบายโดยสรุปรวบยอดอย่างย่อ ๆ ได้ว่า สาเหตุและพลวัตของการกระจุกตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจที่สัมพันธ์และแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่นั้น เกิดจากการที่ผลกระทบเชิงบวก (positive externalities) จากการเกาะกลุ่มของกิจกรรมในเขตเมืองที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับนั้น ได้ทวีมากขึ้นตามขนาดของการเกาะกลุ่มของกิจกรรมในเขตเมืองที่ใหญ่มากขึ้น (agglomeration) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหรือค่าเช่าที่ดินในบริเวณจุดศูนย์กลางของเมืองใหญ่อย่าง มหานครนิวยอร์ก หรือแม้แต่กรุงเทพมหานครเป็นต้นนั้น แพงลิบลิ่วอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาหรือค่าเช่าที่ดินอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไปในเมืองขนาดเล็กหรือชนบทนั่นเอง  

          แต่การระบาดของโควิด-19 ที่นำไปสู่การปิดประเทศ และการออกมาตรการควบคุมพื้นที่ของภาครัฐได้ทำให้ผลกระทบเชิงบวก (positive externalities) จากการเกาะกลุ่มของกิจกรรมในเขตเมืองนั้นหายไปบางส่วนเพราะต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม มีการปิดโรงเรียนและสถานที่หลายแห่ง และมีการทำงานที่บ้านกันมากขึ้น แต่ค่าเช่าสำนักงานและสถานประกอบการตามสัญญาก็ไม่ได้ลดลงตาม ดังนั้น นัยเชิงนโยบายที่ได้จากความรู้ข้างต้นสำหรับ  มาตรการชดเชยธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบแบบเจาะตรงตามพื้นที่ควบคุม จึงมีดังต่อไปนี้

          (ก) มาตรการชดเชยสำหรับ SMEs ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด (ซึ่งรวมถึงกรุงเทพ) เพื่อมุ่งเน้นเป้าหมายเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนั้น ควรมีเป้าหมายในระยะสั้นเพื่อช่วยให้ SMEs ในเขตเมืองใหญ่จำนวนมาก เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม และบริการอื่น ๆ ในห้างสรรพสินค้าและในย่านศูนย์กลางธุรกิจต่าง ๆ สามารถประคองตัวเองผ่านช่วงวิกฤติสั้น ๆ นี้ไปได้ โดยไม่ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน จนถึงเมื่อเราคุมโควิด-19 ได้ด้วยวัคซีนในไม่ช้าแล้ว พวก SMEs เหล่านี้ก็จะสามารถฟื้นตามเศรษฐกิจได้โดยเร็ว ดังนั้นภาครัฐอาจจำเป็นต้องช่วย SMEs ด้วยการลดค่าเช่าสถานที่ที่สูงเกินกำลังในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ โดยมีเงื่อนไขว่า SMEs เหล่านี้จะต้องไม่เลิกจ้างพนักงาน ตัวอย่างเช่น โครงการ “ช่วยค่าเช่าคนละครึ่ง” เป็นต้น (แล้วให้ภาครัฐเข้าไปร่วมรับภาระค่าเช่าที่ถูกลดลงบางส่วนกับผู้ให้เช่า) นอกจากนี้ ภาครัฐก็อาจประสานงานกับธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยลดภาระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องของ SMEs ที่ยังมีอนาคตด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารพาณิชย์เองในการลดปัญหาหนี้เสียไปในตัวด้วย และหากธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในการกำกับของภาครัฐ จะพร้อมใจกันลดระดับส่วนต่างดอกเบี้ยในระบบให้เหลือน้อยลงได้ก็คงจะดีต่อทุกฝ่ายด้วย

          (ข)  สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำนวน 5 จังหวัดนั้น ส่วนใหญ่เศรษฐกิจก็จะซบเซาไปตามการท่องเที่ยวที่หดหายไปจนเกือบเป็นศูนย์แล้ว ดังนั้นการชดเชย SMEs ด้วยมาตรการลดค่าเช่าจึงอาจไม่เป็นผลนัก ภาครัฐจึงควรหามาตรการชดเชยอื่นให้กับธุรกิจในพื้นที่เหล่านี้แทนคล้าย ๆ กับมาตรการเราไม่ทิ้งกัน เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้พวกเขาที่เสียสละถูกควบคุมเข้มงวด เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ไปยังพื้นที่อื่นนั่นเอง

          ข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ คิดว่าน่าจะเป็นทางออกของปัญหาที่คุ้มค่าเงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐมีอยู่แล้ว อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเป็นธรรมในสังคมด้วย

*บทความโดย ศ.ดร. อารยะ  ปรีชาเมตตา และ กนิษฐา หลิน กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล