ทรัพย์สินที่ครอบครองของ 2 องค์กร ทีโอที และแคท เทเลคอม เมื่อรวมกันมีมูลค่าสินทรัพย์มหาศาลถึง 3 แสนล้านบาท
ความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลไทยในหลาย 10 ปี ที่ผ่านมา ผ่านกระทรวงไอซีทีชื่อเดิมในตอนนั้นมาถึง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ต้องการให้ 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมอย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ แคท เทเลคอม ควบรวมเป็นบริษัทเดียวกันเหมือนกับในอดีตที่ก่อตั้งมา ดูจะเป็นความจริงแล้วในวันนี้
วันนี้ (7 ม.ค.64) ถือเป็นวันดีเดย์ในการจดทะเบียนตั้งบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ซึ่งได้ควบรวมเอาทีโอทีและแคท เทเลคอมมาไว้ด้วยกัน ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนอดีตที่ "ทีโอที" มีหน้าที่ให้บริการในประเทศ ส่วน "แคท เทเลคอม" ต้องออกไปหาลูกค้าต่างประเทศ เพราะวันนี้เข้าสู่ยุค "คอนเวอร์เจนท์" การทำตลาดที่ไร้พรมแดนแล้ว
ทุกอย่างดูลงล็อกและมาถูกที่ถูกเวลาในการควบรวม 2 องค์กร พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีดีอีเอส พูดไว้ว่า "ไม่อยากเห็นรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมที่มีประวัติยาวนานตั้งแต่ครั้งยังเป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข ถูกคู่แข่งเอกชน หรือถูกเทคโนโลยีดิสรัป จนกลายเป็นบริษัทที่ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต จึงต้องควบรวมกันก่อนที่ใครจะดิสรัป เราต้องทำเสียเอง" คำพูดนี้ไม่เกินจริงเลย
เพราะก่อนการมาถึงของ “กสทช.” รัฐวิสาหกิจ 2 องค์กรเปรียบได้กับ "เสือนอนกิน" ที่รับเงินค่าต๋งจากสัญญาสัมปทานของค่ายมือถือจนรวย เละ มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องทำอะไร แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบใบอนุญาตแล้ว และสัมปทานก็ทยอยสิ้นสุดลง ยุครุ่งโรจน์ที่เคยมี หายวับไปในช่วง 1-2 ปี บัญชีติดตัวแดง แสดงผลขาดทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาทในทุกปี แถมยังต้องแบกรับภาระ “ค่าจ้าง” ที่สูงลิ่วของพนักงานจนต้องมีโปรแกรมเออลี่ รีไทร์อยู่หลายรอบ
แผนแรกที่จะได้เห็นเอ็นทีหลังควบรวมกันแล้ว คือ นำเอามรดก หรือ ทรัพย์สินที่ครอบครองของ 2 องค์กรอย่างมหาศาล และครบวงจรมากที่สุด มูลค่าสินทรัพย์มากถึง 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. เสาโทรคมนาคมกว่า 25,000 ต้น 2. เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3. ถือครองคลื่นความถี่หลัก เพื่อให้บริการรวม 6 ย่านมีปริมาณ 600 เมกะเฮิรตซ์ 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,600 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงจากทุกประเทศในโลก
สุดท้ายแล้วภาพที่เนรมิตกันไว้อย่างสวยงามในอนาคตจะเป็นจริงหรือไม่ ต้องคอยดูกันยาวๆ ซึ่งผลลัพธ์นั้นมองได้ไม่ยากเพราะการทำธุรกิจยุคดิจิทัลลงลึกทุกมิติแบบนี้ คนที่ช้าและไม่พร้อมเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนไม่ทันเทคโนโลยี ย่อมไม่สามารถไปต่อได้ ได้แต่เพียงว่าหวังว่า คลื่น 5จี ที่ทั้ง 2 องค์กรเข้าไปร่วมประมูล จะสร้างรายได้ที่ยั่งยืนและทำบริการเพื่อประโยชน์ภาครัฐได้จริง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การควบรวมที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย