สิทธิที่จะถูกลืม กับคำตัดสินจากศาลยุติธรรมสูงสุดเยอรมนี

สิทธิที่จะถูกลืม กับคำตัดสินจากศาลยุติธรรมสูงสุดเยอรมนี

ในยุคที่ข้อมูลทุกอย่างสืบค้นได้ง่าย โดย Search engine เพียงแค่พิมพ์ชื่อบุคคลใด เรื่องราวที่เคยเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นก็ปรากฏในเสี้ยววินาที

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ที่รู้สึกว่าสิทธิความเป็นส่วนตัวของตนถูกกระทบกระเทือนจากการที่เรื่องราวในอดีตต่าง ๆ ยังถูกเผยแพร่ต่อไป เช่น การเคยเป็นบุคคลล้มละลาย หรือข่าวเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมซึ่งในปัจจุบันศาลตัดสินให้พ้นผิดแล้ว ผู้นั้นควรจะมีสิทธิที่จะขอให้ลบข้อมูลหรือลบการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่ และหากมีได้ สิทธิในการขอให้ลบข้อมูลเหล่านี้หรือที่เรียกว่าสิทธิที่จะถูกลืม (Right to be forgotten) มีที่มาและขอบเขตการใช้อย่างไร

 

สิทธิในการที่จะถูกลืม (Right to be forgotten) ได้ถูกกล่าวถึงมายาวนานในสหภาพยุโรป กระทั่งในปี ค.ศ. 2014 สิทธิที่จะถูกลืมได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยศาลแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union) ในคดีที่ศาลแห่งประเทศสเปนขอให้ศาลแห่งสหภาพยุโรปพิจารณาว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (EU Direction on Data Protection) ซึ่งรับรองสิทธิในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Right to protection of personal data) นั้นรวมถึงการรับรองสิทธิที่จะถูกลืมด้วยหรือไม่ โดยคดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีเป็นชายผู้ประกอบอาชีพทนายความในประเทศสเปนที่ต้องการขอให้ Google spain ลบลิงก์ที่เข้าถึงข่าวของสำนักข่าวแห่งหนึ่งซึ่งเผยแพร่ข้อมูลประมูลขายทอดตลาดทรัพย์สินของเขาอันเนื่องมาจากหนี้สวัสดิการสังคมในขณะนั้น ชายคนดังกล่าวเห็นว่าในปัจจุบันเขาไม่ได้มีปัญหาทางการเงินดังกล่าวอีกแล้วและการที่ข้อมูลดังกล่าวยังปรากฏขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการพิมพ์ชื่อเขาลงใน Google เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการประกอบอาชีพ

 

คดีนี้ศาลแห่งสหภาพยุโรปได้รับรองให้สิทธิที่จะถูกลืมเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยผู้ที่ข้อมูลของตนปรากฏอยู่ในอินเทอร์เน็ตมีสิทธิในการเรียกร้องผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูล ลบลิงก์ที่เชื่อมโยงไปยังเว็ปไซด์ที่นำเสนอข้อมูลของบุคคลนั้นได้ หากข้อมูลเหล่านั้น ไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอ หรือไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับบุคคลนั้นอีกต่อไป ทั้งนี้ลิงก์จะถูกลบจากผลการค้นหาจาก Google ในสหภาพยุโรปเท่านั้นและเป็นการลบลิงก์ออกจากผลการค้นหาไม่ใช่ออกจากฐานข้อมูลในอินเทอร์เน็ต

 

Google ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูลรายใหญ่ซึ่งมีผู้ใช้บริการถึง 90 เปอร์เซ็นต์จากผู้ใช้บริการ สืบค้นข้อมูลทั้งหมดในสหภาพยุโรป ได้จัดทำรายงานความโปร่งใสในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งนำเสนอข้อมูลว่า หลังจาก Google เริ่มลบเนื้อหาจากการค้นหาในปี 2014 ผ่านทางแบบฟอร์มออนไลน์ที่ Google สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้ส่งคำขอให้ลบลิงก์ที่จะนำไปสู่ข้อมูลส่วนตัวของตน มีผู้ยื่นคำขอทั้งหมดจนถึงจำนวนกว่าหนึ่งล้านคำขอโดยเกี่ยวข้องกับการขอให้ลบลิงก์ทั้งหมดกว่าสี่ล้านลิงก์ ซึ่ง Google ดำเนินการพิจารณาคำขอดังกล่าวเป็นรายกรณีและหากผู้ขอไม่พอใจผลการพิจารณาของ Google สามารถยื่นฟ้องต่อศาลภายในประเทศของตนเพื่อขอให้ศาลสั่งให้กูเกิลทำตามคำขอของตนต่อไป

 

ทำให้นับจากที่สิทธิที่จะถูกลืมได้รับการรับรองโดยศาลแห่งสหภาพยุโรปในปี 2014 และต่อมาถูกบัญญัติอย่างเป็นทางการไว้ในข้อกำหนดของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในปี 2018 มีคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของทั้งศาลภายในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปและศาลสหภาพยุโรปเองมากมากมาย โดยเฉพาะในประเด็นของการสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิส่วนบุคคล (Right to Privacy) ที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิที่จะถูกลืม และเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information) ซึ่งเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)

 

ในเยอรมนี การชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์สาธารณะเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั้งในการนำเสนอความเห็นทางวิชาการและให้คุณค่าในทางปฏิบัติโดยศาล ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2020 ศาลยุติธรรมสูงสุดของสหพันธรัฐ (Bundesgerichthof ( Federal Supreme Court) – BGH) ได้มีคำตัดสินในคดีเลขที่ VI ZR 405/48 ซึ่งเป็นกรณีที่ชายผู้หนึ่งขอให้ Google Germany ลบลิงก์ซึ่งนำไปสู่การเสนอข่าวของสำนักข่าวท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่รายงานข่าวในปี 2011 ว่าองค์กรการกุศลหนึ่งกำลังมีปัญหาทางการเงินโดยมีหนี้สินกว่า 1 ล้านยูโร

 

โดยในเนื้อหาข่าวมีการระบุถึงชายซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการขององค์กรการกุศลนั้นพร้อมทั้งระบุด้วยว่าในช่วงดังกล่าวชายผู้นี้กำลังมีปัญหาสุขภาพ ชายคนดังกล่าวขอให้ Google ลบลิงก์ที่นำไปสู่การเผยแพร่ข่าวของสำนักข่าวท้องถิ่นนี้ Google ปฏิเสธที่จะลบลิงก์ดังกล่าว เขาจึงได้ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ยกฟ้อง คดีนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหรือศาลยุติธรรมสูงสุดแห่งสหพันธรัฐ โดยศาลสูงสุดได้มีคำพิพากษายกฟ้องตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งสองและยืนตามการพิจารณาของกูเกิลในการที่จะไม่ลบลิงก์ดังกล่าว โดยตัดสินว่าตามข้อเรียกร้องจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Right) อย่างครอบคลุม โดยการพิจารณาดังกล่าวต้องชั่งน้ำหนักของสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรอบด้าน

 

นั่นคือ ด้านหนึ่งต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลซึ่งเกี่ยวกับสิทธิที่จะถูกลืม หรือการขอให้ผู้ให้บริการสืบค้นข้อมูลทำการลบลิงก์ที่จะนำไปสู่การนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของตน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งยังต้องพิจารณาถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Public’s right to information) และเสรีภาพของสื่อในการเผยแพร่ข้อมูล (Freedom of expression) ซึ่งสิทธิและเสรีภาพทั้งสองเกี่ยวข้องโดยตรงกับประโยชน์สาธารณะ โดยเมื่อพิจารณาชั่งน้ำหนักของสิทธิทั้งสองด้านตามที่กล่าวมาแล้ว ศาลเห็นว่าในกรณีนี้ ประโยชน์สาธารณะย่อมอยู่เหนือสิทธิส่วนบุคคล Google จึงไม่จำเป็นต้องลบลิงก์ดังกล่าว.

*บทความโดย ดร.ศิริญญา ทองแท้ สมจริง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์