เปิดโผ ขีดแข่งขันประเทศต่างๆ ทั่วโลกปี 2020 ของ WEF
ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่อันดับที่ 40 จาก 141 ประเทศ ซึ่งเราอยู่ในลำดับเฉลี่ยประมาณนี้ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
วันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ คุณพรกนก วิภูษณวรรณผู้อำนวยการศูนย์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย เรื่อง Thailand competitiveness in the new global landscape ในที่ประชุมอนุกรรมาธิการการพาณิชย์วุฒิสภา ซึ่งได้บรรยายสรุปรายงานของ World Economic Forum (WEF) เรื่อง Global competitiveness report special edition 2020
WEF จะจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 1979 โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่อันดับที่ 40 จาก 141 ประเทศ ซึ่งเราอยู่ในลำดับเฉลี่ยประมาณนี้ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และปกติ WEF มักจะออกรายงานมาประมาณช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยรายงานปีนี้ออกล่าช้าคือออกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่าน หลายคนคงต้องการได้ข้อมูลผลกระทบโควิดที่ทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
แต่ปรากฏว่า WEF ไม่ได้จัดอันดับในปีนี้ และรายงานที่ออกมาก็เป็นฉบับพิเศษที่มุ่งเสนอแนะประเด็นนโยบายในการแก้ไขฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และการวางรากฐานในการปฏิรูปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการผลิต (Productivity) การกระจายความมั่นคั่ง (Inclusiveness) และความยั่งยืน (Sustainability) โดยในรายงานได้พิจาณามุมมองในสี่ด้าน คือ สภาพแวดล้อมในการขับเคลื่อน ทุนมนุษย์ ตลาด และระบบนิเวศด้านนวัตกรรม
ทั้งนี้ WEF ได้นำเสนอแนวทางนโยบายในแต่ละด้านที่แบ่งออกมา 3 ช่วงเวลา คือช่วงที่หนึ่งนับจาก 12 ปีก่อนหน้านี้ ตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2007–2008 จนถึงปัจจุบัน เพื่อที่จะประเมินด้านการกระจายความมั่นคั่งและความยั่งยืน ช่วงที่สองคือ 2 ปีต่อจากนี้ ซึ่งเป็นแนวนโยบายในการจัดการผลกระทบของโควิดและแนวทางการฟื้นฟู และช่วงที่สามคือ 3-5 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นการวางนโยบายที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ
WEF ระบุว่าประเทศที่จัดการกับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ดี จะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่หลายด้าน เช่น มีเศรษฐกิจดิจิทัลก้าวหน้าและความสามารถด้านดิจิทัล มีระบบสวัสดิการและการเงินที่แข็งแกร่ง มีการบริหารจัดการและการวางแผนที่ดี และมีระบบสาธารณสุขและความสามารถด้านการวิจัยที่ดี แต่ทั้งนี้เมื่อได้อ่านรายงาน WEF ที่อาจจะระบุถึงประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนและยุโรปหลายประเทศว่ามีองค์ประกอบที่ดีก็อาจทำให้หลายคนยังมีข้อสงสัยอยู่เพราะหลายประเทศเหล่านี้ยังเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 ที่รุนแรงอยู่ จนทำให้ยังต้องล็อกดาวน์ไปหลายรอบ จึงไม่แน่ใจว่าปัจจัยต่างๆ ในด้านนี้เหมาะสมเพียงใด
ในรายงานนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของโลกในด้านต่างๆ อยู่หลายประเด็นดังเช่น ด้านสภาพแวดล้อมในการขับเคลื่อนจะต้องเน้นความโปร่งใสและความเชื่อมั่นต่อองค์กรภาครัฐ การเข้าถึงและการใช้งานระบบไอซีที การบริหารหนี้สาธารณะและระบบภาษีที่อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพราะรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ ด้านทุนมนุษย์ จะพบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ รวมถึงค่าตอบแทนและสิ่งจูงใจที่ไม่สอดคล้อง ตลอดจนการบริการด้านสุขภาพที่จะมีความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะจากวิกฤติโควิด-19 ด้านตลาด มีแนวโน้มที่จะพบปัญหาหนี้สินและสภาพคล่องของภาคธุรกิจ SME การกระจุกตัวของตลาด และความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการและแรงงาน สุดท้าย ด้านระบบนิเวศด้านนวัตกรรม จะเห็นแนวโน้มการจัดตั้งบริษัทกลุ่ม Start-up การพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
WEF ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในหลายๆ เรื่อง อาทิ ด้านสภาพแวดล้อม คือ เรื่องการปรับปรุงบริการสาธารณะ การปรับสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัล การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ นโยบายการเก็บภาษีใหม่ๆ เช่น ด้านอีคอมเมิรส์หรือธุรกิจใหม่ ด้านทุนมนุษย์ คือ เรื่องการเร่งปรับทักษะของแรงงานในปัจจุบัน การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาในทุกระดับ การปรับเปลี่ยนกฎหมายแรงงาน และการบริหารจัดการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ด้านตลาด คือ เรื่องการกระจายความมั่นคั่งระบบการเงิน การให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ และต้องพิจารณาการแข่งขันของตลาดในรูปแบบและธุรกิจใหม่ๆ ด้านระบบนิเวศด้านนวัตกรรม คือ เรื่องการทุ่มงบประมาณภาครัฐในด้านการวิจัยและหาแนวทางให้ภาคเอกชนมาลงทุนงานวิจัยมากขึ้น ภาครัฐจะต้องอำนวยความสะดวกเน้นสร้างตลาดแห่งอนาคต (Market of tomorrow)
ข้อสรุปของ WEF ในเรื่องของนโยบายเพื่อการพื้นฟูประเทศในช่วงที่สอง และการสร้างความสามารถในการแข่งขันในช่วงที่สามอย่างยั่งยืนทั้งสี่ด้าน คือต้องสร้างสภาพแวดล้อมในการขับเคลื่อนที่คำนึงถึงวิสัยทัศน์ในระยะยาว ต้องสนับสนุนในด้านการศึกษา ทักษะ และดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ต้องคำนึงถึงตลาดในอนาคตที่ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงไป และสุดท้ายต้องลงทุนกับนวัตกรรมสำหรับอนาคต
ผมเชื่อว่ารัฐบาลได้ดำเนินนโยบายหลายๆ ด้านที่สอดคล้องกับรายงานของ WEF แต่สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่เราจะเร่งให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้เห็นผลได้เร็วกว่านี้ สุดท้ายขอขอบคุณทางสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาโดยตลอด และได้ทำข้อสรุปที่ดีเผยแพร่ให้กับทุกคน