ภาษีจากกิจการ Over-The-Top
รายได้ที่เกิดจากกิจการ OTT เป็นรายได้ที่ได้รับความสนใจในแง่การจัดเก็บภาษีมาตั้งแต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
เมื่อกิจการรูปแบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบใหม่ที่มีการเชื่อมต่อผ่านทางโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และเกิดการหลอมรวมกันของเทคโนโลยี (convergence technology) ก่อให้เกิดธุรกิจหลากหลายประเภทขึ้น โดยเฉพาะ Over-The-Top (กิจการ OTT)
คำว่า “Over-The-Top” มีที่มาจากคำว่า “Over the top of the network” ซึ่งหมายถึงการให้บริการของธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการให้บริการอยู่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของผู้ประกอบกิจการอื่น ทั้งทางเนื้อหา บริการการสื่อสาร หรือโปรแกรมประยุกต์ ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะและอยู่บนเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น เครือข่ายสังคม (social networks) บริการค้นหาข้อมูล (search engines) พื้นที่สำหรับรวบรวมวิดีโอมือสมัครเล่น (amateur video aggregation sites) เป็นต้น
ดังนั้น การให้บริการไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube, LINE, TrueID, AIS play หรือ บริการวิดีโอสตรีมมิ่งแบบ SVOD เช่น NetFlix, WeTV ล้วนเข้าข่ายเป็นกิจการ OTT ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังไม่อาจนิยาม OTT ได้อย่างตายตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงมีเพียงแต่การกำหนดนิยามไว้อย่างกว้าง ๆ เท่านั้น
คำถามที่เกิดขึ้นคือกิจการ OTT เหล่านั้น จะถูกจัดเก็บภาษีอย่างไร และการที่จะมีภาษีพิเศษขึ้นนั้นเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม (Equity) เพราะการเกิดขึ้นของเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างผลกระทบในทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในทางภาษีด้วย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม และจากลักษณะเฉพาะดังกล่าวส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการกำหนดขอบเขตของฐานภาษี การคำนวณ รวมไปถึงการจัดเก็บภาษี
ลักษณะเฉพาะของกิจการ OTT ได้แก่ การไม่จำกัดกิจกรรมเฉพาะไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การผลิต หรือการบริการ ซึ่งแพลตฟอร์ม เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยผู้มีผลประโยชน์ร่วมภายใต้สภาพแวดล้อมทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร
รวมทั้งมีความเป็นไปได้อย่างมากที่บริษัทที่ให้บริการ OTT จะดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในดินแดนที่บริษัทนั้นไม่มีตัวตนอยู่จริง และการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลยังมีลักษณะเฉพาะที่การสร้างมูลค่าเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมเพียงพอของกฎเกณฑ์ดั้งเดิมทางด้านภาษี ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนากฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจัดเก็บภาษีที่ไม่คำนึงถึงเฉพาะสถานที่ตั้งหรือสถานประกอบการถาวรของผู้ประกอบการ โดยอาจคำนึงถึงแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องประกอบกันแทน
มุมมองในทางภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล จะพบว่ามีความยุ่งยากเกิดขึ้นในการเก็บภาษีจากการค้าบริการที่ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นในการเก็บภาษีเมื่อเกิดการค้าหรือบริการดังกล่าวระหว่างบริษัทที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐใดรัฐหนึ่งกับกลุ่มบรรษัทข้ามชาติ อีกทั้งภาระภาษีบริการดิจิทัลส่วนใหญ่แล้วจะตกเป็นภาระของผู้บริโภคภายในประเทศอีกด้วย
ในต่างประเทศ ตามแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) แนะนำให้ผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีรายได้จากประเทศใดก็ตามต้องมาจดทะเบียนหรือมีตัวแทนการค้าในประเทศนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้สามารถติดตามและจัดเก็บภาษีได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางการแข่งขันทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนดังกล่าวมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้ ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงอาจพิจารณาตัวอย่างข้อเสนอของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งมีรายละเอียด คือ
1.การกำหนดลักษณะของ "ตัวตนทางดิจิทัลที่มีนัยสำคัญ" โดยอาจพิจารณาจากเกณฑ์ในการแสดงตัวตน คือ 1) กำหนดจากจำนวนผู้ใช้บริการ เช่น มีผู้ใช้บริการมากกว่า 100,000 ราย 2) กำหนดจากมูลค่าแห่งการซื้อขาย เช่น มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 7 ล้านยูโรต่อปี หรือ 3) กำหนดจากจำนวนสัญญาเชิงพาณิชย์ เช่น มีสัญญาเชิงพาณิชย์มากกว่า 3,000 สัญญา สำหรับการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี
- 2. ให้มีหน่วยงานจัดเก็บภาษีเฉพาะและกำหนดเป็นอัตราเดียวเพื่อความง่ายในการจัดเก็บ เช่น เก็บร้อยละ 3 ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย
สำหรับประเทศไทยเองได้มีความพยายามในการจัดเก็บภาษีจากกิจการ OTT เช่นกัน โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. โดยกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรโดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือที่เรียกกันว่า “ภาษี e-Service ต่างชาติ” ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมทางการค้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี
โดยหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย เช่น การให้ download เกม เพลง ภาพยนตร์ เป็นต้น และมีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านเว็บกรมสรรพากรได้ ทั้งนี้ กรมสรรพากรคาดว่าการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยทำให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบคงหนีไม่พ้นผู้รับภาระภาษี ซึ่งก็คือผู้บริโภคภายในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อม ที่สามารถผลักภาระภาษีได้ ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าหรือบริการภายในประเทศสูงกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งมีปัญหาว่าจะบังคับผู้ประกอบการต่างชาติให้จดทะเบียนได้อย่างไร
สุดท้ายผู้เขียนมองว่า ความพยายามที่จะจัดเก็บภาษีจากกิจการ OTT เป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ควรที่จะพัฒนาและแก้ไขทั้งระบบภาษี ซึ่งหมายรวมถึงภาษีทางตรงคือภาษีเงินได้ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอย่างแท้จริง.
*บทความโดย กิตติยา พรหมจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์