หนี้: วิถีปกติใหม่ของเกษตรกรไทย
ในอดีตการก่อหนี้ของเกษตรกรจะต้องเป็นเหตุผลที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นเหตุผลด้านสุขภาพ
สำหรับการกู้เพื่อลงทุนและการกู้ยืมเพื่อการบริโภคนั้นยังมีไม่มากนัก จำนวนเงินที่กู้ยืมก็มักจะกู้ยืมเท่าที่จำเป็น ที่เป็นเช่นนั้นนอกจากพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนเองแล้ว ความเข้มงวดของการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน และความไม่สะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง แต่ในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสะดวกสบายมากขึ้น ทำให้มีเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ที่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต รวมถึงการลงทุนมีมากขึ้นด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “ยืมง่าย ใช้คล่อง (แต่คืนยาก)”
ผู้เขียนได้รับการสนับสนุนจากแผนงานคนไทย 4.0 และได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทัศนคติต่อการเป็นหนี้ของผู้ให้สัมภาษณ์ สามารถสรุปได้ดังนี้
กลุ่ม Baby boomers (อายุ 56 ปีขึ้นไป) กลุ่มหนี้สินเป็นภาระ คือ กลุ่มผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยชรา คนกลุ่มนี้มองว่าการกู้ยืมเงินไม่ใช่เรื่องปกติในชีวิต จะกู้เมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น และในกรณีที่จำเป็นต้องกู้ก็จะกู้ในจำนวนเงินที่ไม่มากนัก เพราะกลัวว่าจะหาเงินมาชำระหนี้ไม่ได้เนื่องจากอายุมากแล้ว หนี้สินนับเป็นภาระของครัวเรือน ถ้าเป็นหนี้แล้วก็ต้องรีบหาเงินมาใช้คืนจะได้สบายใจ จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้คือการกู้ยืมมาลงทุนทำการเกษตร ส่วนใหญ่หนี้ก้อนแรกเกิดขึ้นพร้อมกับการมีกองทุนหมู่บ้าน
กลุ่ม Gen X (อายุระหว่าง 41-55 ปี) หนี้สินเป็นวิถีปกติใหม่ (New normal) คนในกลุ่มนี้กล้าที่จะกู้ยืมมากขึ้น การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเพื่อนบ้านต่างก็เป็นหนี้เหมือนกัน และคนกลุ่มนี้ยังมองว่าการเป็นหนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน (โดยเฉพาะด้านการศึกษาของบุตร) ก็สามารถกู้ยืมเงินมาใช้ก่อนได้ และการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่สะดวกมากขึ้นในปัจจุบันก็ทำให้ครัวเรือนมีหนี้มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อมีเงินมากขึ้น รายจ่ายก็มากตามไปด้วย มีเท่าไหร่ก็ใช้หมด เมื่อเป็นหนี้แล้วโอกาสที่จะหมดหนี้นั้นค่อนข้างยาก
“สมัยนี้คนกล้าที่จะกู้เยอะขึ้น แต่สมัยพ่อแม่เขาไม่ค่อยกล้าเป็นหนี้ แล้วสมัยก่อนเขาก็ไม่ยืมเงินกันด้วยเพราะสมัยก่อนไม่ได้มีการลงทุนเยอะ หาอยู่หากิน แต่ทุกวันนี้ต้องซื้อทุกอย่าง ไม่มีเงินก็ต้องไปกู้มาซื้อ”
“สำหรับตัวแม่เองไม่ได้กลัวการเป็นหนี้ เพราะไม่ได้กู้ไปทำอย่างอื่นเอามาทำบ้านและเพื่อลูก”
“ทุกวันนี้ ถ้ามีที่ไหนให้กู้ก็กู้หมด ไม่กู้แต่กับระเบิด”
จุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้ของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ยืมมาให้ลูกเรียนหนังสือ ยืมมาซื้อที่นา ยืมมาซ่อมแซมบ้าน ยืมมาลงทุนทำการเกษตร เป็นที่น่าสังเกตว่าคนที่กู้ยืมมาลงทุนแล้วขาดทุนในครั้งแรก (ลงทุนเลี้ยงหมู ทำโรงงานอิฐ ซื้อขายพลาสติก) จะยังคงเป็นหนี้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
กลุ่ม Gen Y (อายุระหว่าง 23-40 ปี) ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นทำให้ต้องเป็นหนี้ ทุกวันนี้ต้องซื้อทุกอย่าง เมื่อแยกออกมามีครอบครัวก็อยากสร้างเนื้อสร้างตัว กู้ยืมมาเพื่อลงทุน แต่บางครั้งก็ขาดทุนเนื่องจากไม่มีความรู้และความชำนาญ ทำให้ต้องกู้เพิ่ม แต่เนื่องจากอายุยังน้อยสามารถทำงานหาเงินได้อยู่ ดังนั้นการเป็นหนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว
“ถ้าเราไม่มีหนี้ เราก็ไม่มีสิ่งที่เราอยากได้”
“จ่ายหมดแล้วก็กู้ใหม่มาซื้อรถ 6 ล้อ ก็เป็นหนี้ของตัวเอง อยากได้ อยากมี กู้มาทำการเกษตร ต่อเติมบ้านเพราะน้ำท่วม ใช้จ่าย...ถ้าเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะมีโอกาสได้ทำงานใช้หนี้อยู่”
“หนี้ก้อนแรก ...ตอนนั้นเพิ่งปลีกตัวออกมาจากบ้านยายแล้วก็กู้มาลงทุนทำนา”
ผลการศึกษายืนยันว่า ในอดีตการเป็นหนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย แต่ปัจจุบันการเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา และส่วนการนำเงินกู้ไปใช้มีความแตกต่างกันตามฐานะเศรษฐกิจของครัวเรือน โดยครัวเรือนที่มีฐานะดีส่วนใหญ่จะนำเงินกู้ไปลงทุน ส่วนครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลางและต่ำ มักจะนำเงินกู้ไปลงทุนในกิจกรรมการผลิต การใช้จ่ายในครัวเรือน และใช้หนี้แหล่งเงินกู้อื่น
คำถามสำคัญคือ ทำไมครัวเรือนต้องก่อหนี้ จากการสัมภาษณ์ครัวเรือนตัวอย่าง พบว่า แรงจูงใจในการก่อหนี้สามารถจำแนกได้ดังนี้
1) เงินไม่พอใช้ จำเป็นต้องกู้ ทั้งในส่วนของเงินใช้จ่ายในครัวเรือนและเงินลงทุนทำการเกษตร
2) รักษาสิทธิ์ให้เท่าเทียมกับคนอื่น สังเกตได้จากครอบครัวที่มีฐานะดี มีเงินลงทุนเพียงพอก็ยังกู้กองทุนหมู่บ้าน แม้ว่าจะเป็นเงินที่ต้องเสียดอกเบี้ยก็ตาม
“เพราะดอกเบี้ยถูก กับเห็นเพื่อนบ้านกู้ก็เลยกู้ตาม...กู้เฉยๆ กู้ไปไว้สำรอง เราได้สิทธิ์ก็เลยกู้ ถึงจะเสียดอกเบี้ยก็ยอม...ประมาณว่าเราเป็นสมาชิก ก็รักษาสิทธิ์กู้ไว้”
“ตอนแรกเห็นโครงการออกมาก็เอาไว้ก่อน ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร คิดว่าเอามาไว้ใช้ก่อน ดีกว่าไม่ได้”
3) อยากมี อยากได้ ครัวเรือนระบุว่าการบริโภคนิยมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้ หรือแบ่งเงินกู้มาซื้อสินค้า เห็นเพื่อนบ้านมีอะไรก็อยากมีเหมือนกัน
4) ยืมแทนบุคคลอื่น ส่วนใหญ่คือลูกซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เช่น ยืมให้ลูกไปใช้ที่ กทม. ยืมให้ลูกไปต่างประเทศ ยืมให้ลูกไปปิดงวดรถ ยืมให้ลูกไปซื้อบ้าน ยืมให้น้องไปแต่งงาน เป็นต้น
หนี้สินตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน
“ตอนแรกก็เอามาทำเกษตรบ้าง หลังๆ เอามาใช้จ่ายในครัวเรือนหมด”
“ครัวเรือนของพ่อมีการกู้เงินจากกองทุนหมู่บ้านมาใช้ในการอุปโภคบริโภค ... ตอนแรกก็กู้มาลงทุนการเกษตร แต่หลังๆ กู้มาซื้อ “วัวกิโล ควายกิโล” หมายถึง การซื้อเนื้อเพื่อบริโภค”
ในภาพรวมโอกาสที่ครัวเรือนจะหลุดพ้นจากการเป็นหนี้มีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่ พ่อแม่กู้ยืมให้ลูกไปใช้จ่ายนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันลูกก็ไปสร้างหนี้ของตัวเอง สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนมีระดับสูงขึ้นมาก ประการต่อมาความสะดวกของการกู้ยืมที่ครัวเรือนมักจะเอาโฉนดที่ดินค้ำประกันไว้กับสถาบันการเงิน เริ่มจากการกู้ในจำนวนเงินน้อยไปสู่จำนวนเงินที่มากขึ้น นอกจากนี้รูปแบบของการชำระหนี้เฉพาะส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ครัวเรือนเกษตรมีหนี้สินผูกพัน มีครัวเรือนบางส่วนที่คิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องเป็นหนี้ เพราะรู้แล้วว่าต้องการนำเงินไปใช้ทำอะไร แต่อาจต้องรอเวลา เช่น รอให้กองทุนหมู่บ้านเปิดกู้รอบใหม่ รอให้ได้รับที่ดินมรดกเพื่อนำไปค้ำประกันเงินกู้ นับเป็นการก่อหนี้ แต่เป็น “หนี้ที่รอเวลา” เท่านั้นเอง
*บทความโดย ศิวาพร ฟองทอง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น