หนี้เสีย-ตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ไทยถึงจุดสูงสุดหรือยัง

หนี้เสีย-ตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ไทยถึงจุดสูงสุดหรือยัง

ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่มักจะตามมาทุกครั้ง คือผลกระทบต่อเนื่องไปยังระบบการเงินธนาคาร

 ซึ่งผลกระทบของวิกฤติโควิดในปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ก็ชัดเจนว่าส่งผลกระทบมากโดยเฉพาะในด้านคุณภาพสินเชื่อและสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ไทย โดยส่วนใหญ่คุณภาพสินเชื่อที่มีการปรับตัวลดลง เป็นผลเนื่องมาจาก ลูกหนี้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์หลากหลายกลุ่ม ต่างก็ได้รับผลกระทบด้านรายได้ที่หดตัวลง นับตั้งแต่ช่วงต้นที่มีการล็อกดาวน์ ไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่แม้จะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ธุรกิจและครัวเรือนจำนวนมาก ยังคงขาดรายได้หรือมีรายได้ต่ำกว่าช่วงสภาวะปกติในอดีต จึงส่งผลให้ไม่สามารถรับภาระการผ่อนหนี้ได้ 

ข้อมูลจากรายงานผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ล้วนแสดงภาพที่สอดคล้องกับที่ได้เล่าไปเบื้องต้น เนื่องจาก เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพสินเชื่อของธนาคาร พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อย่างมีนัยยะสำคัญ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2563 มียอดรวมอยู่ที่ 4.63 แสนล้าน และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ณ  สิ้นปี 2562 มียอดรวมอยู่เพียง 3.92 แสนล้านบาท หรือคำนวณได้ว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มียอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงถึง 18% ถือเป็นอัตราการก่อหนี้เสียที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมทั้งหมดในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2563 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อยู่ที่ระดับ 5.2 แสนล้าน หรือคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 12% 

แม้ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะมีการเพิ่มสูงขึ้น แต่ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ  เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออกมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ ทั้งการพักชำระหนี้และการลดดอกเบี้ยตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา ที่มีการเริ่มระบาดของโควิด-19  รวมถึงได้มีการสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปประนอมหนี้และให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพสินเชื่ออย่างทันท่วงที (Debt Restructuring) โดยได้มีการอนุมัติให้สามารถจัดสินเชื่อเหล่านี้อยู่ในสินเชื่อคุณภาพระดับปกติ ส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มอย่างรวดเร็วเพียงแค่ในช่วงไตรมาส 1 ในปี 2563 เท่านั้น หลังจากนั้น เมื่อมีมาตรการช่วยเหลือออกมา ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันแต่ไม่มากเท่าในไตรมาสแรก 

คุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลงในปีที่ผ่านมา เป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต่างเล็งเห็นถึงความเสี่ยงนี้ล่วงหน้า จึงได้มีการวางแผนการตั้งสำรองกันสูญ (Provision) อย่างต่อเนื่องไว้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 และเมื่อสถานการณ์ความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อยังคงมีอยู่ ก็ได้มีการตั้งสำรองอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา จนทำให้ ยอดการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 2 แสนล้าน ซึ่งถือว่าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2562 สูงถึง 31% 

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในปีนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการฟื้นตัวของรายได้ธุรกิจและครัวเรือน ดังนั้นแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อในปีนี้ น่าจะยังคงเผชิญกับแรงกดดัน จนทำให้ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรายได้ในบางกลุ่มธุรกิจ เช่นการท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มต่ำตลอดทั้งปี ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการไม่สามารถชำระหนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันมียอดหนี้เสียบางส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพ ถูกจัดชั้นคุณภาพอยู่ในระดับปกติ ซึ่งยอดหนี้เสียเหล่านี้มีโอกาสปรับตัวแย่ลงในอนาคต ส่งผลให้ยอดรวมหนี้เสียพุ่งสูงขึ้นได้ โดยจากการประเมินของ TMB Analytics ในปีนี้ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีโอกาสพุ่งสูงถึงระดับ 6 แสนล้านบาท หรือเติบโตสูงถึง 15% 

ด้วยเหตุนี้ แม้ในปี 2563 ที่ผ่านมาจะมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ความจำเป็นที่ต้องรองรับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อที่มีโอกาสแย่ลงต่อเนื่องในปีนี้ ส่งผลให้ในปีนี้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องมีการตั้งสำรองต่อเนื่องต่อไปอีก ส่วนในภาพรวมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้ การตั้งสำรองจะอยู่ใกล้เคียงกับระดับปี 2563 ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา ก่อนจะมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 

ดังนั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประเด็นเรื่องคุณภาพสินเชื่อและการตั้งสำรองในระบบธนาคารพาณิชย์ จึงยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อเนื่องในปี 2564 นี้ ที่เราควรจับตามองกันต่อไปครับ