ดัชนีวัดอำนาจของประเทศในเอเชีย (1)
เรามักจะมีการตั้งคำถามกันว่า ประเทศเวียดนามจะเป็นคู่แข่งประเทศไทยหรือไม่และเพียงใด ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ง่าย
เพราะแต่ละประเทศย่อมมีศักยภาพในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงต้องถามว่าต้องการวัดศักยภาพในด้านไหนหรือในหลายๆ ด้านมารวบรวมกันให้เป็นการวัดศักยภาพโดยทั่วไปของประเทศไทยกับประเทศเวียดนามทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
ดังนั้นเมื่อผมพบว่าสถาบันวิจัยของออสเตรเลียชื่อว่า Lowy Institute ได้จัดทำดัชนีอำนาจของประเทศต่างๆ 26 ประเทศในเอเชีย ผมจึงขอนำเอาการประเมินของสถาบันดังกล่าวมานำเสนอในครั้งนี้ ซึ่งมีชื่อว่า Lowy Institute Asia Power Index 2020 หรือดัชนีอำนาจของประเทศในเอเชียประจำปี 2020 ซึ่งเป็นดัชนีที่สถาบัน Lowy จัดทำติดต่อกันมาแล้ว 3 ครั้งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2018
แต่ก่อนที่จะสรุปเรื่องของ Asia Power Index ผมขอกล่าวถึง Lowy Institute ว่า เป็นสถาบันวิจัย (Think Tank) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 โดยมหาเศรษฐีชาวออสเตรเลียที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศอิสราเอลชื่อ Sir Frank Lowy ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท Westfield Corporation และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางว่าบริษัทนี้เป็นเจ้าของศูนย์การค้าที่สำคัญๆ ในประเทศออสเตรเลีย
Lowy Institute นั้นถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานวิจัยด้านการต่างประเทศในมิติต่างๆ เช่น การเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจ ทั้งนี้จะเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการเพื่อนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายให้กับประเทศออสเตรเลีย โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (แต่บางครั้ง Lowy Institute ถูกกล่าวหาว่ามีทัศนะคติที่เป็นกลางแบบเอียงทางด้านอนุรักษ์นิยม (หรือ Center Right) Lowy Institute นี้เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูคนไทย แต่จากข้อมูลใน Wikipedia แจ้งว่าเป็นสถาบันวิจัยที่นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียทุกคนรับไปบรรยายให้และยังได้ต้อนรับผู้นำจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียง เช่น นาย Joe Biden เมื่อดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐและผู้นำคนสำคัญๆ อื่นของต่างประเทศอีกด้วย
ดัชนีอำนาจของ Lowy Institute นั้นเป็นดัชนีที่ครอบคลุมปัจจัยที่เป็นพื้นฐานของอำนาจโดยรวม (Comprehensive power) 8 ประการคือ
ปัจจัยประเภททรัพยากร (Resources)
- ศักยภาพทางเศรษฐกิจ (17.5%)
- ศักยภาพทางการทหาร (17.5%)
- ความแข็งแกร่ง (resilience) (10.0%)
- ทรัพยากรในอนาคต (10.0%)
ปัจจัยในเชิงอิทธิพล (influence)
- ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (15%)
- เครือข่ายทางการทหาร (10.0%)
- อิทธิพลทางการทูต (10.0%)
- อิทธิพลทางวัฒนธรรม (10.0%)
ซึ่งตัวเลขในวงเล็บนั้นคือสัดส่วนที่ใช้ในการถ่วงน้ำหนักของปัจจัยทั้ง 8 ประการที่นำมาคำนวณคะแนนรวมของอำนาจของประเทศนั้นๆ ทำให้สามารถนำมาจัดอันดับของประเทศทั้ง 26 ประเทศ โดยในปี 2020 นั้นแต่ละประเทศได้คะแนนรวมและสามารถจัดอันดับอำนาจในเอเชียได้ดังนี้
- ประเทศมหาอำนาจ (super power): สหรัฐ (81.6) จีน (76.1)
- ประเทศที่มีอำนาจมาก (major power): ญี่ปุ่น (41.0)
- ประเทศที่มีอำนาจปานกลาง-สูง: อินเดีย (39.7) รัสเซีย (33.5) ออสเตรเลีย (32.4) เกาหลีใต้ (31.6)
- ประเทศที่มีอำนาจปานกลาง: สิงคโปร์ (27.4) ไทย (20.8) มาเลเซีย (20.7) อินโดนีเซีย (19.9) เวียดนาม (19.2) นิวซีแลนด์ (19.0) ไต้หวัน (16.7) ปากีสถาน (15.2) ฟิลิปปินส์ (13.3) เกาหลีเหนือ (12.3)
- ประเทศที่มีอำนาจน้อย: มีทั้งสิ้น 9 ประเทศที่ท่านผู้อ่านสามารถตรวจสอบเองได้จากเวปของ Lowy Institute
จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยนั้นมีอำนาจสูงเป็นลำดับที่ 9 ในเอเชีย ซึ่งข่าวดีคือสูงกว่ามาเลเซียและประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เว้นแต่สิงคโปร์ซึ่งมีคะแนนสูงกว่าไทยค่อนข้างมาก แม้จะอยู่สูงกว่าไทยเพียงลำดับเดียว ที่น่าสนใจคือท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปที่เวปของ Lowy Institute แล้วปรับน้ำหนักของ 8 ปัจจัยดังกล่าวที่ใช้คำนวณคะแนนรวมของแต่ละประเทศได้ตามอำเภอใจ เช่น หากจะให้น้ำหนักกับปัจจัยทางเศรษฐกิจมากขึ้นและปัจจัยทางการทหารน้อยลง ก็สามารถทำได้แล้วดูผลว่าจะทำให้ลำดับอำนาจของแต่ละประเทศนั้นปรับเปลี่ยนและแตกต่างกันไปอย่างไร
จากคะแนนรวมข้างต้นจะเห็นได้ว่าคะแนนรวมอำนาจของประเทศเวียดนามที่ 19.2 นั้น ตามคะแนนรวมอำนาจของประเทศไทยที่ 20.8 มาแบบหายใจรดต้นคอแล้ว ซึ่งในตอนต่อไปผมจะเจาะลึกในรายละเอียดว่าจุดอ่อนและจุดแข็งของไทยเทียบกับเวียดนามนั้นมีปัจจัยใดบ้าง ซึ่งข้อสรุปที่น่าเป็นห่วงของไทยคือปัจจัยพื้นฐานในอนาคตของไทยนั้นเสียเปรียบเทียบเวียดนามอย่างมากครับ