เศรษฐกิจสร้างสร้างสรรค์ออกแบบไม่ดีจะทำลาย

เศรษฐกิจสร้างสร้างสรรค์ออกแบบไม่ดีจะทำลาย

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่หลายหน่วยงานอยากผลักดันให้เกิดขึ้น หากทำได้สำเร็จ โฉมหน้าของเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร?

            สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ  ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้จะตกอยู่กับคนแค่หยิบมือเดียว  ซึ่งคงหนีไม่พ้นบริษัทเจ้าพ่อเจ้าแม่วงการบันเทิง  บริษัทโฆษณาชื่อดังและบริษัทซอฟต์แวร์ไม่กี่แห่ง  ผลประโยชน์ที่ไหลลงไปยังธุรกิจขนาดกลาง  ขนาดเล็ก  และวิสาหกิจชุมชน  มีน้อยมาก  ลองนึกดูว่าต้องขายผ้าทอพื้นเมืองสักกี่ผืน  ถึงจะได้รายได้เท่ากับค่าลิขสิทธิ์หนังสักเรื่องหรือซอฟต์แวร์สักชิ้นหนึ่ง

          หากประเมินศักยภาพของการออกไปโต้คลื่นลมในเวทีโลก  ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ซึ่งอยู่ในระยะตั้งไข่มีโอกาสรอดน้อยเหลือเกิน  ยิ่งหากเป็นธุรกิจของชุมชนด้วยแล้ว  ต้องเรียกว่าโอกาสคงริบหรี่พอสมควร เพราะตลาดส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาคนในประเทศ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะกลับมาอุ่นหนาฝาคั่งเหมือนเดิม 

          ในแง่ของการจ้างงาน  หากบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ต้องการจะแข่งขันให้ได้ในระดับนานาชาติ  ก็ต้องเฟ้นหาคนที่มีความสามารถระดับยิ่งยวดด้านการสร้างสรรค์มาทำงานด้วย  เน้นการใช้เทคโนโลยีมากกว่าคน  คนที่มีงานทำจากการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างรรค์คิดเป็นสัดส่วนของจำนวนแรงงานทั้งหมดแล้วคงมีน้อยมาก  ดังนั้นต่อให้บริษัทเหล่านี้เติบโตแค่ไหน  การจ้างงานโดยรวมก็ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

          เมื่อคนจำนวนหยิบมือเดียวมีรายได้มากขึ้น  ในขณะที่คนส่วนที่เหลือของประเทศไม่ได้รับอานิสงค์โดยตรงจากการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้  การมาจุติของเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ก็เหมือนกับลิ่มที่ถูกตอกลงไปเพื่อขยายช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนกลุ่มที่เหลือให้มากขึ้นกว่าเดิม

          ความน่ากังวลของเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกเรื่องหนึ่ง  คือ  เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย  ไม่ได้เป็นของจำเป็นเหมือนข้าวปลาอาหาร  ในช่วงเศรษฐกิจโลกตกต่ำลากยาวแบบนี้จึงขายออกยาก  นอกจากเป็นของดีจริง  กระแสรายได้ที่ต่ำจึงทำให้การพัฒนาศักยภาพในระยะยาวเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย

หากเป็นบริษัทในตลาดหุ้น  ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  ราคาหุ้นที่ตกฮวบๆ อาจส่งผลกระทบกับบรรยากาศการซื้อขายโดยรวม  ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนเร็วขึ้น  และผันผวนมากกว่าเดิม  อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นโดยรวมของนักลงทุนและประชาชนได้ 

          คราวนี้ลองกลับมาตั้งต้น ณ เวลาปัจจุบัน  มองไปรอบตัว  ประเทศที่เขาออกตัวในเรื่องนี้ก่อนเรา  เขาไปกันถึงไหนต่อไหนแล้ว  ถ้าต้องการตามเขาให้ทัน  คงต้องมีการลงทุนขนานใหญ่  บางทีอาจต้องร่วมทุนกับต่างชาติ  หรือซื้อเทคโนโลยีของเขามาใช้  รายจ่ายที่ตามมามีเป็นหางว่าว  ส่วนโอกาสประสบความสำเร็จยังไม่รู้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน  การลงทุนเป็นเรื่องของความเสี่ยงก็จริง  แต่ต้องเป็นความเสี่ยงที่ได้รับการประเมินอย่างรอบคอบ  ถ้ามีทางเลือกอื่นในการพัฒนาที่เสี่ยงน้อยกว่านี้  มีผลดีต่อคนไทยโดยรวมมากกว่านี้  ก็น่าจะเปิดใจกว้างรับไว้พิจารณาบ้าง

เราต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจไทยในตอนนี้แบบบิดเบี้ยวอยู่แล้ว ชาวนาชาวไร่ยังคงดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองมีกินมีใช้  ยังอยู่กับเศรษฐกิจภาคเกษตร  รอบกรุงเทพกับหัวเมืองใหญ่  คนไทยจำนวนไม่น้อยยังต้องตอกบัตรเข้าไปทำงานในโรงงาน ทำงานในบริษัทเป็นพนักงานประจำทำงานซ้ำซากรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง  ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งกำลังโลดแล่นอยู่บนคลื่นของเศรษฐกิจยุคดิจิตอล  หนำซ้ำตอนนี้ยังโดนโควิด-19 กระแทกกันหัวคะมำอีก

          หากเรามุ่งแต่หารายได้โดยไม่ได้มองด้านมิติทางวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าเดิม  จะกลายเป็นการทิ้งตัวตนเพียงเพื่อเอาใจคนอื่น  ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน  เราควรกำหนดจุดยืนให้ชัดเจนว่า  อะไรคือความเป็นไทยที่ต้องรักษาไว้  อะไรที่ควรปรับ  อะไรที่ควรทิ้ง  ไม่เช่นนั้น  จะกลายเป็นทำอะไรก็ได้เพื่อให้ถูกใจลูกค้า  ตกเป็นทาสทางความคิดของเขาโดยไม่รู้ตัว  กลายเป็นสัญชาติไทยแต่ไร้จุดยืน

          ดูเหมือนว่าแรงบันดาลใจของนโยบายชุดนี้ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของฝรั่งและประเทศในเอเชียบางประเทศที่เขาประสบความสำเร็จมาแล้ว  เราสามารถเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จได้  เพื่อให้เข้าใจว่ากุญแจสำคัญของความสำเร็จคืออะไร  แต่ไม่ใช่การหลับหูหลับตาลอกการบ้านของเขาเพียงเพราะเห็นว่าเขาทำแล้วดี 

ลองหยุดคิดสักนิดว่าความหมายของ Creative ในภาษาฝรั่งหมายถึงการใช้จินตนาการ   ไม่ใช่ลอกเลียนแบบคนอื่น  ดังนั้นหากต้องการสร้างครีเอทีฟไทยแลนด์จริง  ก็ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าจะเอาความเป็นไทยไปต่อยอดยังไงให้เกิดเป็นคุณค่าใหม่ที่แตกต่างจากคู่แข่ง  อย่าทำตัวเป็นเครื่องถ่ายเอกสาร  เพราะเครื่องถ่ายเอกสารไม่เคยสร้างสรรค์ผลงานอะไรที่เป็นของตัวเองเลย.