'สิทธิผู้บริโภค'ก้าวต่อไปของสภาองค์กรผู้บริโภค

 'สิทธิผู้บริโภค'ก้าวต่อไปของสภาองค์กรผู้บริโภค

15 มี.ค.วันสิทธิผู้บริโภคสากล World Consumer Rights Day มีจุดประสงค์กระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง

*บทความโดย สลิลธร ทองมีนสุข

สำหรับประเทศไทย ปัญหาสิทธิผู้บริโภคยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ และภายใต้ระบบการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ยังดูเหมือนเป็นปัญหาส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นสินค้าด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รถสาธารณะไม่ได้มาตรฐาน ค่าใช้จ่ายด้านบริการสุขภาพและบริการสาธารณสุขที่สูงเกินควร เป็นต้น

หากมองและแก้ปัญหานี้ในระดับบุคคล ผู้บริโภคหนึ่งคนก็ยากที่จะมีทุนทรัพย์หรือกำลังในการเรียกร้องความเป็นธรรม ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในเรื่องต่างๆ โดยตรง เพื่อดูแล เฝ้าระวังปัญหา รวมถึงเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้อง

แต่เดิมประเทศไทยมีองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคหลายองค์กร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือหน่วยงานกำกับดูแลของภาคส่วนต่างๆ อย่างไรก็ตาม รัฐยังคงมีบทบาทเป็นผู้มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคแต่เพียงฝ่ายเดียว และดำเนินงานตามนโยบายของหน่วยงาน ซึ่งมักจะแยกส่วนกันตามภารกิจขององค์กรตน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาของผู้บริโภคอีกหลายประการ ที่อาจอยู่นอกเหนือขอบเขตของอำนาจหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะดูแลได้ เช่น การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า หรือการปรับอัตราค่าทางด่วน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอื่น หรืออยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชน

ดังนั้น หน่วยงานของรัฐจึงมีข้อจำกัดในการตรวจสอบนโยบาย หรือการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง ต่อมาจึงมีแนวคิดจัดตั้งองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระทั้งจากรัฐ และจากทุนเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรง 

หัวใจสำคัญของการจัดตั้งคือ การมีตัวแทน (Representation) ของผู้บริโภคเข้ามาปกป้องและพิทักษ์สิทธิของตนเอง ผ่านการแสดงออกถึงข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อให้เสียงของผู้บริโภคถูกรับฟัง และมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจด้านนโยบายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

บทบาทของสภาฯ ที่สำคัญอีกประการคือ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำละเมิดหรือผิดสัญญาต่อผู้บริโภค สภาฯ มีอำนาจฟ้องคดีผู้บริโภคได้เช่นเดียวกับผู้เสียหาย ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง และคดีผู้บริโภค ตามที่สภาฯ เห็นสมควรหรือเมื่อมีผู้ร้องขอ สภาฯ ยังมีอำนาจในการประนีประนอมยอมความ หรือช่วยเหลือผู้บริโภคในการไกล่เกลี่ยยอมความทั้งก่อนและระหว่างดำเนินคดีต่อศาล

สภาฯ จึงเป็นตัวแทนของผู้บริโภคโดยตรงในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ทั้งการเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัย ไกล่เกลี่ยฟ้องคดีแทน รวมถึงการเสนอนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมีความเข้มแข็งและให้การดำเนินคดีต่างๆ สะดวกยิ่งขึ้น

ในลักษณะเดียวกันกับองค์กรภาคเอกชนที่ได้รับมอบอำนาจให้มีส่วนร่วมบริการสาธารณะตามกฎหมาย เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นต้น 

แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคมีลักษณะโดดเด่นแตกต่างในรายละเอียดของการทำหน้าที่ คือ วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยตรง ซึ่งเป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยแท้

 ขณะที่สภาผู้ประกอบการต่างๆ โดยทั่วไป มีการดำเนินการทั้งในส่วนของการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจเอง ในฐานะตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่อภาครัฐ และการกำกับดูแลสมาชิกของสภาให้มีการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมหรือมีมาตรฐานซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการกำกับดูแลสมาชิกในท้ายที่สุด

การก่อตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ประกอบด้วยองค์กรของผู้บริโภคภาคประชาชนกว่า 150 องค์กรเข้าชื่อก่อตั้ง และขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปแบบของคณะกรรมการ ประกอบด้วยประธาน รองประธาน กรรมการนโยบายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ 8 ด้าน ได้แก่

ด้านการเงินและการธนาคาร ด้านการขนส่งและยานพาหนะ ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ด้านอาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสุขภาพ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม และด้านบริการสาธารณะ และกรรมการนโยบายที่เป็นตัวแทนขององค์กรของผู้บริโภคจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีกรรมการนโยบายจากพื้นที่ต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 10 พื้นที่ 

โครงสร้างสภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมของตัวแทนผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยมีตัวแทนของผู้บริโภคแต่ละพื้นที่ ซึ่งสะท้อนหัวใจสำคัญของการจัดตั้งสภาฯ อีกประการคือ “ความเป็นอิสระ”

เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายฯ มาจากภาคประชาชนทั้งสิ้น ไม่ใช่ข้าราชการหรือผู้ประกอบการ ไม่ถูกครอบงำโดยกลุ่มธุรกิจ อำนาจรัฐ หรือพรรคการเมือง จึงมีความอิสระในเรื่องที่มาหรือการเข้าสู่ตำแหน่ง และด้านการกำหนดนโยบาย

นอกจากนี้ ข้อบังคับของสภาฯ กำหนดให้สมาชิกมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการนโยบายฯ กรรมการฯ จึงต้องมีความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อสมาชิกของสภาฯ ด้วยการรับฟังความเห็นของสมาชิกสภาฯ และนำความเห็นไปดำเนินการ

พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ยังกำหนดวิธีการตรวจสอบการดำเนินงานของสภาฯ โดยกำหนดให้สภาฯ ต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ประจำปี เผยแพร่ต่อประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาอีกด้วย

ปัจจุบันการดำเนินงานของสภาฯ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา และที่ประชุมมีมติเลือกกรรมการนโยบายจำนวน 21 คนแล้ว หลังจากนี้เมื่อได้รับงบประมาณตั้งต้นจากรัฐ จะต้องจัดตั้งสำนักงานในส่วนกลางและในระดับภูมิภาคต่อไป

เป็นที่น่าจับตามองว่า ในอนาคตสภาฯ จะมีบทบาทในการสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคโดยตรงไปยังรัฐบาล ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศให้บรรลุเป้าหมายของการจัดตั้งสภาฯ ได้มากเพียงใด รวมถึงบทบาทในการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายแทนผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ต่อผู้ประกอบธุรกิจ สภาฯ จะมีบทบาทสำคัญในการประสานระหว่างผู้เสียหายในการรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับการเยียวยาในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นต่อไป