ดาวเทียมวงโคจรไม่ประจำที่ ที่มิใช่ดาวเทียมสื่อสาร
ดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถโคจรในอวกาศโดยการอาศัยแรงดึงดูดของโลก ทำให้เป็นเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมสำหรับการติดต่อสื่อสารระยะไกล
นอกจากการติดต่อสื่อสารระยะไกล ดาวเทียมยังถูกนำมาใช้กับกิจกรรมที่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณกว้าง ซึ่งทั่วโลกก็ได้มีการนำดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายกิจกรรม เช่น ด้านการสื่อสาร การสำรวจทางธรณีวิทยา การทหาร การวางแผนการเกษตร อุตุนิยมวิทยา การวางผังเมือง การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ในอดีตการให้บริการดาวเทียมจะเน้นไปที่เทคโนโลยีดาวเทียมวงโคจรประจำที่ หรือ Geostationary Satellite Orbit (GSO) แต่แนวโน้มในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่การลงทุนในธุรกิจบริการที่เกิดจากดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ Non-Geostationary Satellite Orbit (NGSO) เช่น ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) และดาวเทียมวงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit) ที่เป็นดาวเทียมขนาดเล็กซึ่งต้นทุนที่ลดต่ำลง ก็ส่งผลให้สามารถส่งดาวเทียมขึ้นไปบนท้องฟ้าได้ปริมาณมาก
ปัจจุบันมีดาวเทียมในอวกาศเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ในอนาคตปี 2564 ดาวเทียมวงโคจรต่ำจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เนื่องจากดาวเทียมในอนาคตจะไม่ใช่เพียงแค่ดาวเทียมสื่อสาร แต่จะมีดาวเทียมอินเทอร์เน็ตจำนวนมากเกิดขึ้น เพราะแนวโน้มของโลกมุ่งไปสู่การลงทุนในบริการที่เกิดจากดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่
สำหรับดาวเทียมแบบวงโคจรไม่ประจำที่ที่มิใช่ดาวเทียมสื่อสารนั้น ได้แก่ ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมนำร่อง ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำกับดูแลแต่อย่างใด เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และจำเป็นต้องทำงานประสานกันในหลายภาคส่วน ซึ่งถือเป็นเรื่องระดับนโยบายของประเทศด้วยเช่นกัน
กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจกรรมอวกาศระดับชาติไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทย หรือประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ในระดับสหภาพยุโรปเองก็เป็นประเด็นปัญหาเช่นกัน ดังนั้นจึงเกิดโครงการร่วมกันในเรื่องดังกล่าวขึ้น ได้แก่ “Project 2001 Legal Framework for the Commercial Use of Outer Space” ที่ริเริ่มขึ้นในปี 1997 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทำงานด้านกฎหมายอวกาศแห่งชาติได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการที่กรุงมิวนิก ในเดือนธันวาคมปี 2000
โดยสถาบันกฎหมายอากาศและอวกาศของมหาวิทยาลัยโคโลญจน์ ร่วมกับศูนย์การบินและอวกาศของเยอรมัน ได้ทำการวิเคราะห์ว่าควรมีการสร้าง Building Blocks สำหรับกฎหมายอวกาศแห่งชาติ หรือเรียกว่าควรมีการระบุพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบระดับชาติของแต่ละประเทศขึ้น
ในฝรั่งเศสได้ออกพระราชบัญญัติการปฏิบัติการทางอวกาศขึ้น ซึ่งในมาตรา 2 กำหนดว่า การให้ใบอนุญาตสำหรับทุกการปฏิบัติการอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในการปล่อยหรือพยายามส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศ หรือการรักษา หรือการควบคุมวัตถุอวกาศในระหว่างที่อยู่ในอวกาศ หรือระหว่างการกลับสู่พื้นโลก รวมถึงการปฏิบัติการอวกาศบนดวงจันทร์หรือเทหวัตถุอื่นนั้นจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากองค์กรฝ่ายปกครอง (autorité administrative) ที่มีอำนาจของฝรั่งเศสก่อน โดยบุคคลดังต่อไปนี้ต้องเป็นคนดำเนินการขอใบอนุญาต
- ผู้ประกอบการทุกคนไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดก็ตามที่ตั้งใจจะส่งวัตถุอวกาศจากดินแดนของฝรั่งเศส หรือจากสถานที่ที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของฝรั่งเศส หรือผู้ที่ตั้งใจจะส่งคืนวัตถุดังกล่าวกลับไปยังดินแดนของฝรั่งเศส หรือส่งคืนวัตถุดังกล่าวไปยังสถานที่ที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของฝรั่งเศส
- ผู้ประกอบการชาวฝรั่งเศสใด ๆ ที่ตั้งใจจะส่งวัตถุอวกาศจากดินแดนของรัฐต่างประเทศ หรือจากสถานที่ที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของรัฐต่างประเทศ หรือจากพื้นที่ที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐใด หรือตั้งใจจะส่งคืนวัตถุอวกาศไปยังดินแดนของรัฐต่างประเทศ หรือไปยังสถานที่ที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลของรัฐต่างประเทศ หรือในพื้นที่ที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐใด
- บุคคลธรรมดาใด ๆ ที่มีสัญชาติฝรั่งเศสหรือนิติบุคคลตามกฎหมายที่มีสำนักงานจดทะเบียนในฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ตั้งใจจะปล่อยวัตถุอวกาศหรือผู้ปฏิบัติงานชาวฝรั่งเศสที่ตั้งใจจะรับรองการควบคุมวัตถุดังกล่าวในระหว่างที่อยู่ในอวกาศ
จะเห็นได้ว่ากิจการอวกาศและอุตสาหกรรมดาวเทียมนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดทิศทางในการวางนโยบายการกำกับดูแลในหลากหลายมิติ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องทำแผนการศึกษาข้อมูลของต่างประเทศประกอบควบคู่กันไปด้วยเพื่อรองรับการเปิดเสรีดาวเทียมในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
แต่ก่อนจะพิจารณาถึงเรื่องเหล่านี้ก็อย่าลืมเรื่องสำคัญที่ไทยยังขาดอยู่และต้องทำเป็นอันดับแรก นั่นคือ ไทยยังไม่มีกฎหมายอวกาศภายในประเทศ (National Space Law) โดยตรงที่รับผิดชอบในเรื่องการกำกับและดูแลกิจการอวกาศ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ต้องทำหากต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ เนื่องจากการมีกฎหมายอวกาศควบคุมจะทำให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด อีกทั้งจะทำให้มีกลไกเพื่อรองรับการเข้าร่วมใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศของประเทศที่สอดคล้องกับหลักสากลตามที่สหประชาชาติกำหนดอีกด้วย...บทความโดย ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์