ไทยเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ไทยเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ประเทศไทยได้เริ่มใช้มาตรการนำร่องเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว มาตรการแรก 1 เม.ย.และมาตรการต่อไปจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค.นี้

มาตรการแรกได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนต้านไวรัสครบโดส โดยหวังว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวในไทยรวมประมาณ 3 แสนคน มาตรการต่อไปจะเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งจะเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว หากตรวจแล้วปลอดเชื้อก็จะสามารถเดินทางไปเที่ยวที่ไหนก็ได้

เมื่อเราเริ่มเปิดประเทศกันแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะทบทวนศักยภาพและขีดความสามารถในอดีตด้วยเหตุผล 2 ประการคือ หนึ่ง สรุปบทเรียนที่ผ่านมาเพื่อแสวงหาแนวทางที่ดีกว่าเพื่อเตรียมรับอนาคต สอง เข้าใจสถานภาพของตนเองอย่างแท้จริงเพื่อต่อยอดไปในวันข้างหน้า วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับสถานภาพของการท่องเที่ยวไทยก่อนการระบาดของโควิด-19

การศึกษาเปรียบเทียบวิวัฒนาการของท่องเที่ยวไทยและการท่องเที่ยวโลกของมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ภายใต้การสนับสนุนของ บพข. ที่ใช้ Latent Growth Model ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2562 พบว่าขีดความสามารถมีแนวโน้มดีขึ้นทั้งในระดับโลกและประเทศไทย แต่วิวัฒนาการของการท่องเที่ยวโลกมีลักษณะเป็น Supply Pull ก็คือประเทศที่มีความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากผลลัพธ์ของการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวมากกว่าท่องเที่ยวในประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะมีความได้เปรียบเรื่องการเปิดรับนานาชาติ สารสนเทศและการสื่อสารและราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งเป็นปัจจัยทางบวกกลุ่มเดียวกับปัจจัยที่ขับเคลื่อนวิวัฒนาการของโลก แต่ไทยก็มีจุดอ่อนมากในเรื่องความปลอดภัย สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งสามสิ่งนี้จะเป็นสนิมที่กัดกร่อนศักยภาพในอนาคตทั้งสิ้น

การวิเคราะห์พัฒนาการของการท่องเที่ยวไทยโดยใช้วิธี Latent Growth Model พบว่า วิวัฒนาการของไทยต่างจากของโลกและเป็นการพัฒนาแบบ Demand Push ไม่ใช่ Supply Pull

การพัฒนาแบบ Demand Push นี้มีข้อดีคือการลงทุนในด้านการรองรับจะไม่เสียเปล่าและคนท้องถิ่นก็ได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน แต่ข้อด้อยก็คืออาจจะเกิดปัญหาท่องเที่ยวล้นเกิน (Overtourism) และสาธารณูปโภคพัฒนามารองรับไม่ทัน ทำให้เกิดผลกระทบในด้านความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นดังที่เราเห็นอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักทุกวันนี้

การวิเคราะห์แนวโน้ม ศักยภาพ และปัจจัยแห่งความสำเร็จ ทำให้พบว่าในรอบทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยมีวิวัฒนาการด้านการท่องเที่ยวอย่างสูงจนกระทั่งได้กลายเป็นอันดับ 3 ของโลกในฐานะประเทศที่มีรายได้สุทธิจากการท่องเที่ยวนานาชาติสูงที่สุด และมีจำนวนผู้มาเยือนติดลำดับ 8 ของโลก

 อย่างไรก็ดี การศึกษาศักยภาพโดยเปรียบเทียบโดยอาศัยดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของ World Economic Forum (WEF) พบว่า ไทยยังอยู่ในลำดับที่ 31 มีความเหลื่อมล้ำมากระหว่างลำดับที่ในด้านดีมานด์ (วัดจากรายได้) และลำดับที่ในด้านซัพพลาย (วัดจากขีดความสามารถในการแข่งขัน) ยืนยันความเสี่ยงที่จะนำมาสู่ปัญหาการมีนักท่องเที่ยวมากเกินการรองรับ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรท่องเที่ยวได้ในอนาคตดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

การศึกษาประสิทธิภาพของจังหวัดต่างๆ โดยใช้วิธี Data Envelopment Analysis (DEA) พบว่ามี
6 จังหวัดที่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุดได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี เพชรบุรี พังงา สตูล และระนอง สำหรับจังหวัดกลุ่มนี้หากต้องการเพิ่มรายได้หรือจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากกว่าที่เคยได้ในปี พ.ศ.
2562 ต้องขยายกำลังรองรับ สิ่งดึงดูดใจ หรือการจัดการให้มากขึ้น

แต่ยังมีจังหวัดอื่นๆ ที่มีชายหาดที่มีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ในทำนองเดียวกับภูเก็ต และชลบุรี ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ ตราด และจันทบุรี ซึ่งยังอาจขยายรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องเพิ่มปัจจัยนำเข้า โดยเฉพาะสงขลา มีโอกาสเพิ่มรายได้อีกเป็นแสนล้านบาท แต่การเพิ่มรายได้นี้ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ต

การศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้วิธี Normalized Comparative Advantage Ratio (NCAR) และ Shift Share Analysis แสดงให้เห็นว่า ในตลาดท่องเที่ยวของอินเดียและรัสเซีย ประเทศไทยเป็นประเทศ “ดาวรุ่ง” พุ่งแรงอย่างชัดเจน

ส่วนจีนและเกาหลีใต้ เป็นตลาดที่ขยายตัวของการท่องเที่ยวสูงกว่าความสามารถของอัตราดูดซับนักท่องเที่ยวของประเทศไทย เราจึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า คว้าไม่ทัน”   ประเทศไทยไม่ได้สนใจตลาดอาเซียนมากนักเพราะเป็นช่วงยุคทองของนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซีย

สำหรับตลาดอาเซียนอยู่ในสถานภาพ “ตั้งรับปรับตัว” เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอาเซียน กล่าวคือ ประเทศไทยมีความสามารถในการดูดซับนักท่องเที่ยวอาเซียนลดลง แต่ยังลดลงช้ากว่าตลาดอาเซียนโดยรวมหมายความว่าประเทศอาเซียนต่างไม่สนใจตลาดของกันและกัน ต่างก็พยายามไปไขว่คว้าตลาดนอกภูมิภาค

 ส่วนสองตลาดสุดท้าย ได้แก่  ยุโรปตะวันตก (ยกเว้นรัสเซีย) และตลาดโอเชียเนีย ไทยตกอยู่ในสภาวะ “ถอยนำ” คือตลาดเหล่านี้เริ่มหดตัว แต่การดูดซับนักท่องเที่ยวของไทยนั้นหดตัวมากกว่าการหดตัวของตลาด ยิ่งมาซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ก็มีโอกาสที่ตลาดนี้จะซึมยาว

ส่วนตลาดอเมริกาเหนือ ไทยอยู่ในสถานะที่เรียกว่า “เสียโอกาส” คือแนวโน้มของตลาดนี้ขยายตัวนี้ดีขึ้น แต่ความสามารถในการดึงดูดของไทยจากตลาดนี้กลับลดลง ในช่วงโควิด-19 มีการศึกษาว่าคนรวยในสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย ยังมีการออมสูงและไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในขณะที่คนรวยในยุโรปกลับกังวลและระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นเราจึงมีโอกาสขยาย Luxury Market ในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย

การศึกษาโดยวิธี Shift Share Analysis มีนัยว่าประเทศไทยควรให้ความสนใจกับตลาดอาเซียน และตลาดอินเดียมากขึ้น โดยต้องมีการวิจัยและพัฒนาให้สามารถที่จะขยายจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาจากวัฒนธรรมตะวันตกหรือวัฒนธรรมของขงจื้อ ซึ่งไทยมีความถนัดในการรองรับมากกว่าเพื่อสามารถแก้ไขปัญหาหรือข้อกังวล (Pain Point) ของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ และทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวเหล่านี้มีความสะดวกสบายสอดคล้องกับประเพณีนิยมของตนได้มากขึ้น

สำหรับตลาดที่ประเทศไทยจะต้องทำการวางแผนใหม่ ได้แก่ ตลาดอเมริกาเหนือและตลาดโอเชียเนีย ซึ่งประเทศไทยเริ่มไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันและยังไม่มีความชำนาญพิเศษ สี่ตลาดบนนี้ ควรจะมีการวิจัยและพัฒนาด้านการตลาด รสนิยม และข้อกังวล (Pain Points) ผู้บริโภคเพิ่มเติม

ส่วนตลาดที่เหลือนั้นคือ จีน เกาหลีใต้ และรัสเซีย มีความสนใจประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจึงควรจะเป็นตลาดที่ไทยให้ความสนใจและสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ สำหรับไลฟ์สไตล์ให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มความดึงดูดใจเป็นพิเศษและมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องในระยะยาว

ระหว่างที่รอนี้ ททท. ก็ควรจะใช้สื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ สร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องกับลูกค้าให้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะกลับมาเที่ยวประเทศไทย

ยังไงๆ วันนั้นวันฟ้าสีทอง ก็ต้องมาค่ะ.