พลังผู้บริโภค เพื่อโลก เพื่อสิ่งแวดล้อม

พลังผู้บริโภค เพื่อโลก เพื่อสิ่งแวดล้อม

ทุกภาคส่วนหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภาครัฐออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม

บทความโดย พรนภา ยะปาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

        นโยบายที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของเราคือ นโยบายด้านการผลิตและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคเอกชนปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภาครัฐมีนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานกลางที่เชื่อถือได้

แม้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือ การสั่งซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ แต่ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนนั้น ต้องเป็นพลังของผู้บริโภคระดับครัวเรือน  ซึ่งจะเป็นอุปสงค์ขนาดใหญ่พอที่จะเป็นคาดงัดให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ผ่านการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  

ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจและต้องการข้อมูลที่ชัดเจน

เมื่อต้องเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคหลายรายว่ามีข้อสงสัยว่าสินค้าประเภทไหนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม? จะรู้ได้อย่างไรว่าในท้องตลาดมีสินค้าประเภทไหนบ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แล้วสินค้าที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วหรือยัง? นอกจากฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-label) แล้วยังมองหาข้อมูลอื่นๆ เพิ่ม

161840746959

ยกตัวอย่างกรณีสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจคลาดเคลื่อน คือใยหิน (Stone Wool) และ แร่ใย่หิน (Asbestos) น้อยคนที่จะรู้ว่า ใยหิน มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันไฟ กันความร้อน และดูดซับเสียง จึงนิยมนำมาใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ส่วน แร่ใยหินซึ่งหนียว ทนทานต่อแรงดึง และทนความร้อน  ได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผ้าเบรก ท่อซีเมนต์  กระเบื้องมุงหลังคา เป็นต้น แต่หากมีการเสียดสีหรือโดนความร้อนสูง จะสามารถแตกตัวเป็นอนุภาคขนาดเล็กและมีความคมมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบการหายใจและปอด บางประเทศจึงควบคุมการใช้แร่ใยหิน

อีกกรณีหนึ่งที่ผู้บริโภคอาจมีความสับสน คือ พลาสติกประเภทไหนสามารถนำกลับไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้บ้าง แม้บางคนจะพอมีข้อมูลอยู่บ้างว่ามีพลาสติกอยู่ 7 ประเภท  ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ก็มองหาสัญญลักษณ์เหล่านั้นบนผลิตภัณฑ์ได้ค่อนข้างยาก นอกจากนี้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นยังพลาสติกมาจากพลาสติกหลายประเภทด้วย ซึ่งทำให้ยากในการนำไปรีไซเคิล จึงน่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตในการทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน

มุ่งอาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าประหยัดพลังงาน รีไซเคิลได้ และใช้ได้ทน 

ปัจจุบัน พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคอาจจะมีแบบแผนไม่ชัดเจนมากนัก ส่วนใหญ่มุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน การมีบรรจุภัณฑ์ไม่มากเกินไป และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อนให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ ยังมีกระแสมุ่งไปที่อาหาร รถยนต์ เสื้อผ้า และข้าวของเครื่องใช้ในบ้านมากขึ้น  จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะพัฒนาให้สินค้าเหล่านี้มีความใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ เพื่อลดการปล่อยของเสียและก๊าซเรือนกระจก

161840744867

หากจะเจาะเรื่องอาหารแล้ว จะพบว่าผู้บริโภคให้ความสนใจเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของแบรนด์หรือผู้ผลิตสินค้า คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ การลดมลพิษจากการผลิตและการขาย เป็นอาหารเดิมๆ ที่คุ้นเคย ความน่าทานของอาหาร ราคาไม่ต่ำจนเกินไป ฉลากแสดงว่าเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  และการหาซื้อได้ไม่ยากนัก

มีงานวิจัยยืนยันว่า ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดและมีผลมากเรื่อยๆ คือ ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่มีประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมักเลือกผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์เดิมที่เคยซื้อและราคาที่ต่ำ

ขณะที่การเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ จะคำนึงถึงความทนทานในการใช้งาน เนื่องจากต้องอยู่กับเฟอร์นิเจอร์กันอีกหลายสิบปี ดังนั้น คุณสมบัติการใช้งานและคุณภาพของมันจึงมักเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผู้บิโภคคิดถึง นอกจากนั้น ยังดูในเรื่องความไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เหนือจากดีไซน์ ความสวยงาน บ่งบอกรสนิยมของผู้ซื้อ และราคา 

เงื่อนไขของผู้บริโภคที่ไม่ควรมองข้าม

หลายครั้งที่เราเห็นชัดว่า การที่ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กลับมีพฤติกรรมไปในทางตรงกันข้าม เกิดอะไรขึ้น หรือว่าทัศนคติด้านสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ? นักการตลาดสรุปกันว่าปัจจัยที่มีผลต่อผู้บริโภคอาจไม่ใช่ความตระหนัก แต่เป็นความรู้เกี่ยวกับข้อมูลสินค้าเหล่านั้นต่างหาก ที่เป็นกุญแจสำคัญที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติของผู้บริโภค นักการตลาดจึงคำนึงถึงประเด็นนี้เพื่อเลือกวิธีที่ดีที่สุดที่ส่งผลต่อทัศนคติของผู้บริโภค

161840742879

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขโดยรวมซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อสรุปเกี่ยวกับการตัดสินใจของผู้บริโภค สรุปได้ว่าขึ้นอยู่กับ “ปัจจัยส่วนบุคคล ข้อค้นพบที่สำคัญก็คือผู้หญิงและผู้ชายไม่มีความแตกต่างในการตัดสินใจซื้อ แต่วัยที่ต่างกันจะมีผลมากกว่า เนื่องจากเชื่อมโยงกับเรื่องรายได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่จำเจแบบเดิม บนฐานประสบการณ์ที่ดีและความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ   นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคำนึงถึง คุณลักษณะและการตลาดของสินค้า  ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น นอกจากจะมีฉลากสินค้ายืนยันแล้ว ยังให้ความสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับการบรรจุภัณฑ์ แหล่งที่มาของวัตถุดิบ การปล่อยของเสียและก๊าซเรือนกระจก

อิทธิพลทางสังคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวข้องกับคนรอบข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากคนเรายังต้องการสังคม การรวมกลุ่ม และการยอมรับ นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมทำตามผู้นำ และต้องยอมรับว่าสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทที่ชัดเจน

 การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริโภค ได้ทราบเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฉลากรับรองสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยในการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น การขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องไม่มองข้ามการให้ข้อมูล การสร้างความเข้าใจ การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้เอื้อและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยผลักดันอุปทานการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น.