'รัฐสวัสดิการ' เริ่มต้นที่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ผู้ที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับ 'รัฐสวัสดิการ' คงคุ้นเคยกับข้อเสนอของฝ่ายสนับสนุนว่า ไทยไม่ใช่ประเทศยากจน จึงสามารถทำให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นได้
แต่หากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่า ข้อเสนอนั้นยังคงมีความหลากหลายอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะจากสองฝ่ายใหญ่ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งเสนอว่าสามารถทำให้เกิดรัฐสวัสดิการได้ทันที กับอีกฝ่ายที่เสนอว่าควรต้องพิจารณารายละเอียดของรายรับรายจ่ายอย่างรอบคอบเสียก่อน
เหตุใดผู้คนที่สนับสนุนสิ่งเดียวกันจึงมีข้อเสนอที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก คำตอบอาจอยู่ที่การที่แต่ละฝ่ายไม่ได้พยายามทำความเข้าใจกับเรื่องเดียวกันให้เข้าใจตรงกัน
ข้อสังเกตในเรื่องนี้เกิดขึ้นมาในขณะที่ผมตรวจข้อสอบของนักศึกษา ซึ่งแม้ว่ากิจกรรมการตรวจข้อสอบจะเป็นกิจกรรมที่เพื่อนหลายคนรวมถึงตัวเองไม่ค่อยจะสนุกนัก แต่ในอีกมุมหนึ่งการตรวจข้อสอบแทบทุกครั้งก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจได้ด้วยเช่นกัน
การสื่อสารด้วยการเขียนนั้นโดยปกติแล้วจะเป็นการสื่อสารที่มีความรอบคอบมากกว่าการพูดคุยแบบถามตอบเพราะการสื่อสารด้วยการเขียนต้องใช้เวลา เมื่อต้องใช้เวลาจึงสามารถทำให้ผู้ส่งสารสามารถพินิจพิจารณาสิ่งที่ตนจะสื่อสารได้อย่างละเอียดรอบคอบกว่าการตอบแบบพูดไปในทันที ดังนั้นคำตอบในข้อสอบของนักศึกษาที่เขียนตอบมาจึงน่าจะพิจารณาได้ว่าได้ผ่านการพินิจพิจารณามาพอสมควรแล้วบนสถานการณ์ที่นักศึกษามีเวลาทำข้อสอบหลายวันด้วยการสอบแบบเทคโฮม
บางประเด็นที่น่าสนใจที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นทางสังคมของการตรวจข้อสอบในครั้งนี้คือ ข้อสังเกตที่ว่าการที่ทุกวันนี้ผู้คนในสังคมสื่อสารกันได้ลำบากหรือไม่สามารถเจรจาพูดคุยกันได้สำเร็จ,อาจไม่ใช่เป็นเพราะคนเหล่านั้นมีจุดมุ่งหมายต่างกันหรือมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะสื่อสารกัน แต่อาจเป็นเพราะแต่ละคนให้ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือให้การใส่ใจกับคำถามหรือข้อเสนอของอีกฝ่าย,รวมถึงการใช้คำหรือการให้ความหมายของคำเพื่อสื่อความหมายให้ตรงกัน
การสื่อสารที่จะสามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายจะต้องเป็นการสื่อสารที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและกัน กล่าวคือเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะเสนอได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับประเด็นหรือข้อเสนอนั้นๆหรือไม่ก็ตาม การทำเช่นนี้แม้ยังมิใช่การรับประกันว่าเป้าหมายของทั้งสองฝ่ายจะต้องบรรลุผลสำเร็จ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นการรับรองได้ว่าการสื่อสารเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ตนต้องการสื่อนั้นจะบรรลุผล
ที่กล่าวว่าการตรวจข้อสอบทำให้เกิดข้อสังเกตว่าทุกวันนี้ผู้คนในสังคมสื่อสารกันคลาดเคลื่อนไปมากอันเนื่องมาจากการไม่ให้ความสำคัญกับคำถามหรือเสนอข้อรวมถึงการไม่ใส่ใจกับการใช้คำหรือการให้ความหมายของคำเพื่อสื่อความหมายมาจากสถานการณ์ที่ว่ามีนักศึกษาจำนวนมากตอบข้อสอบไม่ตรงคำถาม หรือที่มักจะพูดกันเล่นๆว่าอาจารย์ถามไม่ตรงคำตอบ
การตอบไม่ตรงคำถามในหลายกรณีไม่ได้เป็นเพราะว่านักศึกษาไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ หากแต่เป็นเพราะนักศึกษาไม่ได้ใส่ใจที่จะพิจารณาคำถามให้ชัดเจนว่าผู้ถามต้องการถามว่าอะไร
ยกตัวอย่างเช่นคำถามที่ว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่าสินค้าที่รัฐผลิตขึ้นนั้นเรียกว่าสินค้าสาธารณะ” คำตอบของนักศึกษาจำนวนมากคือ “ไม่เห็นด้วยเพราะภาคเอกชนก็สามารถผลิตสินค้าสาธารณะได้” ซึ่งประเด็นที่น่าสนในของคำตอบนี้อยู่ตรงที่ว่า นักศึกษามีความรู้ว่า “สินค้าสาธารณะ” คืออะไร แต่นักศึกษาไม่ได้ใส่ใจกับคำถามที่ถามว่า “สินค้า” ที่รัฐผลิตขึ้นนั้นเรียกว่า “สินค้าสาธารณะ” ใช่หรือไม่
เพราะหากนักศึกษาใส่ใจกับคำถาม คำตอบที่นักศึกษาควรจะตอบน่าจะเป็นว่า “เห็นด้วย เพราะสินค้าต่างๆที่รัฐผลิตขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าสาธารณะเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้...” หรือไม่ก็อาจตอบว่า “ไม่เห็นด้วย เพราะสินค้าบางอย่างที่รัฐผลิตขึ้นก็ไม่ใช่สินค้าสาธารณะ เช่น....” ส่วนคำตอบที่ว่าภาคเอกชนก็สามารถผลิตสินค้าสาธารณะได้นั้นจะถูกหรือผิดอย่างไรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งนอกเหนือไปจากคำถามนี้
อีกกรณีหนึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาของการเข้าใจความหมายของ “คำ” หรือ “ชื่อเรียก” ที่ไม่ตรงกัน ยกตัวอย่างคำถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่ารัฐทำการผลิตสินค้าสาธารณะเพื่อมุ่งหวังกำไร” นักศึกษาจำนวนไม่น้อยตอบว่า “ไม่เห็นด้วย เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาบริการสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน”
กรณีนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเข้าใจคำหรือชื่อเรียกที่ว่า “สินค้าสาธารณะ” แตกต่างจากที่อาจารย์ผู้ออกข้อสอบเข้าใจ อาจารย์เข้าใจว่า “สินค้าสาธารณะ” นั้นเป็นคำศัพท์เฉพาะในทางเศรษฐศาสตร์มีความหมายเฉพาะถึงสินค้าที่ภาคเอกชนมักจะไม่ผลิตเพราะไม่สามารถกีดกันผู้ไม่จ่ายค่าบริการได้ ส่วนนักศึกษาเข้าใจว่า “สินค้าสาธารณะ” มีคำว่าสาธารณะอยู่ด้วย
จึงน่าจะมีความหมายเช่นเดียวกับ “บริการสาธารณะ” อันหมายถึงบริการที่ภาครัฐจัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งประชาชนอาจจะต้องร่วมจ่ายหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นถึงแม้ว่าข้อความที่ว่ารัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาบริการสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันจะเป็นข้อความที่ถูกต้อง แต่ก็เป็นความถูกต้องที่อยู่ผิดที่ผิดทาง
การใส่ใจกับคำถามและความเข้าใจความหมายของคำที่กล่าวมาข้างต้นนั้น สะท้อนให้สามารถทำความเข้าใจกับประเด็นทางสังคมที่สำคัญอย่างเรื่องรัฐสวัสดิการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
ข้อเสนอจากบางฝ่ายว่ารัฐสวัสดิการสามารถทำได้ทันที ข้อเสนอจากบางฝ่ายที่ว่าเพียงแค่ลดงบประมาณจากบางกระทรวงที่ไม่จำเป็นลงก็จะสามารถนำงบประมาณส่วนนั้นมาจัดทำรัฐสวัสดิการได้แล้ว
ข้อเสนอที่ท้วงติงว่าควรจะต้องมีการคำนวณงบประมาณทั้งรายรับจากภาษีและรายจ่ายด้านสวัสดิการให้รอบคอบเสียก่อน จึงจะทำรัฐสวัสดิการได้ รวมถึงคำถามว่าประชาชนทุกคนพร้อมจ่ายภาษีที่แพงขึ้นมากหรือไม่เพื่อแลกกับการมีรัฐสวัสดิการ
คำถามและข้อเสนอเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า บรรดาผู้ที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการยังไม่ได้เปิดใจรับฟังหรือยังไม่ได้ใส่ใจกับข้อเสนอต่างๆของแต่ละฝ่ายอย่างตั้งใจนักจึงอาจไม่ได้รับรู้ว่า “รัฐสวัสดิการ” ในมโนภาพของผู้คนกลุ่มต่างๆนั้นอาจไม่เหมือนกันกับมโนภาพรัฐสวัสดิการของตน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจต่างกันไปจนถึงขนาดที่ว่ารัฐ “รัฐสวัสดิการ” ของแต่ละคนนั้นเป็นจุดหมายเพื่อให้ผู้คนมีสวัสดิการที่ไม่ต้องจ่ายเงิน หรือเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้บรรลุจุดหมายเรื่องความเท่าเทียมในสังคม
การผลักดันประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการนั้น จึงน่าจะเริ่มต้นที่การพยายามแสวงหาแนวร่วม ด้วยการทำความเข้าใจให้ตรงกันในหมู่ผู้สนับสนุนรัฐสวัสดิการจากนั้น จึงขยายความคิดนี้ไปยังคนกลุ่มอื่นๆ ที่หลากหลายในสังคมเพื่อร่วมกันผลักดันให้เป็นฉันทามติของสังคมร่วมกัน.
บทความโดย
ตะวัน วรรณรัตน์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น