รู้จัก 'สัมฤทธิศาสตร์' คู่มือนำชาติออกจากวิกฤติ
ต้นเดือนที่แล้ว ผมได้ร่วมให้ความเห็นเรื่องธรรมาภิบาลวัดในพุทธศาสนาในประเด็น แนวคิดใหม่ในการบริหารศาสนสมบัติ จัดโดยมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส
ก่อนเริ่มงาน ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้แสดงปาฐกถาและพูดถึงความมหัศจรรย์ของการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งน่าสนใจมากโดยจับประเด็นว่า ที่ประเทศเรามีปัญหามากเพราะขาดการคิดเป็นระบบและการจัดการเป็นระบบ และเมื่อหลักคิดผิดและการปฏิบัติไม่ถูก ปัญหาก็แก้ไขไม่ได้ ซ้ำยังจะสร้างความเสียหาย
ยกตัวอย่างวัดในพระพุทธศาสนาปัจจุบันมีกว่าสี่หมื่นวัด มีพระสงฆ์และสามเณรกว่าสามแสนรูป มีคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นปัญญาสูงสุดของโลก และมีประชาชนที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก นี่คือทุนหรือ assets ที่ประเทศมี แต่เราขาดการคิดและบริหารที่เป็นระบบที่จะใช้ประโยชน์ หรือ capitalize ทุนเหล่านี้ ซึ่งน่าเสียดาย ทั้งนี้ก็เพราะเราขาดการคิดและการบริหารอย่างเป็นระบบ แต่ถ้าทำได้ การผสมผสานทุนที่มีก็จะขับเคลื่อนประเทศและสังคมได้อย่างมหัศจรรย์
อีกตัวอย่างที่ผมชอบคือ เครื่องบิน ที่คุณหมอประเวศพูดว่า มีชิ้นส่วนมากมายที่ประกอบขึ้นเป็นเครื่องบินแต่ส่วนประกอบแต่ละชิ้นทำอะไรเองไม่ได้ บินไม่ได้ แต่เมื่อมีองค์ประกอบครบ และนำองค์ประกอบเหล่านี้มาทำงานร่วมกันด้วยความรู้ สิ่งใหม่ก็จะเกิดขึ้นอย่างมหัศจรรย์ คือ เครื่องบินที่บินได้ นี่คือปัญหาที่ประเทศเรามี คือ เรามีคนมากมายที่ทำงานในระดับองค์ประกอบ เก่งด้านเทคนิคแต่ไม่มีการคิดเชิงระบบและการจัดการเป็นระบบ จึงไม่สามารถพัฒนาสิ่งที่ประเทศมีให้เกิดเป็นความมหัศจรรย์ได้ เช่น ระบบการศึกษาก็เน้นเรื่องเทคนิค ระบบราชการก็เน้นการควบคุม ประเทศจึงไม่สามารถใช้ทรัพยากรหรือทุนที่ประเทศมีทำให้เกิดความมหัศจรรย์ที่จะนำพาประเทศให้รุ่งเรือง
คุณหมอให้ความเห็นว่า ทางออกในเรื่องนี้คือ “สัมฤทธิศาสตร์” หรือ คู่มือพาชาติออกจากวิกฤติ เป็นแนวทางการคิดและจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดกระบวนการทำนโยบายสาธารณะใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี และถ้ายึดแนวทางนี้จะสำเร็จแน่นอน แต่ไม่ได้ขยายความว่า “สัมฤทธิศาสตร์” มีรายละเอียดอย่างไร เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ทางมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติได้ส่งเอกสาร “คู่มือขับเคลื่อนระบบนโยบายครบวงจร 12 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ” มาให้ผม ซึ่งผมอ่านแล้วก็เข้าใจมากขึ้น และแนวคิดตรงกับงานของมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลที่กำลังทำอยู่ ที่ต้องการทำให้กระบวนการทำนโยบายสาธารณะของประเทศดีขึ้น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ย้อนกลับไปห้าสิบปี ผมจำได้ว่าเราก็ถกเถียงกันว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่คน หรือ ระบบ มีผู้ใหญ่คนหนึ่งในกระทรวงการคลังเคยถามผม ซึ่งผมก็ตอบแบบแทงกั๊กว่า เป็นปัญหาทั้งสองอย่าง แต่คนไทยจำนวนมากมองว่าปัญหาน่าจะอยู่ที่คน คือถ้าได้คนดีมาทำงานให้บ้านเมือง ความผิดพลาดก็จะน้อย แต่คนดีจะบริหารบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไรถ้าระบบไม่ดี เพราะพฤติกรรมของคนเป็นผลจากระบบ ดีไม่ดีคนดีก็จะกลายเป็นคนไม่ดีไปด้วยจากแรงกดดันของระบบที่ไม่ดี ตรงกันข้าม ถ้าคนดีทำงานในระบบที่ดี งานก็จะไปไกล ขณะเดียวกัน คนไม่ดีที่อยู่ในระบบที่ดีก็อาจเป็นคนดีขึ้นมาได้ เพราะไม่มีโอกาสที่จะทำอะไรที่ไม่ควร
นี่คือความสำคัญของระบบ และจุดสำคัญที่สุดในการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ คือ กระบวนการทำนโยบายสาธารณะของประเทศที่การตัดสินใจกระทบคนทั้งประเทศ ทั้งดีและไม่ดี ทำให้กระบวนการทำนโยบายสาธารณะต้องเป็น ระบบงานที่ดี เปิดกว้าง มีเหตุมีผลและมีส่วนร่วมของประชาชน นี่คือ หัวใจของ “สัมฤทธิศาสตร์”
คุณหมอประเวศ นิยาม “สัมฤทธิศาสตร์” คือ ศาสตร์ที่จะนำความสำเร็จมาให้ เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย 12 ขั้นตอน ได้แก่ หนึ่ง ข้อมูลที่ให้ข้อเท็จจริงว่าปัญหาคืออะไร สอง มีความต้องการทางการเมือง หรือ Political Will ที่จะแก้ปัญหา สาม สังเคราะห์ปัญหาเป็นนโยบายและแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนสิ่งที่ต้องทำ
สี่ ทำเอกสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคมว่า การทำนโยบายสำคัญอย่างไร เพื่อให้เกิดกระแสสังคม ห้า เชิญบุคลากรจากภายนอกแบบกรรมการอิสระมาร่วมขับเคลื่อน เพื่อรักษาความมีเหตุผลและความเป็นกลาง หก สร้างเครื่องมือด้านนโยบายที่เปิดกว้างให้คนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน
เจ็ด มี Policy Mover หรือคนที่จะขับเคลื่อนการทำงานของอีก 11 ขั้นตอนให้ไปในทิศทางเดียวกัน แปด สร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมกันในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้นำ หรือ Policy leader เก้า มีแผนปฏิบัติงาน สิบ ทำตามแผนปฏิบัติงาน สิบเอ็ด มีการประเมินผลและติดตามแก้ไขปัญหาที่เจอ และ สิบสอง ผลการประเมินนำกลับไปสู่ขั้นตอนที่หนึ่งเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ให้ดีขึ้น
นี่คือ สัมฤทธิศาสตร์ที่เป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการทางปัญญาสูงสุด และที่สัมฤทธิศาสตร์ให้ความสำคัญมาก ในความเห็นผมเทียบกับกระบวนการทำนโยบายสาธารณะทั่วไปก็คือ หนึ่ง มีการติดตามประสานทุกขั้นตอนในกระบวนการทำนโยบายเพื่อลดข้อจำกัดด้านการปฏิบัติงาน โดย Policy Mover และสอง มี Policy leader ที่จะขับเคลื่อนการปฏิบัติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนจากภาครัฐ เป็นผู้มีความรู้ในภาคธุรกิจหรือภาคประชาสังคมก็ได้ที่มองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
ผมเห็นด้วยกับแนวคิด “สัมฤทธิศาสตร์” เพราะปัญหาของบ้านเราคือ ไม่มีกระบวนการทำนโยบายสาธารณะที่ดีที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นทางออกให้กับการแก้ไขปัญหาของประเทศ ในเรื่องนี้ผมเคยกล่าวหลายครั้งว่า สังคมเหมือนสิ่งมีชีวิต เมื่อร่างการเจ็บป่วยมีปัญหา ร่างกายก็จะระดมพลังที่ร่างกายมีมาแก้ปัญหา สังคมก็เช่นกัน ถ้าสังคมเกิดปัญหา กลไกของสังคมก็จะระดมทรัพยากรที่มีมาแก้ปัญหา ใช้ความรู้ความสามารถที่สังคมมี นำสังคมไปสู่การแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จ สัมฤทธิศาสตร์จึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่สังคมจะใช้ร่วมกันแก้ปัญหา.