European Super League ในมุมมองนักกฎหมาย
นักกฎหมายกีฬา ม.อ.ไขข้อสงสัยกรณีข่าวการจัดตั้ง European Super League (ESL) ที่กลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการฟุตบอลทั่วโลก
ในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้มีข่าวการจัดตั้ง European Super League (ESL) ขึ้นและกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการฟุตบอลทั่วโลก แต่ถ้าไม่ใช่คนในวงการฟุตบอลหรือแฟนบอลก็จะเกิดคำถามว่า ESL คืออะไร? ทำไมถึงได้รับความสนใจอย่างมาก? ทำไมต้องเป็นประเด็นที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการฟุตบอล? ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายกีฬา ผู้เขียนจึงขอสรุป ESL ในภาพรวมและทัศนะในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เข้าใจที่มาในการจัดตั้งและมุมมองทางกฎหมาย
“ESL” คือ รูปแบบการจัดการแข่งขันฟุตบอลในทวีปยุโรปแบบปิด (เอกชน) ซึ่งเป็นแนวความคิดในการสร้างการแข่งขันฟุตบอลรูปแบบใหม่โดยมี 20 สโมสรชั้นนำของยุโรปที่เข้าร่วมแข่งขัน แบ่งเป็น 15 สโมสรผู้ก่อตั้ง (ปัจจุบันมีสโมสรก่อตั้ง 12 สโมสร: 6 สโมสรจาก Premier League; 3 สโมสรจาก La Liga; และ 3 สโมสรจาก Serie A ส่วนอีก 3 สโมสรจะประกาศอีกครั้งก่อนเปิดฤดูกาลแข่งขัน) และอีก 5 ทีมรับเชิญซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมในแต่ละฤดูกาลโดยพิจารณาจากผลการแข่งขันในประเทศที่ผ่านมา
รูปแบบการแข่งขัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 สโมสร แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 รอบ คือ
(1) รอบแรก เป็นการแข่งขันแบบพบกันหมดเหย้า-เยือน โดย 3 สโมสรที่มีผลการแข่งขันที่ดีที่สุดของแต่ละกลุ่มจะได้เข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ จากนั้นสโมสรอันดับ 4 และ 5 ของแต่ละกลุ่มจะแข่งขันกันในรอบเพลย์ออฟเพื่อแย่งกันเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ รวมเป็น 8 สโมสร
(2) รอบก่อนรองชนะเลิศ เป็นการจับคู่การแข่งขันแบบเหย้า-เยือน โดย 2 สโมสรที่มีผลการแข่งขันที่ดีที่สุดของแต่ละกลุ่มจะได้เข้ารอบรองชนะเลิศ รวมเป็น 4 สโมสร
(3) รอบรองชนะเลิศ เป็นการจับคู่การแข่งขันแบบเหย้า-เยือน โดยสโมสรที่ชนะของแต่ละกลุ่มจะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ รวม 2 สโมสร
(4) รอบชิงชนะเลิศ เป็นการแข่งขันแบบนัดเดียวโดยใช้สนามฟุตบอลกลาง
อย่างไรก็ตาม 15 สโมสรผู้ก่อตั้งจะได้รับข้อยกเว้นที่จะถูกคัดออกจากการแข่งขันแม้ว่าผลงานของพวกเขาจะแย่อย่างต่อเนื่องก็ตาม
หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการจัดการแข่งขันนี้ คือ ผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยสโมสรผู้ก่อตั้งจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการบริหารจัดการสโมสรและส่วนแบ่งทางการเงินจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน โดยคาดว่าจะมีงบประมาณตั้งต้นประมาณ 3,700 ล้านยูโร และได้มีการประกาศให้เงินสนับสนุนสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันสโมสรละ 425 ล้านยูโรเพื่อเป็นการเริ่มต้น
จะเห็นได้ว่าการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาแบบปิดย่อมส่งผลกระทบต่อวงการกีฬาในภาพรวมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันฟุตบอลในหลายรายการของทวีปยุโรป ทำให้สหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (UEFA) และสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ออกมาประกาศว่านักฟุตบอลในสโมสรใดที่เข้าร่วมในการแข่งขัน ESL จะไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันในลีกระดับชาติและการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติที่อยู่ภายใต้การดูแลของ UEFA และ FIFA ถือเป็นการตัดสิทธิ์ให้ไม่สามารถเล่นในลีกอาชีพอื่นในยุโรปและไม่สามารถแข่งขันในนามทีมชาติได้
จึงเกิดเป็นคำถามว่า ประกาศของ UEFA และ FIFA มีผลบังคับได้หรือไม่อย่างไร เมื่อพิจารณาตามกฎหมายยุโรป จากจุดเริ่มต้นในคดีบอสแมน (Bosman) ซึ่งศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปได้ตัดสินให้มีการบังคับใช้หลักการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในการกีฬา (นักกีฬามีสิทธิ์ย้ายทีมได้อย่างอิสระ) นับแต่นั้นเป็นต้นมาสหภาพยุโรปตระหนักถึงการนำกฎหมายต่าง ๆ มาปรับใช้ทางการกีฬาในเรื่องที่เกี่ยวกับการปกป้องเสรีภาพของนักกีฬา ซึ่งการปรับใช้นั้นต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและลักษณะเฉพาะทางการกีฬาด้วย
ส่งผลให้มีการนำสนธิสัญญาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสหภาพยุโรป (TFEU) มาตรา 101 และ 102 ที่เป็นกฎหมายห้ามในเรื่องที่เกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า การใช้อำนาจเหนือตลาด และการผูกขาดทางการค้า มาปรับใช้ทางกีฬา โดยมองว่าสถาบันทางกีฬา (สหพันธ์กีฬาหรือลีกแข่งขันกีฬา) ถือเป็นองค์กรทางธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ด้วย
และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2007 ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่บทของสหภาพยุโรป ส่งผลให้มีการปรับแก้มาตรา 165 ของ TFEU โดยกำหนดให้สหภาพยุโรปต้องมีส่วนช่วยในการสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาในสหภาพยุโรปโดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะและโครงสร้างทางการกีฬาภายใต้บริบททางสังคมและการศึกษา ทั้งนี้ การดำเนินการต้องมีจุดมุ่งหมายเป็นไปเพื่อการพัฒนาในมิติด้านการกีฬาของสหภาพยุโรป การส่งเสริมความเป็นธรรมทางกีฬา การเปิดกว้างทางการแข่งขัน และความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกีฬา ตลอดจนการปกป้องนักกีฬาทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาเยาวชน
จากข้อกฎหมายที่กล่าวมาเป็นเพียงหลักกฎหมายพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งยังคงมีกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณา ซึ่งในเบื้องต้นนี้ต้องพิจารณาถึงหลักเสรีภาพในการแข่งขันกีฬาเป็นสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้วการแข่งขันกีฬาในปัจจุบันยังเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่ต้องมีการแข่งขันและแสวงหากำไร จึงต้องนำหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามาพิจารณาประกอบด้วย ทั้งนี้ ต้องพิจารณาว่าการจัดการแข่งขันของ ESL ส่งผลใดที่ขัดต่อหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปหรือไม่อย่างไร และประเด็นที่สำคัญที่ต้องพิจารณาคือสถานะทางกฎหมายของ ESL รวมถึง UEFA และ FIFA ว่าเป็นองค์กรที่จัดตั้งตามกฎหมายใด ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะทางกฎหมายและอำนาจในการกำหนดข้อห้ามหรือการกำหนดรูปแบบการดำเนินการด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยแรงกดดันที่เกิดขึ้นข้างต้นส่งผลให้สุดท้ายแล้ว ESL อาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งผู้เขียนคาดว่าทางทีมกฎหมายของ ESL น่าจะใช้ข้อโต้แย้งในเรื่องสิทธิเสรีภาพของนักกีฬาประกอบกับหลักกฎหมายมาตรา 165 ของ TFEU เรื่องการส่งเสริมความเป็นธรรมทางกีฬาและการเปิดกว้างทางการแข่งขัน และประเด็นเรื่องสภาพบังคับในคำสั่งห้ามของ UEFA และ FIFA เพื่อฟ้องร้องทางกฎหมายอย่างแน่นอน ซึ่งคงต้องรอดูผลลัพธ์ของการต่อสู้ทางกฎหมายดังกล่าวต่อไป.
บทความโดย พรพล เทศทอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์