ผลกระทบต่อธุรกิจ จ้างงาน สภาพคล่อง ยามที่โควิดระบาดระลอก3
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในไทยกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าที่คาดคิด! การระบาดดูเหมือนจะรุนแรงกว่า 2 ระลอกแรกอย่างมาก
แม้การพัฒนาของวัคซีนมีความชัดเจนมากขึ้น แต่ผลกระทบมิติทางเศรษฐกิจก็รุนแรงกว่ารอบก่อนๆ จากมติให้ยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยเฉพาะ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ ปทุมธานี คาดว่ามีแรงงานได้รับผลกระทบจากภาคการค้า ภัตตาคาร ร้านอาหาร ศูนย์การค้า โรงแรม เพียงแค่ 6 จังหวัดข้างต้นมากกว่า 3.12 ล้านคน
การสำรวจของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) เดือนเม.ย. ปรับลดลงกว่า 43% จาก มี.ค. โดยดัชนีลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ใกล้เคียงดัชนีความเชื่อมั่นเดือน เม.ย.2563 ผู้ประกอบกว่า 85% ประเมินกำลังซื้อผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือน มี.ค.มากกว่า 25% ขณะที่ยอดขายเดือน เม.ย. ได้รับผลกระทบ 15-40%
เมื่อยอดขายลดลง จากกำลังซื้อที่ลดลง จากชั่วโมงให้บริการที่ลดลง จากลูกค้าที่มาจับจ่ายลดลง ก็ส่งผลต่อการจ้างงาน ที่ต้องปรับลดชั่วโมงการทำงาน จนถึงลดอัตราคนทำงานและ leave without pay ในที่สุด
อีกทั้งข้อมูลจากสมาคมภัตตาคารไทยระบุว่ามาตรการการควบคุมสูงสุดและเข้มงวดส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการร้านอาหารที่คาดว่ายอดขายจะลดเหลือราว 20% จากรายได้ทั้งหมด ประเมินว่ามีผู้ประกอบการและลูกจ้างได้รับผลกระทบมากกว่า 5 แสนราย และโควิดระบาดระลอกใหม่ ฉุดธุรกิจโรงแรมกระทบลากยาวไปถึงสิ้นปี 2564 คาดแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 1.5 ล้านคน
ระบาดโควิดรอบนี้ซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ
ความรุนแรงของโควิดระลอกใหม่นี้ ยอดวันที่ 6 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 7 หมื่นรายไปแล้ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ระดับ “สองหลัก” ต่อวัน การกำหนดแนวปฏิบัติ ทั้งเรื่องปิดสถานบริการ จนถึงการห้ามจัดกิจกรรมที่รวมกลุ่มกันเกิน 20 คน ร้านอาหารเปิดบริการได้ถึง 21.00 น. และให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น กำหนดระยะเวลาเปิดบริการร้านสะดวกซื้อ ตี 4 ถึง 5 ทุ่ม ซึ่งเป็นยาแรง! หวังควบคุมการระบาด แต่อีกมุมหนึ่งได้ส่งผลกระทบถึงกลุ่มคนในตลาดแรงงานในวงกว้างอย่างไม่มีทางหลบเลี่ยง
ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์ผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นั้นถือเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ! และยิ่งทำให้ความหวังในการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ที่ 3% จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว 3 ล้านคนในไตรมาส 4 ดูจะริบหรี่ลงทุกวัน
ขณะที่ สำนักงานประกันสังคม วิเคราะห์การว่างงานรายอุตสาหกรรม พบว่า ในปี 2563 กว่า 67% ของผู้ประกันตนใช้สิทธิว่างงาน มาจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับแรงงานจบใหม่อีกกว่า “ครึ่งล้าน” ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ผลกระทบต่อแรงงานและร้านค้า
โดยปกติแล้วถ้าเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ อย่าง “วันแรงงาน” ร้านค้าในห้างสรรพสินค้าย่านใจกลางเมืองจะได้รับค่าแรงเป็น 2 เท่า แต่ดูเหมือนคงไม่ใช่สำหรับวันแรงงานปีนี้ เมื่อห้างต้องเลื่อนเวลาปิดเร็วขึ้น ชั่วโมงทำงานก็หายไป รายได้น้อยลงไปโดยปริยาย และถือเป็นตัวเลขที่กระทบกับชีวิตประจำวันพอสมควร เพราะรายจ่ายยังมีเท่าเดิม โดยเฉพาะประกาศล่าสุด ร้านอาหารเปิดบริการได้ถึง 21.00 น. และให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น ลูกค้าก็ยิ่งหายไปหมด แม้ร้านค้าอื่นในศูนย์การค้าจะไม่ถูกปิดเหมือนมาตรการระลอกแรกเดือน มี.ค.-พ.ค.2563 แต่เมื่อไม่มีลูกค้ามาชิม ก็ไม่มีใครมาช้อปมาใช้ ร้านค้าอื่นๆ ที่เปิดอยู่ก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากร้านอาหารที่ให้ปิดการบริการ
จากประสบการณ์การแพร่ระบาด 2 ระลอกที่ผ่านมา เราจะเห็นวัฏจักรวนเวียนแบบเข้าใจไม่ยาก “ร้านเปิด แต่ลูกค้าไม่เข้า รายได้ไม่มี ก็ต้องขอลดจำนวนพนักงานต่อวัน จากทำงาน 6 วัน ก็ให้เหลือ 4 วันเวียนกันมา รวมถึงลดชั่วโมงทำงานด้วย จนสุดท้าย ก็ต้องทยอยเลิกจ้างไปในที่สุด"
ข้อเสนอมาตรการผ่อนผันเยียวยา
โควิดระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ข้อมูลจาก ทีเอ็มบี ระบุว่า โควิดระลอกใหม่กระทบรายได้ที่มาจากภาคการค้าและการท่องเที่ยวเฉพาะเขตการควบคุมพิเศษและเข้มงวดสีแดงเข้ม 6 จังหวัดถึง 22% ต่อ GPP รวมทั้งประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 3.12 ล้านคน ภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจตามระดับผลกระทบของธุรกิจในแต่ละพื้นที่ เช่นธุรกิจค้าปลีกทั่วไป ร้านอาหาร โรงแรม และสถานบันเทิง ฯลฯ นับตั้งแต่
1.สนับสนุนค่าจ้างพนักงาน
2.ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง
3.สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะดำเนินธุรกิจได้เพียง 3-6 เดือน
4.ประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมงให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน