รอดพ้นจากวิกฤตด้วย Resilience Strategy

รอดพ้นจากวิกฤตด้วย Resilience Strategy

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนและ ประชาชนเราต้องเริ่มคิดเปลี่ยนแปลง เราต้องแก้ไขสิ่งเก่าๆ เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

(บทความโดย ประกาย ธีระวัฒนากุล)

ปีกว่าที่ผ่านไปเราเห็นได้ว่าโควิด-19 คือความไม่แน่นอนที่จู่โจมทั้งคน ทั้งธุรกิจและประเทศต่างๆ ชนิดที่ว่าตั้งตัวไม่ทันกันมากมาย   วิกฤตการณ์โรคอุบัติใหม่อย่างกรณีโควิด-19  จึงทำให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยเองต้องกลับมาคิดทบทวน หาทางรอด ไม่ใช่พากันล้มทับกันไป แต่ต้องช่วยกันพยุง หรือถ้าจะล้มจะเซบ้างก็ต้องลุกให้เร็ว  หรือเรียกว่าต้องมียุทธศาสตร์สร้างความยืดหยุ่น (Resilience Strategy) รับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เราถึงจะรอด   

Resilience หมายถึงความสามารถของระบบ ชุมชนหรือสังคมที่เผชิญกับภัยอันตราย จะสามารถต่อต้าน ดูดซับ จัดการและฟื้นตัวจากผลกระทบของอันตรายได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ หรือเราอาจพูดภาษาง่ายๆ ได้ว่า เมื่อเจอภัย เราต้องรอด หรือถ้าเราล้ม เราก็ต้องลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว   

การบริหารจัดการวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยจากอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการออกแบบเชิงระบบ นำกลไกใหม่เข้ามา  ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียุคใหม่ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart Technology) ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)  เพื่อวางแนวทางป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ   เราจำเป็นต้องใช้ข้อมูลมาช่วย ตัดสินใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยนโยบายบนฐานของข้อมูล (Data Driven Policy) ตลอดจนให้ความสำคัญกับการร่วมสร้างจิตสำนึกของประชาชนเพื่อให้ร่วมฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ควบคู่ไปกับการจัดสร้างองค์ความรู้ในการจัดการวิกฤตการณ์ในทุกระดับ

การออกแบบเมือง ออกแบบประเทศ ให้เป็นเมืองปลอดภัยสามารถรองรับกับสถานการณ์หรือภัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้น จึงไม่ใช่แค่เพียงการออกแบบสิ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น หากแต่เป็นการออกแบบเชิงระบบเพื่อให้คนทุกคนในสังคม แม้แต่คนที่เปราะบางที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนป่วย คนจน คนชรา ผู้พิการผู้อยู่เพียงลำพังก็ได้รับความปลอดภัยในยามเกิดเหตุฉุกเฉินเช่นนี้ได้  ซึ่งหากประเทศเราไม่มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดี ยืดหยุ่น รวดเร็ว ตอบสนองได้ทันกับสถานการณ์ เราก็อาจแก้ปัญหาหนึ่งแต่เกิดอีกปัญหาหนึ่ง  ประชาชนก็จะเสี่ยง  ประเทศก็จะเสี่ยง แถมกลายเป็นเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต 

อย่างไรก็ดีความสามารถของเมืองและประเทศในการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบเตือนภัย การฟื้นฟูเยียวยานั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน  ระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ICT) ระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ  ระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) เพื่อรับส่งข้อมูล ประมวลผลวิเคราะห์และกระจายข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในเวลาสั้นๆ เป็นสิ่งจำเป็น  อาทิ งานบริการฉุกเฉิน บริการสาธารณสุข หน่วยงานด้านคมนาคมขนส่ง ผู้ให้บริการด้านพลังงาน

ตัวอย่างระบบเทคโนโลยี ระบบอัจฉริยะต่างๆ เข้ามามีบทบาทในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ระบบการรวมรวมข้อมูลสารสนเทศ ระบบการสื่อสารดาวเทียม การวิเคราะห์ข้อมูลและการตัดสินใจ (Data Analysis & Decision-Making)  เช่น ระบบการเตือนภัยต่างๆ กระบวนการในการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ อาทิ  Big data, cloud services รวมไปถึง Web Portal เว็บไซต์ที่ใช้ในการเผยแพร่การสื่อสารอย่างเป็นทางการ ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าของประเทศ  ระบบการประสานงานฉุกเฉิน  เว็บไซต์บรรเทาทุกข์  การพัฒนาเครือข่ายที่ยืดหยุ่น  การให้บริการและโซลูชั่นที่มีประโยชน์ในระหว่างเกิดภัย  เป็นต้น

การปรับตัวให้เท่าทันวิกฤตการณ์เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก การนำเอานวัตกรรมเข้ามาช่วยเป็นแนวทางในการดำเนินการที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการวางแผนและพัฒนา ซึ่งเป็นไปได้ทั้งนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยี และ นวัตกรรมเชิงพฤติกรรม

หากเป้าหมายคือการทำให้เกิด Resilience อย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนานโยบายและข้อริเริ่มใหม่แบบมีส่วนร่วม (Co-creation platform)  เพื่อสานพลังจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน จะให้เกิดผลสำเร็จขึ้นจริง และเรียนรู้ไประหว่างทางด้วยกัน ช่วยเร่งทำให้นโยบายเกิดผลและนำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วขึ้น

 

เส้นทางข้างหน้าอีกยาวไกล และเราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะเป็นเช่นไร  เส้นทางแห่งอนาคตบนวิถีแห่งความไม่แน่นอนจึงเป็นเสมือนบทพิสูจน์ ความแข็งแกร่งของผู้คนทั้งทางร่างกายและจิตใจ

มันอาจไม่ง่ายที่เราจะยังคงก้าวเดินต่อไป ในความรู้สึกของบางคนเหมือนเดินอยู่อย่างโดดเดี่ยวเสียด้วยซ้ำ ตราบใดที่เรายังมีชีวิต เราก็ยังคงต้องก้าวเดินต่อไป เราอาจเหนื่อย เราอาจท้อ เราอาจล้มบ้าง แต่เราก็ต้องลุกและไปต่อ จะเริ่มเดินอีกครั้งช้าเพียงใดก็ไม่เป็นไร ขอให้เรายังคงเดินหน้าไปด้วยกัน