Impact Canada กลยุทธ์สร้างนวัตกรรมจากปัญญามหาชน
ในโลกที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตมากขึ้น โลกที่มีความเสี่ยงและโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ การใช้วิธีแบบเดิมเพื่อเผชิญปัญหามักไม่ได้ผล
บทความโดย ธราธร รัตนนฤมิตศร
ในภาคเอกชน การไม่ปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการใหม่อาจหมายถึงการล่มสลายหรือถูกดิสรัปออกจากวงการไป ดังนั้น นวัตกรรมจึงกลายเป็นหัวใจที่สำคัญในการทำงานของธุรกิจภาคเอกชนในโลกยุคใหม่นี้
ความท้าทายของโลกยุคใหม่ที่มีต่อภาครัฐก็น่าจะไม่แพ้ภาคเอกชน โดยอาจจะหนักหน่วงกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากภาครัฐต้องรักษาความสมดุลในการดำเนินนโยบายสาธารณะและบริการภาครัฐ ซึ่งมีหลายมิติโดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากกว่า อย่างไรก็ตาม การสร้างนวัตกรรมในภาครัฐก็น่าจะเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำเพื่อเผชิญกับโลกที่ซับซ้อนขึ้นนี้
แคนาดาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีแนวทางการสร้าง นวัตกรรมภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศที่น่าสนใจ โดยรัฐบาลแคนาดาได้จัดตั้ง “Impact Canada” ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานพิเศษที่ทำงานข้ามกระทรวง มีภารกิจพิเศษในการส่งเสริมการใช้แนวทางใหม่เพื่อพัฒนานโยบายด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ ผ่าน 3 เครื่องมือหลักที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก คือ การตั้งโจทย์นวัตกรรมนโยบายแบบเปิดเพื่อท้าทายให้สังคมและประชาชนมาร่วมเสนอคำตอบ การตั้งกองทุนนวัตกรรมที่จะมอบเงินทุนให้ตามระดับความสำเร็จของโครงการ และการออกแบบทางเลือกเพื่อปรับพฤติกรรมที่ดีให้กับประชาชนบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์พฤติกรรม
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลแคนาดาเห็นว่ากฏระเบียบภาครัฐเป็นอุปสรรคในการจัดสรรเงินทุนสำหรับนโยบายที่มีนวัตกรรม ในขณะที่ก็ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ สามารถทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมภาครัฐได้ รัฐบาลจึงได้ออกคำสั่งว่าด้วยการทดลอง (Directive on experimentation) ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางจะต้องจัดสรรเงินทุนบางส่วนไว้สำหรับการทดลองและสร้างนวัตกรรม
ต่อมาในปี 2560 รัฐบาลได้ตั้ง “Impact Canada” ขึ้น โดยเรียนรู้เครื่องมือและโมเดลการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายในประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น “Challenge Prizes” หรือการตั้งรางวัลความท้าทายที่ให้คนส่งนวัตกรรมเข้ามาแข่งขัน ซึ่งใช้ในหลายที่โดยเฉพาะ Nesta ในสหราชอาณาจักร หรือรางวัล X Prizes โดย X-Prize Foundation หรือเครื่องมือการใช้วิธีการสะกิดพฤติกรรมประชาชนผ่านความรู้ด้านพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งทีม Behavioral Insights Unit เป็นตัวอย่างที่ดีในสหราชอาณาจักร ที่รู้จักกันว่า Nudge Unit รวมถึงนวัตกรรมเชิงนโยบายอย่าง Pay-for-Success Funding สำหรับการระดมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมซึ่งนำโดยองค์กร เช่น Social Finance UK และ Social Finance US ผ่านเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะ Social Impact Bond
“Impact Canada” ได้ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการจัดสรรทุนในแคนาดาใหม่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสามารถจัดสรรเงินทุนเพื่อจ่ายตามผลลัพธ์หรือผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น (Outcome & Impact) ไม่ได้ให้ทุนตามงบประมาณที่ใช้ไปกับปัจจัยการผลิตและกิจกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรม (Input & Activity)
เครื่องมือสำคัญคือการตั้งโจทย์ “ความท้าทาย” (Challenge) ถือเป็นแนวทางนวัตกรรมแบบเปิด (open innovation approach) ที่ออกแบบมาเพื่อรวบรวมแนวทางหรือโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่จากผู้คนที่หลากหลาย ทั้งภาคเอกชน ประชาชน วิชาการ ชุมชนนวัตกรรม สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการสังคม ซึ่งช่วยขยายขีดความสามารถในการแก้ปัญหาของรัฐบาล “ความท้าทาย” แตกต่างจากโครงการระดมทุนของรัฐบาลแบบดั้งเดิม เนื่องจากได้รับการออกแบบให้ใช้แนวทางตามผลลัพธ์เป็นหลัก โดยนักนวัตกรรมจะได้รับรางวัลตามผลลัพธ์ที่ทำได้ระหว่างการแข่งขัน
“ความท้าทาย” (Challenge) มีขึ้นเพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถและแนวคิดใหม่ๆ เร่งความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาให้บรรลุผลลัพธ์ ทั้งโจทย์ทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยตั้งสิ่งจูงใจทั้งด้านการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน เพื่อส่งเสริมนักนวัตกรรมในวงกว้างให้มีส่วนร่วมจัดการกับปัญหาที่ยังมีวิธีแก้ปัญหาไม่ชัดเจนหรือโซลูชั่นในปัจจุบันยังไม่ดีพอ ผู้สร้างนวัตกรรมจะได้รับรางวัลเมื่อสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่วัดได้ตามที่กำหนด
ความท้าทายที่ตั้งโดย Impact Canada มี 3 ประเภทได้แก่
(1) “รางวัล Challenge prizes” เป็นการเสนอเงินรางวัลตามผลลัพธ์แก่ผู้ที่สามารถบรรลุความท้าทายที่กำหนดไว้เป็นอันดับแรกหรืออย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หรือแก้ปัญหาเฉพาะได้ตามเกณฑ์ที่ตรวจสอบได้และกำหนดไว้ล่วงหน้า
(2) “รางวัล Grand Challenges” ใช้การแข่งขันแบบเปิดกว้างเพื่อให้ทุนสนับสนุนนวัตกรรมที่เป็นไปได้และมุ่งเน้นไปที่การประเมินประสิทธิภาพอย่างเข้มงวด และ
(3) ความท้าทายในรูปแบบ “Accelerators” ซึ่งเป็นการสนับสนุนธุรกิจสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพเป็นหลัก ตัวอย่างโจทย์ “ความท้าทาย” ที่เป็น Grand Challenge เช่น โครงการ Smart Cities Challenge และโครงการ Clean Tech Impact ซึ่งให้ทุนสนับสนุนความท้าทายหลายประการเพื่อขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะและการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เครื่องมือที่สำคัญอีกอย่างได้แก่ วิทยาศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Science) ซึ่งเป็นแนวทางสหสาขาที่ศึกษาพฤติกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์ หน่วยผลกระทบและนวัตกรรมของ Impact Canada จะใช้ข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์และทดลองพฤติกรรมประชาชนแคนาดาเพื่อนำมาออกแบบนโยบายและบริการหรือโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ตั้งแต่การปรับปรุงสุขภาพทางการเงินของประชาชนชาวแคนาดา การปรับปรุงทางเลือกเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี การออกแบบโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการชะลอการแพร่กระจายของโควิด-19 และการเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศ
การสร้างนวัตกรรมภาครัฐแบบเปิดกว้างเพื่อดึงภูมิปัญญาจากคนทั้งสังคม การใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พฤติกรรมสมัยใหม่ จึงกำลังเป็นหัวใจของการสร้างนวัตกรรมของรัฐยุคใหม่ที่กำลังมาแรงมากในปัจจุบัน.