มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด เป็นคดีถึงศาล
มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ย่อมกระทบสิทธิของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเกิดข้อพิพาทที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ในหลายประเทศ
อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก จนบัดนี้มีการระบาดเป็นรอบที่สองที่สามแล้ว ในระยะแรกเริมต้นระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก็มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ อยู่ห่างจากบุคคลอื่น ประมาณสองเมตร เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อ ส่วนทางการจีนควบคุมการระบาดด้วยการปิดเมือง ห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ทำให้การควบคุมการระบาดได้ผลดี
เมื่อการระบาดขยายวงกว้างออกไปทั่วโลก ประเทศต่างฯต่างก็กำหนดมาตรการ เพื่อควบคุมการระบาดตามที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งมาตรการที่กำหนดขึ้นก็มีความเข้มข้นในระดับต่างกัน เช่นต้องสวมหน้ากากอนามัย เมื่อเดินทางโดยรถสาธารณะ หรือเมื่อออกนอกเคหสถาน ห้ามทำกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มประชาชนหลายคนรวมทั้งการประกอบศาสนกิจ ร้านค้าธุรกิจบางชนิดต้องหยุดกิจการชั่วคราว ห้ามประชาชนเดินทาง จนถึงเข้มสุด คือห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ห้ามเข้าประเทศ เป็นต้น มาตรการเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดังกล่าว ย่อมกระทบสิทธิของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเกิดข้อพิพาทที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ในหลายประเทศ ที่น่าศึกษา ว่าศาลจะให้น้ำหนักไปทิศทางใดระหว่างมาตรการของรัฐเพื่อควบคุมการระบาดของโรคร้าย กับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น
กรณีในสหรัฐอเมริกา มีหลายคดีในหลายรัฐ เช่น ในรัฐนิวยอร์ค มาตรการที่ผู้ว่าการรัฐออกคำสั่งเพื่อควบคุมการระบาด หนึ่งในมาตรการคือ ห้ามประชาชนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม รวมทั้งกิจกรรมทางศาสนกิจด้วย ทำให้เกิดข้อพิพาทเป็นคดีสู่การพิจารณาของศาลสูงสหรัฐ ศาลสูงสหรัฐอเมริกามีคำพิพากษาเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2563 ด้วยมติ 5 /4 ว่าข้อห้ามด้งกล่าวขัดต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาตามรัฐธรรมนูญ
คดีในรัฐแคลิฟอร์เนีย ฝ่ายสาธารณสุขของรัฐ แคลิฟอร์เนีย ออกข้อกำหนด จำกัดการรวมกลุ่มของประชาชนในการประกอบศาสนกิจและการรวมกลุ่มในลักษณะเดียวกัน เป็นข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งพิพากษายืนตามแนวคำพิพากษาคดีในรัฐนิวยอรค์ ด้วยมติ 5/4 ว่าข้อกำหนดดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ
กรณีของประเทศออสเตรเลีย คดีที่เป็นที่สนใจคือ ช่วงที่โควิด -19 ระบาดในประเทศอินเดียอย่างหนักมีผู้ติดเชื้อวันละหลายแสนคน มีหลายประเทศห้ามผู้เดินทางมาจากประเทศอินเดียเข้าประเทศ ออสเตรเลียก็ออกประกาศห้ามผู้เดินทางจากอินเดียแม้จะเป็นชาวออสเตรเลียเข้าประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เป็นระยะเวลาประมาณ14 วัน และจะประเมินผลว่าจะขยายเวลาห้ามต่อไปอีกหรือไม่ จากมาตรการดังกล่าว มีชาวออสเตรเลียที่เดินทางไปอินเดีย ให้ทนายความยื่นฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ต่อศาลสหพันธ์ แต่ศาลสหพันธ์ ยกฟ้อง
คดีในศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Right) เป็นคดีระหว่างชาวโรมาเนียชื่อ Terhes และรัฐบาลโรมาเนีย
ในช่วงการระบาดของโควิด -19 ในวันที่16เดือนมีนาคม 2563 ประธานาธิบดีประโรมาเนีย ได้ตรากฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันการระบาดของโควิด 19 มีกำหนดเวลาสามสิบวัน และทางรัฐบาลได้กำหนดมาตรการตามภาวะฉุกเฉิน คือห้ามประชาชนออกนอกบ้านในช่วงเวลาที่กำหนด ต่อมาออกประกาศ ห้ามประชาชนออกไปทำกิจกรรมนอกเคหสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ และต่อมาได้มีการขยายการบังคับใช้กฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินออกไปจนถึงวันที่14 พฤษภาคม 2563
ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 นาย Terhes ชาวโรมาเนีย ยื่นคำร้องต่อศาลเมือง Bucharest กล่าวอ้างว่าตนถูกคุมขังทางปกครอง ขอให้ศาลสั่งให้ปล่อยตัวโดยด่วน และพิพากษาว่าตนเองมีสิทธิออกจากบ้านไม่ว่ากรณีใด โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเอกสารที่อนุญาตให้ออกนอกเคหสถานได้ และต่อมาได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ทบทวนกฤษฎีกา ประกาศภาวะฉุกเฉิน และมติของสภาที่ให้การรับรองกฤษฎีกาดังกล่าว ศาลเมือง Bucharest ยกคำร้อง
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 นายTerhes ยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป กล่าวหาว่า การที่รัฐบาลโรมาเนียกำหนดมาตรการ lockdown ระหว่างวันที่24 มีนาคม ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เป็นการ กีดกันสิทธิเสรีภาพ มีลักษณะเหมือนถูกควบคุมตัวในบ้าน(house arrest)
ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 สรุปได้ว่า ศาลเห็นว่ามาตรการของทางการโรมาเนีย ที่กำหนดมาตรการlockdown เป็นการทั่วไปไม่อาจถือว่าเป็นการขัดขวางสิทธิเสรีภาพ ตามความตกลงเรื่องสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และไม่อาจกล่าวว่าเป็นการควบคุมตัวในบ้าน ตามที่นายTerhes กล่าวหา ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
คดีในศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน
เมื่อเดือนเมษายน 2564 เยอรมันได้ตรากฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกลางมากขึ้นในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด -19 ละลอกที่3 เมื่อปรากฏว่า รัฐ16รัฐในสหพันธรัฐปฏิเสธที่จะกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันการระบาดของโควิด -19 กฎหมายใหม่ให้อำนาจรัฐบาลกลางประกาศมาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ระหว่าง 22.00น ถึงเวลา 05.00 น ในท้องที่ที่มีการระบาดหนัก คือกรณีมีประชาชน ติดเชื้อโควิดเกิน100คน ต่อประชากร 100,000 คน
ผลจากการตรากฎหมายดังกล่าว มีผู้ยื่นคำขอเป็นกรณีฉุกเฉินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ เยอรมันพิจารณา ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันพิจาณาในเบื้องต้น จากสถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การกำหนดมาตรการที่เข้มงวด ช่วยลดการระบาดของโควิดอ -19 ได้อย่างชัดแจ้ง ศาลจึงยกคำขอที่ให้พิจารณาฉุกเฉิน โดยศาลให้เหตุผลด้วยว่าที่ศาลยกคำขอให้พิจารณาเป็นการฉุกเฉิน มิได้หมายความว่าการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานจะไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปในชั้นการพิจารณาของศาล
คดีในศาลไทย เนื่องจากการระบาดของโควิด -19 ละลอกที่3 รัฐบาลจึงได้วางแนวทางมาตรการให้ประชาชนที่ออกนอกเคหสถานต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งจังหวัดต่างฯก็ออกประกาศกำหนดมาตรการตามแนวทางดังกล่าว บังคับใช้ในเขตจังหวัด
มาตรการดังกล่าวมีผู้ฝ่าฝืน เช่นในจังหวัด ศรีสะเกษ ผู้ฝ่าฝืนสองคนถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดกันทรลักษณ์ แต่ศาลยกฟ้อง เพราะเห็นว่าไม่มีกฎหมายห้ามประชาชนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยออกนอกบ้านและกำหนดโทษไว้และกำต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค3 พิจารณาข้อกฎหมายแล้ว พิพากษากลับคำพิพากษา ศาลชั้นต้น พิพากษาปรับจำเลย 2 คน คนละ 500 บาทฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ตามฟ้อง.