มุมมองสองด้านในการห้ามเสนอขาย 'โทเคนดิจิทัล' บางประเภท

มุมมองสองด้านในการห้ามเสนอขาย 'โทเคนดิจิทัล' บางประเภท

ผู้เขียนขอเล่าในบางประเด็นของประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กธ.18/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

              ประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักสองประการ คือ 1.) ไม่อนุญาตให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำโทเคนดิจิทัลแบบพร้อมใช้บางประเภท (และคริปโทที่เข้าคุณลักษณะ) ออกเสนอขาย และ 2) กำหนดให้มี Whitepaper หากมีการทำ Self-listing ในกรณีที่ศูนย์ซื้อขายออกโทเคนเอง และลิสต์ในศูนย์ซื้อขายที่ตนเองเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งบทความฉบับนี้จะขอเน้นในประเด็นแรกเป็นหลัก

        อะไรคือโทเคนดิจิทัล

       ตามกฎหมาย สินทรัพย์ดิจิทัล หมายถึง คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ซึ่งในกระบวนการ ICO คริปโทเปรียบเสมือนสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และโทเคนดิจิทัลเปรียบเสมือน ใบตราสารแสดงสิทธิในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อบันทึก สิทธิต่าง ๆ ที่ผู้ออกตกลงว่าจะให้กับผู้ถือครองโทเคนนั้น

        ในทางปฏิบัติ โทเคนดิจิทัล ทำได้ในสองรูปแบบ แบบแรก คือ Investment Token (โทเคนเพื่อการลงทุน) ที่มักกำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเข้าร่วมลงทุนในกิจการ/โครงการใดๆ โดยโทเคนประเภทต้องเสนอขายผ่าน ICO portal  และกระบวนการทั้งหมดต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ในการเสนอขาย

        แบบที่สอง คือ Utility Token หรือ โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ ซึ่ง “ประโยชน์ในที่นี้จะไม่ผูกติดกับการร่วมลงทุนในโครงการ/กิจการของผู้ประกอบการแบบในกรณีแรก แต่ ประโยชน์ ที่จะได้รับจากการถือครอง คือ การได้มาซึ่งสินค้า/บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง โดยการกำหนดสิทธิจากประโยชน์เช่นว่านี้สามารถทำได้สองแบบ โดยมีแนวทางการกำกับดูแลในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ได้แก่

        1) Utility ประเภทที่ไม่พร้อมใช้ คือ โทเคนประเภทที่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์จากสินค้าหรือบริการไว้ในอนาคต (ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีในวันที่เสนอขายครั้งแรก เช่น กำหนดสิทธิให้ผู้ถือเหรียญได้สิทธิในการจับจองสินค้าเป็นลำดับต้น ๆ ในราคาพิเศษ) ดังนั้น ในการเสนอขายจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขไม่ต่างจากการออก Investment Token ที่ต้องมีการดำเนินการผ่าน ICO portal  และต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ในการเสนอขาย 

         2) ประเภทพร้อมใช้ (ที่มาของประกาศฉบับนี้) คือ โทเคนที่สามารถนำไปแลกสินค้า/บริการได้ทันที หรือให้ประโยชน์ตั้งแต่วันที่ออกเสนอขายในครั้งแรก โดยอาจเทียบได้กับคูปองศูนย์อาหาร หรือบัตรสมนาคุณจากร้านค้าที่ผู้ถือสามารถนำไปแลกเป็นสินค้า/บริการได้ทันที ดังนั้น ในการออก Utility Token แบบพร้อมใช้ กฎหมายจึงกำหนดยกเว้น  ไม่ต้องขออนุญาตในการเสนอขายเพราะโดยสภาพแล้ว มีความสมบูรณ์ในตัวเอง พร้อมใช้งาน และมีลักษณะคล้ายกับ finished product มากกว่าเป็น Financial Product หรือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (ดังนั้น หากมีกรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือฉ้อโกง แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ก็ย่อมเป็นไปตามหลักการของกฎหมายแพ่งหรืออาญา)

               

       ห้ามขาย Utility Token ประเภทพร้อมใช้บางประเภท ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1) เป็นเหรียญสร้างขึ้นโดยไม่มีสิ่งใดรองรับและการกำหนดราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล (Meme Token) 2) เป็นเหรียญที่ออกจากความชื่นชอบส่วนบุคคล 3) เป็นเหรียญที่ใช้เทคโนโลยีสร้างขึ้นเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะเจาะจง (NFT) 4) เป็นเหรียญที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง (เช่น กรรมการ คู่สมรส บริษัทร่วม) เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์สำหรับการทำธุรกรรมบนบล็อกเชน

 

        เหรียญย่อมมีสองด้าน

        สำหรับผู้เขียน ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีได้ส่งผลให้การทำ Tokenization มีความหลากหลาย รวดเร็ว
และอาจไร้ตัวกลาง ซึ่งหากพิจารณาในคุณลักษณะของเหรียญที่สร้างขึ้นมาแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องห้ามทั้งสี่ประเภท มักมีลักษณะค่อนไปทาง
Utility Token แบบพร้อมใช้ ซึ่งตามกฎหมายไม่ต้องขออนุญาตในการเสนอขาย

         ดังนั้น เมื่อไม่ต้องขออนุญาต และเกิดเหรียญลักษณะดังกล่าวจำนวนมากในตลาด จึงเกิดทางเลือกสองทางในเชิงนโยบาย คือ “ห้ามนำมาซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายที่อยู่ภายใต้กำกับ หรือ ให้ซื้อขายได้แต่อยู่ภายใต้การดำเนินการของศูนย์ซื้อขายเองในการเลือกเหรียญ ในการดูแลเรื่องราคา และในการให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุน

        เมื่อทางเลือกมีสองทาง มุมมองในเรื่องดังกล่าวก็มีสองด้านเช่นกัน ในด้านแรก ในกรณีที่เลือกใช้นโยบาย “ห้ามซื้อขายดังเช่นในประกาศ ก็ต้องเข้าใจว่า โดยสภาพของเหรียญบางประเภทที่ห้ามนั้น อาจไม่มีมีสินทรัพย์ที่อ้างอิงและไม่ได้มีการกำหนดสิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่ชัดเจนในอนาคต ดังนั้นการเข้าไปกำกับดูแลจึงอาจเกิดอุปสรรคสำหรับภาครัฐในเรื่อง Surveillance นอกจากนี้ เหรียญบางประเภทอาจมีลักษณะเป็น ทรัพย์สินเพื่อการสะสมหรือ สร้างจากความชื่นชอบส่วนบุคคล ซึ่งกลไกราคาขึ้นอยู่กับความนิยม หรือความมีเอกลักษณ์เฉพาะของทรัพย์สินอ้างอิงมากกว่ามีลักษณะเป็น หลักทรัพย์ที่มีการกำหนด Profit Sharing ในรูปแบบต่าง ๆ ไว้ชัดเจน ประกอบกับเหรียญบางประเภทในปัจจุบันอาจมีการซื้อขายแบบ OTC หรือใน Marketplace ที่รองรับเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

        อย่างไรก็ดี ในอีกด้าน การกำหนดห้ามซื้อขายใน Exchange ของไทยก็ย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย/นักลงทุนย้ายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และในส่วนผู้ซื้อขายเองก็มีทางเลือกในการซื้อหรือใช้บริการในประเทศลดลง และอาจต้องแบกรับความเสี่ยงจากกฎเกณฑ์ที่แตกต่างและการให้ความคุ้มครองในประเทศที่เลือกลงทุน นอกจากนี้ เหรียญบางประเภทที่ห้าม โดยลักษณะก็ยังมีความกำกึ่งในการเป็นโทเคนดิจิทัลแบบพร้อมใช้ หรืออาจเข้าข่ายเป็นคริปโทประเภทหนึ่งไม่ต่างจาก BitCoin ที่ในปัจจุบันอาจยังมีการใช้งานอยู่ในวงจำกัด

 

        ท้ายที่สุด สำหรับผู้เขียน ไม่ว่าเหรียญนั้นจะเรียกชื่อในทางเทคนิคว่าอย่างไร แต่การพิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับ “ข้อกำหนด คุณลักษณะ และเงื่อนไขของเหรียญเป็นหลัก โดยหากมีข้อตกลงว่า ผู้ถือครองมีสิทธิได้รับประโยชน์ สิทธิเรียกร้อง หรือส่วนแบ่งกำไรในอนาคต ผู้ออกย่อมมีวัตถุประสงค์ในการได้มาซึ่งเงินทุน และควรได้รับการกำกับดูแลในการเสนอขายไม่ต่างไปจากการออกหลักทรัพย์หรือการระดมทุนทั่วไป เนื่องจากเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดมูลค่า และกระทบกับประชาชนในวงกว้าง. 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน