ความไว้วางใจต่อผู้นำในช่วงโควิด
ในช่วงเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ อะไรคือคุณสมบัติสำคัญของผู้นำ ที่คนในองค์กรต่างต้องการ? คุณสมบัติสำคัญที่อาจจะจะถูกละเลยและไม่ใส่ใจจากผู้นำ
สัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสดูภาพยนตร์การ์ตูนของดิสนีย์เรื่อง Raya and the last dragon (ผ่านทางแอพใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวในไทย) เป็นเรื่องราวการผจญภัยของตัวเอกเพื่อรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์จากการทำลายล้างของเหล่าปีศาจ ตามสไตล์การ์ตูนของดิสนีย์ที่จบลงด้วยความสำเร็จของตัวเอกและผองเพื่อน ข้อคิดที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่ได้คือในช่วงที่เหล่าตัวเอกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตและใกล้จะพ่ายแพ้นั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถพลิกเอาชนะเหล่าปีศาจได้คือ ความไว้วางใจระหว่างกัน (Trust)
ทำให้คิดว่าสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ว่าเรามีความไว้วางใจในผู้นำในระดับต่างๆ กันเพียงใด และผู้นำได้พยายามสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นเพียงใด?
ความไว้วางใจหรือ Trust ถ้าแปลง่ายๆ ก็หนีไม่พ้น การเชื่อถือและเชื่อมั่นในบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้ชวนย้อนกลับมาคิดว่าเรามีบุคคลที่เชื่อถือและไว้วางใจไหม และบุคคลผู้นั้นมักจะมีพฤติกรรมอย่างไร? ก็พบว่าบุคคลที่น่าไว้วางใจนั้น เป็นผู้ฟังที่ดี เป็นผู้ที่คอยให้สนับสนุนอย่างจริงใจ เป็นผู้ที่พูดความจริงไม่บิดเบือนข้อมูลแม้เรื่องราวจะเป็นเชิงลบ เป็นผู้ที่มีความชัดเจนและโปร่งใสทั้งในด้านความคิด คำพูดและการกระทำ เป็นผู้ที่ยอมรับเมื่อไม่รู้ เป็นผู้ที่ให้เครดิตผู้อื่นไม่ใช่เก็บเอาความดีความชอบไว้กับตนเอง - คำถามคือ ผู้นำของท่านมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือยัง?
Edelman Trust Management เป็นหน่วยงานที่วัดความไว้วางใจของสังคมต่อรัฐบาลและธุรกิจต่างๆ นั้น ระบุว่าผู้นำจะสามารถสร้างความไว้วางใจได้ ขึ้นอยู่กับสองเรื่องหลักๆ คือ ความสามารถ และ จริยธรรม นั้นคือจะต้องสามารถแสดงความสามารถที่จะนำพาองค์กรให้ผ่านพ้นวิกฤต อีกทั้งทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองประการข้างต้นนอกจากจะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่พูดแล้ว การแสดงออกและสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญ
ด้านแรกผู้นำต้องแสดงออกว่าตนเองมีความรู้ ความสามารถ และเอาใจใส่ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้นำจะต้องสามารถอธิบายถึงสาเหตุของการตัดสินใจ จริงอยู่ที่ทุกคนอาจจะเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าผู้นำแสดงให้เห็นว่าในการตัดสินใจได้มีการนำข้อมูลและความรู้มาใช้ อีกทั้งเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมแล้ว ถึงแม้ความคิดเห็นจะต่างกันก็เป็นที่ยอมรับได้
นอกจากนี้เมื่อผู้นำสื่อสาร ก็ต้องมุ่งเน้นไปที่ทางออกของปัญหา ไม่ใช่การพร่ำบ่นหรือตอกย้ำถึงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น การมุ่งเน้นไปที่ทางออกและ แนวทางในการแก้ไข จะช่วยทำให้คนในองค์กรมีความเชื่อมั่นว่าผู้นำมีความรู้ ความสามารถที่จะช่วยนำพาองค์กรออกจากวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น
ด้านที่สองคือ “จริยธรรม” เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากกว่าเรื่องของความรู้ความสามารถ จากการศึกษาของ Edelman Trust Management พบว่าเรื่องจริยธรรมมีส่วนในการสร้างความไว้วางใจถึงร้อยละ 76 ขณะที่ความรู้ ความสามารถมีร้อยละ 24
ในด้านจริยธรรมนั้น ผู้นำจะต้องพร้อมและกล้าที่จะรับผิดชอบในสถานการณ์วิกฤต กล้าที่จะตัดสินใจ กล้าทำ และกล้ารับ (โดยเฉพาะความผิดพลาด) ไม่ใช่การชี้นิ้วหรือโยนความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นให้กับคนอื่น ซึ่งความยากสำหรับผู้นำ (โดยเฉพาะผู้ที่มีความมั่นใจและประสบความสำเร็จมาก่อน) คือการที่จะยอมรับอย่างเปิดเผยทั้งในสิ่งที่ตนเองไม่ทราบ ผู้นำที่พร้อมและยอมที่จะพูดว่า “ผมไม่ทราบ” สามารถสร้างความไว้วางใจได้มากกว่าการพยายามพูดอ้อมค้อมวนไปวนมาเพื่อปกปิดในสิ่งที่ตัวเองไม่ทราบ
การสร้างความไว้วางใจไม่ได้ยากเกินความสามารถของคนที่เป็นผู้นำแต่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งเรื่องความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ระหว่างบุคลากรในทุกๆ ภาคส่วน การแบ่งปันข้อมูล ความพร้อมที่จะมุ่งมั่นและทำเพื่อส่วนรวม และจะนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีขององค์กรในระยะยาว ผู้นำในทุกระดับต้องตระหนักไว้ตลอดว่าเรื่องการสร้างความไว้วางใจนั้นเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่เป็นผู้นำ และควรจะเป็นสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง.