กินบัวลอย - กินเกี๊ยว ในเทศกาลตังโจ่ย ใครไม่กินหูหลุด จริงหรือ?
กินบัวลอย - กินเกี๊ยว ในเทศกาลตังโจ่ย หรือวันเหมายัน ตามความเชื่อของชาวจีน "ใครไม่กินหูหลุด จริงหรือ?" วันนี้ "อ้ายจง" จะมาไขปริศนาให้ได้ทราบกัน
เวลาผ่านไปไว จนเรารู้สึกตัวอีกที อีกเพียงไม่ถึงสองอาทิตย์ก็จะเข้าสู่ปีใหม่ ศักราชใหม่กันแล้ว ซึ่งถึงแม้ของจีน วันปีใหม่ จะนับที่ เทศกาลตรุษจีน หรือชุนเจี๋ย ที่ในปี 2568 จะตรงกับวันที่ 29 มกราคม หรืออีกราวหนึ่งเดือนกว่าๆ แต่ในช่วงนับถอยหลังสู่ปีใหม่ (สากล) ก็จะมีอีกหนึ่งวันสำคัญ ที่แม้ไม่ใช่วันหยุดราชการ แต่คนจีนยังคงให้ความสำคัญมาถึงปัจจุบันนี้
คนไทยเรารู้จักในนาม เทศกาลตังโจ่ย แต่ในภาษาจีนกลาง เรียกว่า ตงจื้อเจี๋ย หรือแปลเป็นไทยคือ วันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) ที่ถ้าใครเข้าไปในโลกออนไลน์จีน หรืออยู่ที่จีนในวันดังกล่าว หรือมีคนจีนอยู่ใกล้ตัว อาจจะได้ยินได้เห็นการใช้ประโยคที่ว่า "ใครไม่กินเกี๊ยวในวันนี้ระวังหูหลุด!" ทำไมต้องหูหลุด?
ในสมัยจีนโบราณ วันนี้คือวันแห่งการกินบัวลอยจีน (ขนมอี๋) สัญลักษณ์การรวมตัวของครอบครัว ดังปรากฏในภาพยนตร์สามก๊ก
ตงจื้อเจี๋ย หรือตังโจ่ย โดยปกติแล้วจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม สำหรับปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2567 เป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ถือเป็นวันที่อากาศหนาวเย็น สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ และจะตรงกันข้ามกันสำหรับประเทศทางซีกโลกใต้ โดยส่งผลมาจากการที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุดเช่นกัน
ประเทศจีน เป็นประเทศที่อยู่ทางซีกโลกเหนือ และคนจีนสังเกตปรากฏการณ์นี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงได้ถือเอาวันนี้เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญ ตามความเชื่อของคนจีน โดยเฉพาะสำหรับทางเหนือ ในวันนี้จะนิยมกิน "เกี๊ยว" ไม่ว่าจะเกี๊ยวนึ่ง หรือเกี๊ยวน้ำก็ได้ เพื่อฉลองเทศกาลตงจื้อ โดยมีเรื่องเล่ากันว่า "หากไม่ทานเกี๊ยวในวันนี้ หูของเราจะแข็งและหลุดออกมา!" เพราะใน วันเหมายัน เป็นช่วงที่เมืองจีนอากาศหนาวเย็นมาก จึงเป็นกุศโลบายที่ให้พวกเรากินของร้อนๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ไม่ป่วยไม่ไข้ แต่คนจีนทางใต้ จะนิยมกิน "汤圆 ทังหยวน หรือบัวลอยจีน"
คนจีนสมัยโบราณ ถือวันนี้เป็นวันสำคัญมากวันหนึ่ง เพราะถือเป็นวันที่ทุกคนในครอบครัวจะกลับมาบ้าน มารวมตัวกันกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา และฉลองด้วยการกินขนมประจำเทศกาลนี้ โดยมีนัยเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นแก้หนาว ได้แก่ 汤圆 ทังหยวน เป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายกับบัวลอยของไทย
ถ้าใครเป็นแฟนสามก๊ก และมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์สามก๊ก ตอนศึกผาแดง จะเห็น เล่าปี่ ขณะกำลังปั้นขนม 汤圆 ได้กล่าวไว้ว่า "การทำขนมบัวลอยจีน นำแป้งและน้ำตาลมารวมกัน เหมือนกับทุกคนในครอบครัว (合家团圆) กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง" นอกจากนี้ กองทัพของซุนกวนยังมีการกินบัวลอยเช่นกัน เพื่อเรียกขวัญกำลังใจให้ทุกคนเอาชนะศึกโจโฉให้ได้เพื่อจะได้กลับมาฉลองมื้อใหญ่ในเทศกาลตงจื้อหลังเสร็จศึก
ตงจื้อเจี๋ย ยังคงเป็นหนึ่งในเทศกาลจีนที่ยังคงได้รับการปฏิบัติตามประเพณีจีนมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จากตามโลกออนไลน์ ในแต่ละปีจะพูดถึงวันนี้ในวงกว้าง อย่างบน Weibo ของปีที่ผ่านมา คำค้นหา "冬至节" ตงจื้อเจี๋ย ก็ติดคำค้นหา TOP5
อ้ายจง จำได้ว่า ในหลายปีก่อน มีการโหวตออนไลน์บน Weibo ด้วยว่า "วันนี้ที่บ้านของแต่ละคนกินอะไรกัน "เกี๊ยว" หรือ "บัวลอย" หรือ "เกี๊ยวไส้บัวลอย /บัวลอยไส้เกี๊ยว (อันนี้คงแปลกๆ ดีนะ) หรือว่ากินอะไรก็ได้ อยู่ที่เด็กๆ ในบ้าน" และผลปรากฏว่า ส่วนใหญ่โหวตเลือก "เกี๊ยว"
เวลาอ้ายจงอยู่จีน ก็มักจะไปกินเกี๊ยวในวันนี้ ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี คนก็แน่นร้านเกี๊ยวเสมอ และปกติแล้วพอกลับมาที่ห้องพัก อ้ายจงก็ต้มบัวลอย-ทังหยวน กินอีกรอบ เอาให้ครบเลยทั้งเหนือและใต้
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่