การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ไทยทำดีแต่ยังมีความท้าทาย l World Pulse

การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง  ไทยทำดีแต่ยังมีความท้าทาย l World Pulse

การวัดความก้าวหน้าของสังคมหนึ่งๆ นอกจากจะดูกันที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความทันสมัยของเทคโนโลยี ตึกรามบ้านช่อง วัตถุทั้งหลายแล้ว “การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง” เป็นอีกหนึ่งมาตรวัดที่จะมองข้ามไปไม่ได้

เมื่อวันก่อนคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย ฮัยนา ลู (Haina Lu) และอิวานา เคอร์สติช  (Ivana Krstić) ได้รับเชิญจากรัฐบาลไทยเข้ามาปฏิบัติภารกิจในไทยเป็นครั้งแรกระยะเวลา 12 วัน โดยได้จัดประชุมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลากหลายภาคส่วนในกรุงเทพฯ, จ.เชียงใหม่, อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เยี่ยมชมโรงเรียน ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้อพยพ โรงพยาบาล ทัณฑสถานและสถานกักตัวคนต่างด้าว สถานสงเคราะห์เด็ก และศูนย์พักพิงสำหรับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ได้ผลการสังเกตการณ์เบื้องต้นนำมาแถลงต่อสื่อมวลชน 

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 65 จาก 146 ประเทศในดัชนีช่องว่างระหว่างเพศในระดับโลก พ.ศ.2567 (2024 Global Gender Gap Index) โดยเลื่อนขึ้นจากอันดับ 74 ใน พ.ศ.2566 และอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 18 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกในด้านความเท่าเทียมทางเพศ รัฐบาลไทยดำเนินการทางบวกหลายประการในด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งการประกาศใช้พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน 

 ในเดือน ต.ค. คณะรัฐมนตรีของไทยได้อนุมัติแนวทางเร่งรัดเพื่อให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติราว 5 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ได้รับสถานะผู้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรและสัญชาติไทย ขณะเดียวกันร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิง เช่น ร่าง พรบ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ร่าง พรบ.ป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ และ ร่าง พรบ.การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภา อีกทั้งไทยยังมีการปฏิรูป พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ครั้งใหญ่ และเสนอให้แก้ไข พรบ.ความเท่าเทียมทางเพศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯ ได้แสดงความห่วงกังวลอย่างมากต่อช่องว่างที่สำคัญในการบังคับใช้นโยบาย ซึ่งขัดขวางการบรรลุความเสมอภาคอย่างแท้จริง, ไม่มีการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในคำมั่นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญที่สำคัญต่อการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง

 คณะผู้เชี่ยวชาญยังแสดงความห่วงกังวลถึงความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศที่ยังคงพบอยู่ทั่วไป โดยการเข้าถึงความยุติธรรมยังเป็นไปอย่างจำกัด รวมถึงความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยมีเด็กผู้หญิง นักการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง ตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามทางเพศออนไลน์ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความอันตรายแก่ผู้อื่น (doxing) และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (cyberbullying) ความแออัดของทัณฑสถานและขาดการติดตามและตรวจสอบอย่างอิสระยังคงสร้างความกังวลอย่างมากต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานที่ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและไม่มีการรายงาน

ในการแถลงข่าวยังมีอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าตกใจ และอาจเป็นครั้งแรกสำหรับหลายๆ คนที่ได้ยินเรื่องนี้ เมื่อคณะทำงานฯ ได้รับการยืนยันว่า ในประเทศไทยยังมีการขริบอวัยวะเพศหญิง แม้จำนวนไม่มากแต่ทางคณะทำงานฯ กังวลมากเพราะเป็นการปฏิบัติที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งร่างกายและจิตใจให้กับผู้หญิงโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง จึงได้ขอข้อมูลไปยังรัฐบาลเพื่อทำรายงานฉบับเต็มต่อไป และขอให้รัฐบาลพูดคุยกับผู้นำศาสนาเพื่อขจัดการปฏิบัติดังกล่าว 

คณะทำงานฯ ย้ำว่า ความเห็นเหล่านี้เป็นของคณะทำงานฯ เท่านั้นไม่ใช่ของยูเอ็นแต่อย่างใด จากข้อสรุปเบื้องต้นจะจัดทำเป็นรายงานฉบับเต็มเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.พ. รายงานฉบับสมบูรณ์ของการมาเยือนประเทศไทยจะนำเสนอต่อคณะมนตรีแห่งสหประชาชาติในเดือน มิ.ย.2568

ก่อนจบการแถลงข่าว World Pulse ได้สอบถามว่า ขณะนี้ไทยอยู่ในสภาพที่ไม่เคยเจอมาก่อน กล่าวคือมีนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2  ที่ยังมีลูกเล็กๆ  คณะทำงานฯ คาดหวังสิ่งใดจากรัฐบาลชุดนี้ ได้คำตอบว่า การที่รัฐบาลไทยมีผู้หญิงและมีสถานะแม่ดำรงตำแหน่งสูงสุดถือเป็นสัญญาณดีมากๆ 

“เราหวังจริงๆ ว่า เธอจะทำทุกอย่างในอำนาจหน้าที่แก้ปัญหาเหล่านี้ เราค่อนข้างคาดหวังมากกับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของเธอ” ได้ยินคำตอบแบบนี้ยิ่งชวนจับตาการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในประเทศไทยว่าจะก้าวหน้าไปอย่างไร