โควิด อาจเรียก พี่
เราเผชิญกับ โควิด-19 มาปีครึ่งแล้ว ยังไม่รู้ว่าเจ้าตัวร้าย จะอยู่กับเราไปอีกนานเพียงใด และจะทำลายชีวิตมนุษย์ ไปอีกมากแค่ไหน
วันนี้ ผมจะพูดถึงโรคร้าย “ตัวต่อไป” ซึ่งเชื่อกันว่า วันหนึ่งมันจะมาเยือน และถ้าไม่วางแผนให้ดี วันนั้นโควิดอาจจะเรียกว่า “พี่” หรือ “ท่านพี่” ก็ได้
ผมไม่ใช่หมอหรือนักวิจัยทางการแพทย์ เรื่องที่จะเล่านี้ แค่พอทำให้ผู้อ่านทั่วไปได้เห็นภาพ และร่วมกันภาวนาว่า ถ้าหากวันนั้นมาถึงจริงๆ ก็ขอให้มันเป็นเพียง “น้อง” ของโควิดเถอะนะ
เชื้อโรคร้ายตัวนี้ มีชื่อเรียกง่ายๆว่า “X” คำว่า “X”สะท้อนว่ามันเป็นอะไรที่ยังไม่ชัดเจน และ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้จัก ตัวตนที่แท้จริงของมัน
พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือ มนุษย์เผชิญกับโรคระบาดมาแล้วหลายชนิด ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากมาย ครั้งล่าสุด ก่อนถึงโควิด ก็คือ อีโบล่า ในระหว่างปี 2014-2016
แต่อีโบล่า จางหายไป ก่อนที่วิทยาการทางการแพทย์ จะพบวิธีการต่อสู้กับมันอย่างได้ผลจริงๆ ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของมนุษย์
ดังนั้น ในปี 2018 WHO จึงเริ่มเตรียมการ ด้วยการตั้งคำถามว่าโรคระบาดร้ายแรงตัวต่อไป จะเป็นเช่นใด และ บุคลากรสาธารณสุข รวมทั้งวิทยาศาสตร์ ควรเตรียมวางแผน การบริหาร ทิศทางการลงทุน และการวิจัย ฯลฯ อย่างไร ก่อนที่จะต้องเผชิญกับ “มัน” แบบตัวต่อตัวจริงๆ
เมื่อ WHO ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ก็เลยเรียกว่า “X”
เชื้อโรค X อาจจะมาจากอะไรก็ได้ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต หรือพรีออน ฯลฯ ซึ่งในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา มีโรคระบาดที่เกิดจากแบคทีเรีย 54% ไวรัสและพรีออน 25% โปรโตซัว 11% เชื้อรา 6% และอื่นๆอีกเพียง 3-4%
ที่น่าสังเกตก็คือ ในระยะ ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ โรคระบาดอย่างไข้หวัดนก อีโบล่า ฯลฯ เป็นการถ่ายทอดจาก สัตว์สู่มนุษย์ เนื่องจากมนุษย์กับสัตว์เข้าไปใกล้ชิดกันมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น การที่มนุษย์บุกรุก เข้าไปใช้พื้นที่ป่าบางส่วนเป็นอยู่อาศัย และเพื่อการดำรงชีพ ก็หมายถึงโอกาสถ่ายทอดโรค จากสัตว์ สู่มนุษย์ มีสูงขึ้นด้วย
เมื่อเชื้อโรคอาจเกิดขึ้นได้จากหลายแหล่ง สิ่งที่ WHO พยายามทำตั้งแต่ปี 2018 ก็คือ เชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก มาร่วมกันกำหนดทิศทางการแพทย์และสาธารณสุข ไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมเผชิญกับเชื้อโรค X ก่อนที่มันจะมาเยือนจริง
พูดง่ายๆก็คือ นอกจากการวางแผนเผชิญกับ เชื้อโรคต่างๆที่เรารู้จักอยู่แล้ว ก็ต้องวางแผนเพื่อให้วิทยาการทางการแพทย์ พร้อมที่จะเผชิญกับเชื้อโรค X ที่เราไม่เคยรู้จัก อีกด้วย
ถ้าวันนั้นมาถึงจริง จะได้มีอาวุธ ยุทธโธปกรณ์ เพียงพอ และทันต่อเวลา ที่จะปกป้องความสูญเสียชีวิตมนุษย์ มิให้มากเกินไป
การวางแผนเรื่องนี้ พอเริ่มได้เพียง ปีเศษๆ เท่านั้นเอง ปลายปี 2019 โรคโควิดก็ระบาดที่อู่ฮั่น และปั่นป่วนโลกเราอย่างรุนแรง มาจนถึงวันนี้ ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตไปแล้ว มากกว่า 4 ล้านคน
บางคนก็ตีความว่า โคโรน่าไวรัส ตัวนี้นี่แหละ คือ เชื้อโรค X ตัวแรกที่เข้ามาเยือนมนุษย์
วัคซีนก็ออกมาไม่ทันเวลาและไม่เพียงพอ แถมยังสู้โควิดสายพันธ์ต่างๆ ได้ไม่เต็มที่ การกลายพันธ์ดูเหมือนจะวิ่งนำทาง ให้วิทยาศาสตร์ต้องไล่ตาม และระหว่างทางก็มีความสูญเสีย เกิดขึ้นมากมาย ฯลฯ
แต่คุณผู้อ่าน ก็อย่าตกอกตกใจจนเกินไป กับ เชื้อโรค X เพราะผมเพียงแค่อยากให้รู้ไว้เท่านั้นเอง ถ้าคุณคิดมากจะกลายเป็น โรคประสาทหวาดผวา ก่อนที่ X จะมาถึงจริงๆ
มันเป็นภาระของนักวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องเตรียมเผชิญกับเชื้อโรค X แต่สำหรับคนทั่วไปอย่างเรา เวลานี้เพียงแค่ป้องกันตัวเองจากโควิด ก็เหนื่อยหนักหนาแล้วครับ
ในโลกที่ซับซ้อนเช่นนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ มนุษย์จึงต้องคิดทุกอย่าง ให้รอบคอบเสมอ เช่น คิดล่วงหน้า เรื่องการเตรียมรับ “เชื้อโรค X” ในอนาคต เป็นต้น
การเตรียมการหรือตัดสินใจใดๆนั้น ที่เราควรนำมาใช้บ่อยๆ ก็คือคำถามว่า “What if....?”
ผมแปลเป็นไทยว่า “แล้วถ้า...?” ซึ่งหมายถึงการตัดสินใจอะไรก็ตาม นอกจากเราต้องมี “ทางเลือก” ให้เลือกเยอะๆแล้ว ตอนจบก่อนจะเลือก ก็ยังต้องตั้งคำถามสำคัญว่า “แล้วถ้า....?” หลายๆครั้งด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า เราคิดรอบคอบแล้วทุกมิติ ถึงผลของการเลือกแนวทางนั้น
ตัวอย่างเช่น วันนั้นท่านทั้งหลาย ได้ร่วมประชุมกัน ยาวนานกว่าสามชั่วโมง แล้วก็ประกาศว่าจะทำโน่นทำนี่ หนึ่งในนั้น คือการปิดแคมป์คนงาน เพราะว่า เป็นคลัสเตอร์สำคัญ ซึ่งประเด็นคลัสเตอร์นี้ ก็ไม่มีใครเถียงอยู่แล้ว
แต่เหตุการณ์ที่ตามมา คือ คนงานแตกรัง หรืองานก่อสร้างที่ค้างคา บางอย่างอาจเกิดอันตรายต่อสาธารณชนได้ กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ว่าทำไมไม่คิดให้รอบคอบ
ผมเข้าใจว่าการประชุมวันนั้น คงฉุกละหุกกันพอสมควรแหละครับ ซึ่งก็น่าเห็นใจอยู่ แต่ผลก็คือทำให้รัฐบาลเสียคะแนนไปอีก
แต่การรบกับโควิดยังไม่จบครับ ยุทธภูมินี้ ยังรุนแรงอยู่มาก ครั้งต่อไป ถ้าจะใช้อาวุธอะไรออกรบ อย่าลืมถามบ่อยๆ และถามหนักๆ ว่าถ้าประกาศมาตรการอย่างนี้แล้ว จะมี ผลในทางลบอะไรบ้าง ที่เราอาจจะคาดไม่ถึง และถ้าหากมี จะต้องเตรียมป้องกันอย่างไร
คนที่ใหญ่ๆและมีอำนาจ ควรกล้าถามว่า ในแต่ละมาตรการนั้น มี “What if...?” อะไรบ้าง รวมทั้งกล้ารับฟังคำตอบด้วย ส่วนคนที่รองๆลงไป ก็ต้อง กล้าตอบ ว่าถ้าทำแบบนี้แล้ว ผลที่ไม่พึงปรารถนา อาจจะเป็นเช่นนั้น เช่นนี้...
ถ้ากระบวนการตัดสินใจเป็นแบบนี้ มาตรการที่ออกมา ก็จะรอบคอบยิ่งขึ้นครับ
มาถึงตรงนี้ ผมก็อยากจะถามคุณผู้อ่านว่า
“แล้วถ้า...แล้วถ้า...คนใหญ่ก็ไม่ถาม คนถัดๆมาก็ไม่อยากพูดให้ตัวเองเดือดร้อน พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง....”
แบบนี้ ทำไงดีครับ?