เมื่อจีนคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยี : กรณี Didi
เมื่อต้นปี ผู้เขียนได้เล่าถึงกรณี Ant ที่ถูกทางการจีนสั่งระงับการขาย IPO มูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ในตลาดต่างประเทศ
ด้วยเหตุที่ว่า การกระทำของ Ant ขัดต่อกฎหมายผูกขาดทางการค้า มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และเป็นการดำเนินการที่ขัดกับหลักเสถียรภาพของระบบการเงิน จวบจนปัจจุบัน ทางการจีนยังคงเดินหน้าปรับกฎเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ขยายการประกอบธุรกิจไปยังต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดบริษัทที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ คือ Didi
Didi คือ ใคร
Didi คือ บริษัท Ride-Haling ที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยให้บริการบนแอพพลิเคชั่นเพื่อใช้เรียกยานพาหนะ ส่งอาหาร ส่งของ และรวมไปถึงธุรกิจ Bicycle sharing ธุรกิจของ Didi ก่อตั้งในปี 2012 และเจริญเติบโตเรื่อยมาจนในปี 2016 ได้เข้าซื้อกิจการของ Uber China ได้สำเร็จ ซึ่งข้อมูลจากปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า หากเทียบ Didi กับ Ride-Haling เจ้าอื่นแล้ว พบว่า Didi มีจำนวนคนขับที่มากกว่า และใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างตรงที่เจ้าอื่นมักให้คนขับใช้รถของตัวเองในการให้บริการ ในขณะที่คนขับของ Didi สามารถเช่ารถบนระบบของ Didi ได้ โดยในแพลตฟอร์มของ Didi ได้มีเครือข่ายของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อย่าง โตโยต้า และนิสสัน ที่พร้อมให้บริการสัญญาเช่ากับเหล่าคนขับ
ดังนั้น ด้วยรูปแบบธุรกิจที่หลากหลายและตอบโจทย์ ส่งผลให้ธุรกิจของ Didi เติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถเข้าซื้อกิจการและเป็นพาร์ทเนอร์กับ Ride-haling ในประเทศต่าง ๆ ได้กว่าหลายร้อยเจ้าทั่วโลก รวมไปถึง Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Taxify ในยุโรป
ล่าสุด Didi ได้เสนอขาย IPO ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา และถือเป็นบริษัทจีนขนาดใหญ่อันดับสองรองจาก Alibaba Group Holding Ltd. ที่ลิสต์ใน NYSE อย่างไรก็ดี เส้นทางของ Didi นับจากนั้นก็ไม่ราบเรียบเท่าไรนัก
Didi และ ทางการจีน
หากไล่เรียงการดำเนินของทางการจีน พบว่า ก่อน Didi เสนอขาย IPO ในสหรัฐ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย 64 หน่วยงาน State Administration for Market Regulation (SAMR) ผู้กำกับดูแลกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมตลาดได้สั่งสอบสวน Didi ภายใต้ข้อกล่าวหาในเรื่องกลไกราคา (Price mechanism) อันอาจนำไปสู่ความไม่โปร่งใสและก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจ Ride-Haling โดย Didi ได้ให้การว่าตนได้พยายามดำเนินการตามกฎเกณฑ์ใหม่ของ SAMR แล้ว
ต่อมา ในวันที่ 4 ก.ค. 64 เพียงสี่วันหลังจากการเสนอขาย IPO ในสหรัฐ หน่วยงานกำกับดูแลบริหารไซเบอร์สเปซของจีน หรือ Cyberspace Administration of China (CAC) ได้สั่งให้ App Stores ในจีนถอดแอปพลิเคชั่นของ Didi ออก ด้วยเหตุผลที่ว่า Didi ได้ “เก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” อันเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ ซึ่งผลจากคำสั่งดังกล่าว ทำให้ผู้รับบริการใหม่จะไม่สามารถใช้บริการ Didi ได้ แต่ไม่กระทบต่อการใช้งานของผู้ใช้บริการเดิม
เมื่อเทียบกับ Ant
หากพิจารณาข้อกล่าวหา Didi ในข้างต้น พบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับกรณีของ Ant ที่ประสบปัญหามาก่อนหน้านี้ในบางประเด็น แตกต่างกันตรงที่ Ant ดำเนินการเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินเป็นหลัก จึงมีประเด็นเรื่องการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความพยายามของภาครัฐในการกำกับดูแลให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ข้อมูล แน่นอนว่า ข้อกล่าวหาของทางการจีนมุ่งไปในลักษณะเดียวกัน คือ การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ซึ่งในกรณีของ Didi ข้อมูลที่ได้จะมีความแตกต่างจาก Ant ตรงที่เป็นชุดข้อมูลแบบ Real-time ที่สามารถนำไปวิเคราะห์และเฝ้าติดตามพฤติกรรมของบุคคลในเชิงสถานที่ การเดินทาง การขนส่ง และการบริโภค ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดที่ Didi มีนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า Didi ได้พยายามพัฒนาแท็กซี่ไร้คนขับ หรือ Self-Driving RoboTaxi ในอนาคตอันใกล้
ทำไมจีนเข้มงวด
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะหลัง ทางการจีนมักออกกฎเกณฑ์หลายประการที่ค่อนข้างเป็นอุปสรรคกับบริษัทเทคโนโลยีของจีนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทที่มีการขยายกิจการไปยังต่างประเทศ ในประเด็นนี้ สามารถวิเคราะห์ได้ในหลายแง่มุม สำหรับผู้เขียน มองว่ากรณีของ Didi ประเด็นแรก เป็นเรื่องความกังวลของ “Cross-Border data flow” หรือ “การรั่วไหลของข้อมูลระหว่างประเทศ”
กล่าวคือ เนื่องจาก Didi คือ Ride-Hailing เจ้าใหญ่ ที่มีการเก็บข้อมูลของชาวจีนในแบบที่สามารถลงรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางและการเคลื่อนไหวของประชากรได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ฐานข้อมูลเหล่านี้ คือ บิ๊กดาต้าด้าน “Traffic และ Travel Information” ที่นำไปสู่การเฝ้าติดตามพฤติกรรมของคนในจีนได้โดยง่าย ประกอบกับเมื่อบริษัทตัดสินใจลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ และมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ SoftBank และ Uber ซึ่งล้วนเป็นบริษัทต่างชาติทั้งสิ้น จึงเป็นไปได้ว่า ข้อมูลในจีนอาจรั่วไหลไปยังต่างชาติได้โดยง่าย ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้ อาจเป็นข้อกังวลของจีนในการนำข้อมูลภายในประเทศไปใช้ในลักษณะที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้
ประเด็นที่สอง บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนมักจัดตั้ง VIE (Variable Interest Entity) เพื่อเป็นช่องทางในการระดมทุนจากบริษัทต่างชาติ กล่าวคือ เนื่องจากกฎหมายจีนมักมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกี่ยวกับการจำกัดสัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างชาติ ดังนั้น หากบริษัทจีนต้องการทุนระดมทุนจากผู้ถือหุ้นต่างชาติ VIE จึงเป็นทางออกหนึ่ง โดยในทางปฏิบัติ บริษัทเทคโนโลยีของจีนที่ลิสต์ในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba JD.com หรือ Didi ต่างเลือกใช้ VIE Arrangement ในการจัดโครงสร้างภายในขององค์กร (คล้ายการทำ holding company) และกำหนดให้มีสัญญาควบคุมกิจการ โดยมีข้อตกลงพิเศษระหว่างกัน เพื่อให้บริษัทต่างชาติสามารถลงทุนในบริษัทจีนได้
การดำเนินการดังกล่าว อาจกระทำผ่าน Shell companies ที่จัดตั้งในดินแดนปลอดภาษี (เช่น Cayman Islands) ดังนั้น ข้อดีของ VIE คือ นอกจากจะสามารถหลบเลี่ยงข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของจีนได้แล้ว อาจยังช่วยให้บริษัทสามารถวางแผนภาษีได้อีกประการหนึ่งด้วย ซึ่งการดำเนินการผ่าน VIE นี้ สำหรับทางการแล้ว เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก ทั้งในแง่การดำเนินการ การลงบัญชีและภาระภาษี
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า การเคลื่อนไหวของทางการจีนที่มีต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความกังวลในความพยายามปิดช่องว่างของกฎหมายเดิมที่มีอยู่ และอาจกำลังพัฒนากฎเกณฑ์ใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้นในอนาคต.