อียูเสนอ 10 นโยบายหลัก คุมเข้มกลุ่มอุตฯปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง
คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศแผนนโยบาย Fit for 55 Package จะมีผลกระทบต่อประเทศที่สาม ซึ่งอาจรวมถึงไทยด้วย
สหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศใช้แผนนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (European Green Deal) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเสาหลักของคณะกรรมาธิการยุโรป ควบคู่กับนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (digitalization) โดยได้ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี ค.ศ. 2030 และมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 เป้าหมายดังกล่าวจึงนำไปสู่การปฏิรูปกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ ครอบคลุมทุกมิติ
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศแผนนโยบาย “Fit for 55 Package” เพื่อเป็นกรอบการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านสภาพอากาศ พลังงาน การใช้ที่ดิน การขนส่ง และภาษีของอียู รวมถึงการปรับอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนภายใต้ระบบ EU ETS (European Union Emission Trading System) และการจัดทำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู (Carbon border Adjustment Mechanism: CBAM)
แผนนโยบายดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อประเทศที่สาม ซึ่งอาจรวมถึงไทยด้วย โดยเน้นการควบคุมกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง ให้เริ่มเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่สะอาดและยั่งยืน (แทนพลังงานฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป) และการเพิ่มพื้นที่ป่าในสหภาพยุโรป เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอน (carbon sink) และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
ข้อเสนอนี้ จะต้องได้รับการเห็นชอบจากสภายุโรปและผู้นำประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศในลำดับต่อไปก่อนมาตรการจะมีผลบังคับใช้ และมีประเด็นหลักๆ ดังนี้
1) การเสนอให้มีการห้ามจำหน่ายรถยนต์เครื่องสันดาปภายในปี ค.ศ. 2035 โดยให้มีการปรับปรุงกฎหมายด้านการปล่อยก๊าซสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก (Regulation (EU) 2019/631) ใหม่ ซึ่งหมายความว่ารถยนต์ในท้องตลาดอียูในอีก 15 ปีข้างหน้า จะต้องไม่มีการปล่อยมลพิษเลย พร้อมทั้งเสนอร่างกฎหมายด้านการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเชื้อเพลิงทางเลือก เพื่อกำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเพิ่มสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทุกๆ 60 กม. และจุดเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนทุกๆ 150 กม. บนทางหลวงสายหลัก
ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน อาทิ แบตเตอรี่ อาจต้องเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและ/หรือรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่นๆ ทดแทน
ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Volvo และ Volkswagen (VW) ได้ประกาศแผนที่จะหยุดผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในยุโรปภายใน ปี ค.ศ. 2030 และ ค.ศ. 2035 ตามลำดับ โดยการเปลี่ยนแปลงของบริษัท VW จะมีผลกับตลาดยุโรปก่อน และจะมีการปรับเปลี่ยนการผลิตในตลาดสหรัฐฯ และจีนในภายหลัง
2) การเพิ่มความเข้มข้นของระบบ EU ETS โดยเสนอให้มีการขยายระบบ EU ETS ให้ครอบคลุมภาคขนส่งทางเรือ และยกเลิก (phase out) ใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบให้เปล่าสำหรับภาคการบิน ทั้งนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ระบบเดิมอยู่แล้ว จะให้มีการลดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอีก และตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นสำหรับอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปี
อียูมองว่ามาตรการ EU ETS หรือ การกำหนดราคาคาร์บอนนั้นเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยลดการปล่อยก๊าซฯ โดยสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซฯ จากโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงลงกว่า 42.8% ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา
เพราะเหตุนี้ อียูถึงยืนยันที่จะขยายระบบ ETS ให้ครอบคลุมภาคขนส่งต่าง ๆ (ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซฯ สูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมพลังงาน) และเชื้อเพลิงที่ใช้ภายในอาคาร
แม้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์และครัวเรือนโดยตรง เช่น ค่าเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงว่าใครควรจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมานี้ เพราะดูเหมือนว่าภาระจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคแทนที่จะเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์
3) ข้อเสนอให้จัดตั้งกองทุน Climate Social Fund เพื่อเยียวยาประชาชนและธุรกิจรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นกลางทางสภาพอากาศ โดยการจัดสรรรายได้ร้อยละ 25 จากระบบ EU ETS ในส่วนของพลังงานเชื้อเพลิงจากรถยนต์และภายในอาคาร เพื่อไปสมทบช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับประชาชนที่เดือนร้อน อาทิ อุดหนุนค่าใช้จ่ายในซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีรายได้และงบประมาณจากอียูสำหรับช่วงปี ค.ศ. 2025-2032 รวม 72.2 พันล้านยูโร
ประเทศสมาชิกจะต้องยื่นข้อเสนอต่ออียูในการใช้กองทุนและแนวทางการ match funding ทั้งนี้ อียูมองว่ากองทุนนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอนของอียูนั้น เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นธรรมที่สุด
4) ร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของอียู (CBAM) ซึ่งเป็นการขยายระบบ EU ETS ให้บังคับใช้กับสินค้านำเข้าบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า
ผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบแสดงสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (CBAM certificates) เพื่อเป็นการจ่ายธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ในการปล่อยก๊าซฯ โดยราคาของใบแสดงสิทธิจะคำนวณจากราคาประมูลเฉลี่ยรายสัปดาห์ของ EU ETS allowances (หน่วย: ยูโร/การปล่อย CO2 1 ตัน)
ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ระหว่าง 1 ม.ค. 2566 – 31 ธ.ค. 2568 อียูจะอนุญาตให้ผู้นำเข้ารายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้า โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใดๆ และจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM แบบเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป
กล่าวคือ ผู้นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในตลาดอียูจะต้องทำรายงานประจำปีแจ้งจำนวนสินค้าที่นำเข้า และปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าดังกล่าวในช่วงปีที่ผ่านมา และต้องทำการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนด้วย CBAM certificates
เนื่องจากมาตรการ CBAM นี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่สาม จึงเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมากในระดับสากล และเกิดคำถามว่า มาตรการ CBAM ถือเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ขัดกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่
5) ร่างกฎหมายว่าด้วยการกำหนดสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิก (Effort Sharing Regulation: ESR) เพื่อเพิ่มอัตราการลดการปล่อยก๊าซฯ อุตสาหกรรมอีกอย่างน้อยร้อยละ 11 ในภาคการก่อสร้าง ภาคขนส่งทางถนนและทางเรือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม โรงงานบำบัด/กำจัดของเสีย และอุตสาหกรรมรายย่อย
โดยใช้ค่าเฉลี่ย GDP ต่อบุคคลในแต่ละประเทศสมาชิกเป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่เศรษฐกิจของบางประเทศสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่าและยังต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน (กลุ่มยุโรปตะวันออก) อาทิ เสนอเป้าหมายในลดการปล่อยก๊าซฯ ร้อยละ 50 สำหรับเยอรมนี ร้อยละ 38 สำหรับสเปน และร้อยละ 10 สำหรับบัลแกเรีย เป็นต้น
6) ข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย Renewable Energy Directive (RED) เพื่อเพิ่มเป้าหมายการผลิตพลังงานจากแหล่งหมุนเวียนเป็นร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงเป้าหมายในการเพิ่มการใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานสะอาดอื่น ๆ ตลอดจนเพิ่มความเคร่งครัดของหลักเกณฑ์ด้านความยั่งยืนสำหรับการใช้พลังงานชีวภาพ (bioenergy)
เนื่องจากอียูมีความเคลือบแคลงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความยั่งยืนของพลังงานชีวภาพ โดยมักมองว่าการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นเป็นการทำลายป่าไม้ อาทิ ปาล์มน้ำมัน จึงมีแผนที่จะมีการจัดทำหลักเกณฑ์ที่เคร่งครัดขึ้น เพื่อระบุว่าพลังงานชีวภาพประเภทใดสามารถถูกจัดเป็นพลังงานสะอาดได้บ้าง
7) การเสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย Energy Efficiency Directive (EED) เพื่อประหยัดการใช้พลังงาน โดยการกำหนดเป้าหมายที่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่สูงขึ้น และให้หน่วยงานภาครัฐทุกระดับปรับปรุงอาคารอย่างน้อยร้อยละ 3 ต่อปี เพื่อลดการใช้พลังงานที่ฟุ่มเฟือย
ซึ่งเป็นการส่งเสริมแผนยุทธศาสตร์ Renovation Wave ของอียู ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย และอาจสร้างงานได้มากถึง 160,000 ตำแหน่งอีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมด้านวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน อาทิ หลอดไฟประหยัดพลังงาน และกระจกกันความเย็น/ร้อน เป็นต้น
8) ข้อเสนอให้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีของสินค้าพลังงานและไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาดและพลังงานหมุนเวียน (ซึ่งไม่ได้มีการปรับปรุงระบบภาษีมา 18 ปีแล้ว) โดยการกำหนดมาตรการจูงใจ เช่น การจัดเก็บภาษีตามปริมาณพลังงาน (energy content) ไม่ใช่แค่ตามปริมาตร (volume) เหมือนปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการรับประกันว่าพลังงานที่มีมลพิษสูงต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่า รวมถึงการยกเลิกการละเว้น/ลดหย่อนภาษีให้กับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานฟอสซิล
9) ข้อเสนอมาตรการบังคับให้มีการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก (sustainable fuels) ในสัดส่วนสูงขึ้น เพื่อจัดการปัญหามลพิษทั้งในอุตสาหกรรมเครื่องบินและการขนส่งทางทะเล ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงไฟฟ้าสะอาดในท่าเรือหลักๆ และสนามบินทุกแห่งในยุโรป
โดยเสนอแผน “ReFuelEU Aviation” เพื่อกำหนดให้มีการเพิ่มส่วนผสมของเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ (e-fuels) ในเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน และแผน “FuelEU Maritime” เพื่อกระตุ้นการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกและเทคโนโลยีปลอดคาร์บอนในภาคการขนส่งทางทะเล ซึ่งรวมถึงการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซฯ ของเรือที่เดินทางสู่ท่าเรือในอียูด้วย
10) ข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการใช้ที่ดิน ป่าไม้ และเกษตรกรรม (LULUCF) เพื่อกำหนดเป้าหมายในการพึ่งพาภาคเกษตรกรรมโดยให้ปลูกป่าไม้เพื่อดูดซับคาร์บอน 310 ล้านตัน (หรือประมาณร้อยละ 7 ของคาร์บอนที่อียูปล่อยรายปี) ภายในปี ค.ศ. 2030 และมีแผนที่จะปลูกต้นไม้ 3 พันล้านต้นในอียูภายใน 10 ปี โดยอียูต้องการดึงดูดให้เกษตรกรเปลี่ยนมาทำการเกษตรตามนโยบาย Common Agricultural Policy ของอียู เพื่อส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน การรับมือกับปัญหาโลกร้อน ตลอดจนภัยธรรมชาติที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่แปรปรวน เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับประชาคมโลก โดยหลายประเทศ อาทิ อียู สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ต่างเร่งปรับปรุงนโยบายปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเองเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ทำให้มีนัยต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน รวมถึงการยกระดับสู่การใช้พลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้า ภาคธุรกิจไทยจึงควรติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงในด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ บทเรียนจากต่างประเทศชี้ว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ คือ การออกแบบและดำเนินธุรกิจที่อิงความรู้จากการวิจัยและพัฒนา (R&D) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Alliances) ที่สามารถเกื้อหนุนกันได้ใน Supply Chain เดียวกัน.