เมื่อรัฐบาลจีนเข้มเรื่องข้อมูล 'เทคฯยักษ์ใหญ่' ต่างมีผลกระทบ
โลกอยู่ในยุคสงครามเทคโนโลยีและสิ่งสำคัญคือ “ข้อมูล”
หลายเดือนที่ผ่านมานักลงทุนบ้านเราที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ทั้งที่ลงในตลาด NASDAQ และในตลาดทุนจีน ต่างพบว่า มีมูลค่าลดลงอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลจีนออกมาตรฐานที่ค่อนข้างเข้มงวดกับบริษัทต่างๆ เหล่านั้นในเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล และเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์
หลายคนอาจแปลกใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศจีน เพราะอดีตที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ เหล่านี้มีอิสระเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาล นำไปใช้ในการประมวลผล จนมีการกล่าวว่า บริษัทเทคโนโลยีในจีนประสบความสำเร็จได้เพราะการมีข้อมูลจำนวนมากที่เหนือกว่าคู่แข่ง ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเห็นภาพการนำแอพพลิเคชั่นไปใช้นอกประเทศจีน และเก็บข้อมูลต่างๆ กลับมามากมาย
แต่สิ่งที่พบล่าสุด คือ รัฐบาลจีนออกนโยบายชี้ว่า “ข้อมูล” เป็นปัจจัยผลิตที่สำคัญอย่างที่ 5 ในนโยบายเศรษฐกิจสังคมนิยมประเทศ นอกเหนือจากปัจจัยเดิมทั้งสี่ในด้าน ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน และเทคโนโลยี ทั้งนี้รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์ กฎหมายว่า ด้วยการรักษาความปลอดภัยข้อมูล และเตรียมร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะประกาศใช้เร็วๆ นี้
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเริ่มคุมเข้มบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่เคยใช้ข้อมูลมหาศาลดำเนินธุรกิจ เริ่มเห็นจากการระงับเปิดขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก หรือ IPO ของบริษัท Ant Group ฟินเทคเครือ Alibaba และเริ่มตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีอีกหลายบริษัท เช่น Alibaba และ Tencent ข้อหามีพฤติกรรมผูกขาด หรือละเมิดสิทธิลูกค้า บริษัท Alibaba ถูกสั่งปรับเป็นมูลค่าสูงถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์ หลังถูกสรุปว่ามีพฤติกรรมผูกขาดการค้า
ล่าสุดรัฐบาลจีนตรวจสอบบริษัท Didi บริษัทเทคโนโลยีในเรื่องรถโดยสาร ลูกค้าเกือบ 500 ล้านคนใน 15 ประเทศ ในข้อหาว่า มีการรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง ละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรง บริษัท Didi ได้เก็บข้อมูลของลูกค้าไปมากมายทั้งเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลเดินทาง เรียกรถ ตลอดจนกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ในรถโดยสาร
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้สั่งถอดแอพบริษัท Didi จากแอพสโตร์ มีผลมากต่อการที่ลูกค้าเข้าไปใช้งาน และ Didi เพิ่งเปิดขายหุ้น IPO ในตลาด NASDAQ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มาตรการรัฐบาลจีน ทำให้ราคาหุ้น Didi ร่วงลง 25% และสูญเสียมูลค่าในตลาดไป 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์
สาเหตุที่รัฐบาลจีนเริ่มให้สำคัญเรื่องนี้ เพราะโลกกำลังอยู่ในยุคสงครามเทคโนโลยีและสิ่งสำคัญ คือ “ข้อมูล” เหมือนที่เราพูดเสมอว่า ข้อมูล คือ น้ำมันในรูปแบบใหม่ ชาติใดบริษัทใดมีข้อมูลมากสามารถทำเทคโนโลยีได้ดีกว่าทำระบบปัญญาประดิษฐ์ที่แม่นยำกว่า เพิ่มศักยภาพแข่งขันมากขึ้น
ดังนั้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นประเทศต่างๆ มีมาตรการควบคุมการใช้ข้อมูลเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลที่จะต้องถูกนำไปประมวลผลในต่างประเทศ สหภาพยุโรปออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เรียกว่า GDPR และมีผลใช้บังคับมาหลายปีแล้ว มีผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่ต้องทำธุรกรรมกับพลเมืองสหภาพยุโรป ต้องปรับนโยบายต่างๆ กันมาก
ในสหรัฐอยังมีประเด็นอีกมากเกี่ยวข้องกับข้อมูล ทั้งเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ การล้วงความลับข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของบริษัทต่างชาติ มีหลายกรณีที่มีประเด็นกับบริษัทเทคโนโลยี โดยเฉพาะกรณี Huawei,Tencent และ Bytedance ในเรื่อง 5G รวมถึงแอพพลิเคชั่นอย่าง Wechat และ TikTok ด้วย
หลายประเทศเริ่มเป็นห่วงเรื่องอธิปไตยข้อมูลมากขึ้น มีการออกกฎหมายห้ามนำข้อมูลบางอย่างออกนอกประเทศ เช่น อินเดียมีกฎหมายห้ามนำข้อมูลธุรกรรม โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศทำให้บริษัทเทคโนโลยีในต่างประเทศต้องมาตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศอินเดีย
สำหรับจีน ตระหนักความสำคัญของข้อมูลและห่วงเรื่องความมั่นคงของประเทศ จึงได้เริ่มเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยี เน้น 3 ด้านหลัก คือ ปกป้องความเป็นส่วนตัวข้อมูล ยับยั้งผูกขาดทางการค้า ควบคุมบริษัทฟินเทค รวมถึงล่าสุดได้ระบุว่าบริษัทใดๆ ในประเทศ ที่มีข้อมูลลูกค้ามากกว่า 1 ล้านราย ที่ต้องการจดทะเบียนในต่างประเทศ ต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยไซเบอร์เสียก่อน
การออกกฎระเบียบเหล่านี้ ต่อไปบริษัทใหม่ๆ ในจีนที่ก้าวไปเป็นยูนิคอร์นรายใหม่อาจไม่ง่ายนัก แต่จีนมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลของจีนตกอยู่ในการควบคุมของต่างชาติ นับเป็นเรื่องที่น่านำมาเป็นแนวทางศึกษาสำหรับไทย เพราะไทยอาจต้องออกกฎระเบียบคล้ายๆ กันมาบ้าง กันไม่ให้ต่างชาตินำข้อมูลในประเทศเราออกไปเก็บ และประมวลผลมากจนเกินไป จนต้องเสียอธิปไตยทางด้านข้อมูล