เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแต่วางใจไม่ได้

เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแต่วางใจไม่ได้

ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ว่า โควิดเป็นปัญหาของโลก เป็นปัญหาของมนุษยชาติ ที่การแก้ไขต้องเป็นระดับโลกเพื่อให้เกิดผล ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ตอนต้นปีผมเขียนบทความในคอลัมน์นี้พูดถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ว่า

หนึ่ง จะเป็นการแข่งกันระหว่างการระบาดและการกระจายวัคซีนว่าใครจะชนะ

 สอง การฟื้นตัวจะเป็นแบบกระต่ายกับเต่า คือ เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกระต่ายที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วจากที่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรได้มาก กับอีกกลุ่มคือ เต่า ที่การฟื้นตัวจะช้าเพราะฉีดวัคซีนได้ช้า

สาม ในแต่ละประเทศการฟื้นตัวจะเป็นแบบตัวอักษร K คือมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวแต่เป็นคนส่วนน้อย เป็นเส้นลากขึ้นของตัว K เพราะอยู่สาขาเศรษฐกิจที่ขยายตัว เช่น อุตสาหกรรม ส่งออก การเงิน การธนาคาร ก่อสร้าง กับอีกกลุ่มที่การฟื้นตัวจะช้าเพราะอยู่ในสาขาเศรษฐกิจ เช่น บริการและท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวช้าแต่เป็นฐานรายได้ของคนจำนวนมาก เป็นเส้นลากลงของตัว K ผลคือคนในประเทศได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวไม่เท่ากัน

 ล่าสุด การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ไอเอ็มเอฟ (IMF) เพิ่งแถลงข่าวอาทิตย์ที่แล้วก็ออกมาในแนวนี้ทั้งหมด คือ การฟื้นตัวยังเปราะบางจากการกระจายวัคซีนที่ไม่ทั่วถึง ทำให้เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ไปได้ดี ซึ่งก็คือประเทศอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวดีเพราะได้ประโยชน์จากวัคซีนและแรงกระตุ้นทางการคลัง อีกกลุ่มคือประเทศตลาดเกิดใหม่ที่การฟื้นตัวไปได้ช้า เพราะล่าช้าในเรื่องวัคซีนและไม่มีพลังทางการคลังเข้ามาสนับสนุน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชากรในกลุ่มหลังค่อนข้างลำบาก ความยากจนเพิ่มขึ้น สร้างแรงกดดันต่อสังคมและต่อเสถียรภาพของประเทศ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

 ในเอกสาร “รอยปริกว้างขึ้นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” (Fault Lines Widen in the Global Recovery) ที่ไอเอ็มเอฟประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกล่าสุด มีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้ 

หนึ่ง การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าไม่ต่างจากที่ประมาณไว้เดิมในเดือนเมษายน คือ เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 6 เปอร์เซ็นต์และชะลอเหลือ 4.9 เปอร์เซ็นต์ปีหน้า แต่ที่ต่างคือองค์ประกอบที่ประเทศอุตสาหกรรมขยายตัวดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิม 0.5 เปอร์เซ็นต์ คือขยายตัวร้อยละ 5.6 ปีนี้และร้อยละ 4.4 ปีหน้า

ที่แย่ลงคือประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ปรับลดลงจากเดิม เหลือร้อยละ 6.3 และร้อยละ 5.2 ปีหน้า และที่ปรับลงมากคือ ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ ที่เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 4.3 ก่อนจะเร่งตัวเป็นร้อยละ 6.3 ปีหน้า สะท้อนการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่กำลังมีมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สอง ความเร็วที่ต่างกันในการฟื้นตัวระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่ ทำให้เศรษฐกิจโลกกำลังปริออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนและพลังกระตุ้นจากนโยบายการคลัง ทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้เร็วจากนโยบายเปิดประเทศและการกลับมาทำธุรกิจของภาคเอกชน ตรงข้ามกับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่การฉีดวัคซีนทำได้ช้ากว่า ล่าสุดฉีดได้เพียงร้อยละ 11 ของประชากรเทียบกับเกือบร้อยละ 40 ในประเทศอุตสาหกรรม

ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ก็ทำได้จำกัด เพราะไม่มีเงินที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ทำได้เพียงปีที่แล้ว ต่างกับประเทศอุตสาหกรรมที่ได้อนุมัติวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับปี 2021 และปีต่อๆ ไป นี่คือความแตกต่าง และรอยปรินี้จะกว้างขึ้นถ้าทั้งการฉีดวัคซีนและการกระตุ้นทางการคลังยิ่งห่างกันมากไปอีก 

สาม รอยปริแตกลักษณะนี้ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่น่าวางใจ ซึ่งสาเหตุหลักคือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งไอเอ็มเอฟมองว่า วัคซีนคือปัจจัยหลักที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นได้ ดังนั้น ตราบใดที่ร้อยละ 59 ของเศรษฐกิจโลก คือ ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด (วัดโดยความสามารถของอำนาจซื้อ) ยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่จากการระบาดของโควิดที่ยังมีอยู่ ก็ยากที่เศรษฐกิจโลกทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์จะฟื้นตัวได้ดี

นอกจากนี้ก็มีความเสี่ยงที่การระบาดที่ยังไม่จบในประเทศตลาดเกิดใหม่อาจกลับมาปะทุเป็นการระบาดรอบใหม่ในประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ ถ้าเปรียบเศรษฐกิจโลกเป็นร่างกายมนุษย์ เศรษฐกิจโลกจะไม่ปลอดภัยจากโควิดตราบใดที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของเศรษฐกิจโลกยังไม่ปลอดภัยจากโควิด

 

 อีกประเด็นที่ไอเอ็มเอฟพูดถึงคือ ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมได้สร้างแรงกดดันให้ระดับราคาในเศรษฐกิจโลกปรับสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น น้ำมัน  ตามการขยายตัวของการใช้จ่าย และจากภาวะอุปสงค์และอุปทานในบางอุตสาหกรรมที่ยังเขย่งกันจากปัญหาคอขวดในการผลิต ทำให้การผลิตปรับตามการเพิ่มของอุปสงค์ไม่ทัน ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น

ไอเอ็มเอฟมองราคาที่ปรับสูงขึ้นว่าเป็นภาวะชั่วคราวที่สะท้อนปัญหาคอขวดในการผลิต ไม่ใช่การเร่งตัวของการใช้จ่าย จึงไม่อยากให้ธนาคารกลางผลีผลามในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะจะเร็วเกินไปเทียบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน และเหตุที่ห่วงเรื่องนี้ก็เพราะหลายประเทศ เช่น บราซิล ฮังการี เม็กซิโก รัสเซีย ตุรกี ได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว อย่างที่ทราบอัตราดอกเบี้ยที่แพงขึ้นจะยิ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีข้อจำกัด และสร้างความเสี่ยงต่อประเทศตลาดเกิดใหม่จากเงินทุนระหว่างประเทศที่จะไหลออก

ท้ายสุดในประเทศที่พึ่งภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวมาก บวกกับมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ ผลของโควิดและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าจะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมากขึ้นและจำนวนคนยากจนในประเทศสูงขึ้น (ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้) สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ในหลายประเทศ ผู้คนเริ่มออกมาประท้วงเรียกร้องการบริหารจัดการปัญหาที่ดีกว่าจากรัฐบาล รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและปลอดภัยจากโควิด สร้างแรงกดดันต่อสังคมและเสถียรภาพของประเทศ ล่าสุด เราจึงเห็นข่าวการประท้วงเกิดขึ้นกว้างขวางใน ชิลี บราซิล คิวบา แอฟริกาใต้และตูนีเซีย เป็นต้น

ในประเด็นนี้ ไอเอ็มเอฟให้ความเห็นว่าประเทศต่างๆ ในโลกต้องร่วมมือกันจริงจังเพื่อลดการระบาด เช่น จัดวงเงินทั้งเงินให้เปล่าและเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้ประเทศที่มีการระบาดมากสามารถจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชากรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ประเทศอุตสาหกรรมจะช่วยเหลือได้ เรื่องนี้ผมเห็นด้วยและตรงกับที่ผมเคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้ว่า ปัญหาโควิดเป็นปัญหาของโลก เป็นปัญหาของมนุษยชาติ ที่การแก้ไขต้องเป็นระดับโลกเพื่อให้เกิดผล ไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างในปัจจุบัน

เพราะถ้าไม่ร่วมมือกันจริงจัง ปล่อยไว้แบบนี้ ศูนย์กลางการระบาดก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เหมือนร่างกายมนุษย์จะฟื้นจากการเจ็บป่วยไม่ได้ตราบใดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายยังเจ็บป่วยอยู่.