“คำหยาบ” มีได้ แต่ต้องไม่ “หยาบคาย”
ถ้าเราไม่คิดว่า “กู-มึง” คือคำหยาบ มันก็ไม่หยาบหรอก มันก็แค่สรรพนามอีกแบบหนึ่งที่ใช้ในภาษาพูด
ถ้าเราไม่คิดว่า “ไอ้สัส” ของน้าค่อม คือคำหยาบ มันก็ไม่หยาบหรอก มันก็แค่มุกตลกที่เรียกเสียงเฮฮา
สังคมสมัยนี้คนพูดคำหยาบกันจนเป็นเรื่องปกติ โดยความเห็นส่วนตัว มันเป็นเรื่องของรสนิยมและกาละเทศะ แต่ประเด็นที่อยากเขียนในวันนี้ คำหยาบไม่ใช่ปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือ พูดจาหยาบคาย
“คำหยาบ” หากใช้ถูกที่ถูกเวลา มันก็โอเค
สมัยก่อนเราอาจจะรู้สึกหน้าชาไปกับคำหยาบคายที่รุนแรง คำสาปแช่งที่ไล่ให้ไปตาย หรือกลายเป็นสัตว์ตัวนั้นตัวนี้ ทำเอาเราจุกจนพูดไม่ออกไปทั้งวัน ทุกวันนี้ เรากลับเห็นว่าคำหยาบที่เคยสร้างความเจ็บแสบ ได้กลายเป็นคำทั่วไปในชีวิตประจำวัน แถมยังลดทอนพลังของคำเหล่านั้นด้วยการนำไปใช้ในบริบทอื่นๆ นอกจากการด่าหรือทำร้ายจิตใจกัน อย่าง “เมื่อเพื่อนพูดว่า “อีสัตว์ อย่าทำน้อง” นั่นคือ ‘น้อง’ หมายถึงแมว แล้ว ‘อีสัตว์’ หมายถึงเรา “อีสัตว์ อีดอก อีเหี้ย” ถ้าคุณเคยโดนเรียกด้วยคำเหล่านี้ เราคือเพื่อนกัน เพราะบางครั้งเราก็ใช้คำหยาบเพื่อเข้าสังคม ทำลายกำแพงความสัมพันธ์ และลดความอึดอัดกับคนรอบตัว เพราะคงจะมีแต่คนที่สนิทใจด้วยจริงๆ
คำพูดไหน เป็นคำหยาบแค่ไหน มันก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน ในสมัยหลังๆนี้การพูดคำหยาบอาจเรียกได้ว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง คล้ายๆกับมินิสเกิร์ต เสื้อเอวลอย ที่คนสมัยก่อนอาจมองว่ามันไม่เหมาะไม่งาม หากคุณยายของเรายังมีชีวิตอยู่ คุณยายคงรับไม่ได้ ถ้าเห็นหลานสาวนุ่งกระโปรงสั้นเหนือเข่าเป็นฟุต ใส่สายเดี่ยว ใส่เกาะอก แม้กระทั่งเวลาเราใส่เสื้อสีขาวๆดำๆ คุณยายก็มักจะทักว่าทำไมใส่สีแบบนี้ เหมือนจะไปงานศพ
แฟชั่นก็เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย หากเรามองว่าการพูดคำหยาบมันก็คล้ายๆกับแฟชั่น การพูดคำหยาบก็ดูเหมือนไม่หยาบอีกต่อไป ตราบใดที่การพูดนั้นอยู่ในความเหมาะสม อยู่ในกาลเทศะ บางคนอาจรู้สึกว่าพูดแล้วให้ความเป็นกันเอง เข้าถึงคนอื่นง่าย สร้างบรรยากาศครึกครื้น สนุกสนาน เฮฮา
คำหยาบไม่ใช่ปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือ พูดจาหยาบคาย
พูดจาอย่างไรจึงไม่นับเป็นการพูดจาหยาบคาย ต้องคำนึงถึงยุคสมัยที่พูดด้วยเสมอ "คำหยาบจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มีบริบทของสถานที่ กาลเวลาและความสัมพันธ์
การพูดคำหยาบ กับ การพูดจาหยาบคายนั้นไม่เหมือนกัน การพูดจาหยาบคาย คือ การกระทำที่ไม่มีมารยาท ไม่ให้เกียรติผู้อื่น โดยการใช้ถ้อยคำหยาบคายเพื่อถากถางหรือดูหมิ่นผู้อื่น ซึ่งมักจะมาพร้อมกับ ประทุษวาจา (Hate Speech)
สิ่งที่เรารับไม่ได้ในสังคมสมัยนี้คือ… “การพูดจาหยาบคาย”
นิเวศดิจิทัล (Eco-Digital) ได้สร้างสังคมวิถีใหม่ที่อยู่ในโลกไซเบอร์มากขึ้น ชีวิตผู้คนมีกิจกรรมออนไลน์ มีสมาร์ทโฟนประจำตัว ใช้โปรแกรมสื่อสังคม social media กันมาก เช่น เฟสบุก ทวีตเตอร์ อินสตราแกรม ไลน์ ติ๊กต๊อก ฯลฯ มีการสื่อสารพูดคุยกัน ส่งข้อความทางออนไลน์ เข้าถึงง่าย การพบปะกันบนโลกไซเบอร์จึงเป็นของง่ายสำหรับชีวิตวิถีใหม่ ทุกๆ คนมี social media อยู่ในมือ ทำให้เกิด social movement ในหลากหลายด้าน ทำให้คนกล้าแสดงจุดยืน กล้าแสดงความคิดเห็นในการช่วยกันขับเคลื่อนสังคม
แต่ในขณะเดียวกัน การใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่สุภาพ หรือรุนแรงเกินกว่าเหตุในพื้นที่ social media มีให้พบเห็นกันอย่างมากมาย การพูดจาหยาบคาย การใช้วาจา คำด่า คำรุนแรง ดูถูก เหยียดหยาม ด้อยค่าคนอื่น เริ่มมีมากขึ้นในยุคดิจิทัลที่เข้าถึงง่าย สะดวกสบายและรวดเร็ว
การที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยที่ไม่ต้องเห็นหน้ากัน โดยไม่ต้องรู้จักกัน ไม่ได้หมายความว่า เราจะพูดอะไรก็ได้ จะหยาบคายแค่ไหนก็ได้ ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นบุคคลที่เราไม่ชอบ ไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยในการกระทำ เสรีทางความคิด ความเสรีทางการพูด คือสิ่งที่ควรผ่านกระบวนการวิเคราะห์ของปัญญาชน ก่อนที่จะปล่อยความเสรีนั้นออกสู่สาธารณะ ดังนั้น เสรีภาพจึงก็ไม่ควรพูดจาหยาบคายใส่ใครก็ได้ หากเรา
“ถ้าเลือกที่จะหาถ้อยคำดีๆไม่ได้ ก็อย่าพูดเลยซะดีกว่า”
“คำหยาบ” ก็เหมือนกับสุรา ถ้าดื่มในปริมาณที่พอดี มันก็จะทำให้เรารู้สึกสนุก มีทักษะสังคมที่เก่งขึ้น ถ้าดื่มมากไปโดยไม่รู้จักควบคุมตัวเอง “คำหยาบ” ก็จะกลายร่างเป็น”คำหยาบคาย” มันก็ส่งผลเสียมาที่ตัวเราและคนรอบข้างได้มาก ... เรื่องแบบนี้มันต้องดูที่เจตนาและกาลเทศะ เราเลือกใช้คำหยาบได้ แต่อย่าติดนิสัย “หยาบคาย” จนแยกแยะไม่ออกว่าสถานการณ์แบบไหนควรหรือไม่ควร
ความปรารถนาดีต่อกัน การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ยังคงเป็นคติธรรมที่สังคมไทยควรรักษาเอาไว้ เหมือนกับที่สุภาษิตฝรั่งเคยสอนไว้ว่า “ถ้าเลือกที่จะหาถ้อยคำดีๆไม่ได้ ก็อย่าพูดเลยซะดีกว่า” คำพูดเป็นสิ่งสำคัญ คำพูดที่งดงาม ตราตรึงอยู่ในความทรงจำได้ฉันใด การฝึกตัวเองให้แวดล้อมไปด้วยสติแห่งการคิดก่อนพูดก็คือความงดงามในชีวิตของผู้พูดเองฉันนั้น