ท่องเที่ยวไทย: ยุคใหม่ไฉไลกว่าเดิม
การท่องเที่ยวไทยจะเป็นพลังขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ได้ก็ต่อเมื่อการท่องเที่ยวไทย พัฒนาอยู่บนฐานความรู้และนวัตกรรมเช่นเดียวกับอุตสาหกรรม4.0
หากใช้กรอบคิดว่าไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นยุคที่ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศที่มีรายได้เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว การท่องเที่ยวไทยก็เป็นการท่องเที่ยว 4.0 ไปแล้ว เพราะในปัจจุบันประเทศไทยติดลำดับ 4 ของโลกในการสร้างรายได้ รองจากสหรัฐอเมริกา สเปน และฝรั่งเศส ยังมีรายรับสุทธิ (รายรับหักด้วยค่าใช้จ่ายของคนในประเทศที่ไปต่างประเทศ) เป็นลำดับที่ 3 ของโลก ส่วนประเทศในเอเชียมีเพียง 2 ประเทศคือ ประเทศจีนและไทยเท่านั้นที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวนานาชาติมาเยือนติด 10 ลำดับแรกของโลก (UNWTO)
การจัดลำดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของการท่องเที่ยวโลกของ World Economic Forum (WEF) พบว่า ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 31 จาก 140 ประเทศ
สาเหตุที่ประเทศไทยได้ลำดับไม่สูงนักเมื่อเทียบกับระดับรายได้จากการท่องเที่ยว ก็เพราะว่าการจัดการด้านอุปทานของไทยยังไม่ดีนัก กล่าวคือ
ดัชนีย่อยด้านความปลอดภัยอยู่ในลำดับที่ 111 ของโลก ดัชนีย่อยด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ในลำดับที่ 130 ทั้งโลก ดัชนีสุขภาพและอนามัยอยู่ในลำดับที่ 88 ของโลก ซึ่งนับว่าต่ำมาก ดัชนีของไทยที่อยู่ในลำดับสูงสุด คือ ดัชนีทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในลำดับที่ 10 ของโลก และดัชนีการแข่งขันด้านราคาอยู่ในลำดับที่ 25
การวิเคราะห์ลำดับของตัวชี้วัดเหล่านี้มีนัยว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 การท่องเที่ยวไทยอาศัยการขายทรัพยากรธรรมชาติในราคาต่ำ และอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า เกินขีดความสามารถในการรองรับ (Overtourism)
การวิเคราะห์รูปแบบวิวัฒนาการของการท่องเที่ยวไทย เปรียบเทียบกับการท่องเที่ยวโลกโดยใช้ Latent Growth Model ยืนยันว่า การท่องเที่ยวโลกถูกขับเคลื่อนจากความพร้อมด้านซัพพลายของประเทศพัฒนาก่อนแล้วดีมานด์ด้านการท่องเที่ยวจึงตามมาหรือมีลักษณะเป็น Supply Pull ในขณะที่การท่องเที่ยวไทยมีลักษณะเป็น Demand Push คือ ปล่อยให้ความต้องการของนักท่องเที่ยวนำไปก่อนแล้วการสร้างซัพพลายจึงตามมา
วิธีการนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องลงทุนไปก่อน แต่ข้อเสียคือหากสาธารณูปโภคมาไม่ทันการณ์ สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรม ผลก็คือจะเกิดปัญหาการท่องเที่ยวล้นเกินขีดความสามารถในการรองรับ ซึ่งสะท้อนจากดัชนีด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพและอนามัยของประเทศไทยที่อยู่ในลำดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ข้อมูลข้างบนนี้ยืนยันว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศแนวหน้าด้านการท่องเที่ยวระดับสากล สามารถสร้างรายได้เป็นลำดับต้น ของโลกแล้วก็จริง แต่โครงสร้างการผลิตสินค้าและบริการท่องเที่ยวของไทยกลับเป็นโครงสร้างของประเทศด้อยพัฒนาที่อาศัยทรัพยากรพื้นฐานทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม โดยปราศจากการต่อยอดสร้างสรรค์ในระดับเดียวกับประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยวระดับสากล
เช่น สหราชอาณาจักร ซึ่งลงทุนกับศิลปวัฒนธรรมก่อนอื่นใดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกลายรากฐานอันสำคัญของการท่องเที่ยววัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ที่กอบโกยรายได้ท่องเที่ยวอย่างเป็นกอบเป็นกำมาจนถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวแห่ไปเข้าแถวยาวเป็นกิโลเมตรเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันที่นิวยอร์ค และบริติชมิวเซียม ไปชมภาพเขียน National ไป Art Gallery ไปชมละครเพลง ไปทานอาหารฝรั่งเศสหรูๆ แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย มานอนชายหาด มากินอาหารทะเลเผา ราคาแพงก็จริง แต่มูลค่าเพิ่มต่ำ ห่วงโซ่การผลิตสั้น หมายความว่าเราขายธรรมชาติที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด (ซึ่งเป็นเรื่องดีสำหรับนักท่องเที่ยว) แต่ขาดกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม
ห่วงโซ่การผลิตสั้นก็คือมีคนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตน้อย แต่ถ้าเราขายอาหารไทยในบรรยากาศพระราชวังในสมัยพระนารายณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเสมือน (Virtual technology) มาช่วยก่อให้เกิดบรรยากาศย้อนยุคแบบขลังกึ่งมีพลังศักดิ์สิทธิ์ และมีการแสดงแบบย้อนยุค ราคาอาหารก็จะเพิ่มเป็นหลักหมื่น
ที่ผ่านมา รายได้ท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยังจูงใจให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซื้อและขายบริการ และเก็บเกี่ยวเงินสดไว้ก่อนโดยไม่ได้พัฒนาสินค้าและบริการให้มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์และซับซ้อนมากขึ้นตามกาลเวลา มุ่งหน้าขายสินค้าและบริการแบบเดิมๆ เหมือนๆ กัน เช่น วัง วัด หรือตลาดน้ำ ไม่ได้เชื่อมโยงสาขาการผลิตอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์ และห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงกับตลาดก็อาศัยแค่การมาเยือน ไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าซื้อต่อเนื่องได้
ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยมาดูมวยไทย กลับไปติดตามรายการ reality นักมวยไทย ซื้อคอร์สมวยไทยผ่านแพลตฟอร์ม ซื้อน้ำมันมวย ต้องสร้างให้นักท่องเที่ยวเป็นแฟนมวยไทยเช่นเดียวกับกับที่คนไทยเป็นแฟนฟุตบอลลีกต่างประเทศ
งานวิจัยซึ่งมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ศึกษาโครงการอนาคตประเทศไทยมีข้อค้นพบที่ชัดเจนว่า การท่องเที่ยวไทยในโลกยุคใหม่ที่หลุดพ้นวิถีโลกอุตสาหกรรม (Post industry) ไม่อาจพึ่งทรัพยากรที่เป็นมรดกจากบรรพบุรุษแต่อย่างเดียวอย่างที่เคยเป็นมา แต่ต้องอาศัยความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นระบบนิเวศเสมือนควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบนิเวศและเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวไทยจะสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ได้ก็ต่อเมื่อการท่องเที่ยวไทยพัฒนาอยู่บนฐานความรู้และนวัตกรรมเช่นเดียวกับอุตสาหกรรม 4.0
ถึงเวลาที่การท่องเที่ยวไทยจะต้องปรับวิสัยทัศน์ใหม่และจะต้องคิดการใหญ่กว่าซื้อขายสินค้าบริการด้านท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมไปวันต่อวัน สำหรับการท่องเที่ยวในอนาคตการลงทุนที่รัฐจะต้องคิดถึงก็คือการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยเป็น “อกาลิโก” คือขายได้ทุกเวลาและสามารถต่อยอดและเชื่อมโยงเป็นเศรษฐกิจท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ที่แท้จริง
ดังนั้น การส่งเสริมและยกระดับเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัล มีความสำคัญเป็นอันดับแรกหลังโควิด-19 เพราะกว่าจะเห็นผลก็จะใช้เวลาระยะหนึ่ง จึงควรพัฒนาระบบโครงสร้างและโครงข่ายโทรคมนาคมให้ทั่วถึง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล นับตั้งแต่แพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลไปจนถึงการสร้างขีดความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านการท่องเที่ยวของไทย
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีควรเข้ามาเป็นส่วนประกอบของการท่องเที่ยวในทุกขั้นตอน ตั้งแต่วีซ่าออนไลน์ เทคโนโลยีไร้สัมผัส เทคโนโลยีไบโอแมทริกซ์ในขั้นตอนการเข้าเมือง เทคโนโลยีการลดการใช้แรงงานที่ไม่มีทักษะโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว
ปรับโฉมการท่องเที่ยวไทยจากสาวใสซื่อเป็นสาวยุคใหม่ไฉไลกว่าเดิม!