ทางเลือกของการลงทุนหลังการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก
หนึ่งในประเด็นที่มีการสื่อสารและพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในสัปดาห์ที่ผ่านมาในแวดวงการเงินการลงทุน
ได้แก่ เรื่องของการปรับลดการคุ้มครองเงินฝากธนาคารพาณิชย์ (ไม่นับรวมธนาคารภาครัฐฯ) ลงจาก 5 เหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ซึ่งจะเริ่มวันที่ 11 ส.ค.นี้ ซึ่งก็นับได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีการประกาศล่วงหน้ามานานแล้วและเป็นแผนต่อเนื่อง โดยจากฐานข้อมูลในปัจจุบันจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังยืนยันให้เห็นว่าผู้ออมกว่าร้อยละ 98.5 ยังคงได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน เนื่องจากผู้ฝากเงินที่มีเงินในบัญชีเกิน 1 ล้านบาทมีประมาณ 1.7 ล้านบัญชีหรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.5 ของบัญชีธนาคารทั้งหมดโดยประมาณ
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากเท่าใดกับแวดวงธนาคารและการลงทุน เนื่องจากในปัจจุบันแม้จะอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาปีกว่าๆ แต่ฐานะของธนาคารพาณิชย์ก็ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งสะท้อนจากเงินกองทุนต่างๆ และไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ฝากเงินแต่อย่างใด และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาลูกค้าของธนาคารก็เริ่มมีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ มากพอสมควรแล้ว
อย่างไรก็ตาม จังหวะนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทบทวนทางเลือกในการลงทุนกัน สำหรับท่านที่ยังมีเงินฝากส่วนเกินอยู่ในบัญชี หรืออาจจะใช้จังหวะนี้ในการปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมเพิ่มเติมก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยทางเลือกแรกคือการเริ่มขยับขยายไปลงทุนในกลุ่มหุ้นกู้เอกชน หรือ ที่เราชอบเรียกกันว่า Credit Market ซึ่งมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยความเสี่ยงหลักๆ คือ เรื่องของโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร (Default Risk) ซึ่งสะท้อนจากอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกหลักๆ สองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม Investment Grade (AAA ถึง BBB-) และกลุ่ม High Yield (BB+ และต่ำกว่า) และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ซึ่งแน่นอนว่าหากความเสี่ยงสูงขึ้น ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยก็ต้องสูงขึ้นตาม ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการแพร่ระบาด ก็อาจทำให้ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ ซึ่งทางเลือกในการลงทุนนี้ยังคงจำเป็นต้องมีการกระจายความเสี่ยงในเรื่องของอุตสาหกรรม และอายุของตราสาร แต่ก็นับว่าเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจในระดับหนึ่ง
ขยับกันขึ้นไปหนึ่งระดับกับการลงทุนในตราสารทุนภายในประเทศหรือว่าหุ้นไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ปรับตัวลดลงสะท้อนถึงความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อก็อาจจะยังคงมีความเสี่ยง แต่ในระยะยาวการลงทุนในตราสารทุนก็ยังคงเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนดีและควรมีติดพอร์ตฟอลิโอไว้บางส่วน โดยในปัจจุบันการลงทุนในตราสารทุนก็ยังมีทางเลือกให้ลงทุนหลากหลาย หากเรามองว่าตลาดยังคงมีความเสี่ยงขาลง เราอาจจะพิจารณาลงทุนในลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) ที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงและมีรูปแบบให้เลือกหลากหลายได้เช่นกัน
ขยับกันขึ้นไปอีกระดับคือกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่ยังคงสามารถให้ผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ผ่านมา แต่มองไปข้างหน้าผลตอบแทนอาจจะลดลงบางส่วนจากแนวโน้มการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตร (Yield) ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนำโดยสหรัฐฯ จากปัจจัยพื้นฐานและเงินเฟ้อที่ยังสูง แต่ก็ยังมีกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มหุ้นกู้เอกชนของประเทศที่กำลังพัฒนาเนื่องจากให้ดอกเบี้ยที่น่าสนใจ เช่น ตลาดตราสารหนี้ของจีน แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามความเสี่ยง เช่น ประเด็นเรื่องของโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande และ Huarong Asset Management โดยอาจจะเน้นการลงทุนที่หลีกเลี่ยงในกลุ่มดังกล่าวเป็นต้น โดยการลงทุนในกลุ่มนี้ความเสี่ยงที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผลตอบแทน แต่เราก็สามารถลดทอนในส่วนนี้ได้ โดยการเลือกลงทุนในกลุ่มที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในส่วนของตราสารทุนต่างประเทศ ทางเลือกในการลงทุนยิ่งหลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มกองทุนไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในดัชนีแบบ Passive ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมถูกหน่อย หรือแบบ Active ซึ่งมีการเลือกตราสารที่จะลงทุนให้เราโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าธรรมเนียมที่แพงกว่า หรืออาจจะเป็นกองทุนในลักษณะ Thematic Fund ลงทุนตามอุตสาหกรรมซึ่งก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะของอุตสาหกรรม ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับว่าในช่วงสองสามปีหลังมานี้ ตลาดหุ้นต่างประเทศให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดหุ้นในไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตเร็ว และยังคงมีแนวโน้มเป็นลักษณะดังกล่าวจากเรื่องของวัฏจักรเศรษฐกิจและนโยบายการเงินการคลัง แต่ภาพรวมก็ยังคงต้องกระจายการลงทุนให้เหมาะสมเพราะเศรษฐกิจโลกในช่วงต่อไปอาจจะชะลอตัวลง และต้องรอดูผลกระทบจากการลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นในช่วงสิ้นปีต่อไป
สุดท้ายนี้จะจัดพอร์ตไปยังกลุ่มไหน ตราสารใด ก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้ ผลตอบแทนที่มากขึ้นก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และเราอาจจะไม่ได้มองเรื่องของการลดการคุ้มครองเงินฝากเป็นตัวกระตุ้นเพียงอย่างเดียว แต่การลงทุนนั้นจำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เหมาะสมและสอดคล้องกับความเสี่ยงที่รับได้ โดยหากเราไม่ลงทุนในสิ่งใดเลยหรือเน้นแต่ฝากเงินเพื่อเอาสภาพคล่อง ค่าเงินของเราก็จะด้อยค่าลงจากเรื่องของเงินเฟ้อนั่นเองครับ .......